เนื้อวากิวจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

เนื้อวากิวจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

โดยฝีมือของทีมนักวิจัยจาก Osaka University ประเทศญี่ปุ่น ไขมันแทรกสวยงามเป็นลายหินอ่อน รสชาตินุ่มละมุนตามแบบฉบับ ไม่ต่างจากแบบดั้งเดิม

เนื้อวากิว จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เกิดขึ้นจริงแล้วโดยฝีมือของทีมนักวิจัยจาก Osaka University ประเทศญี่ปุ่น ไขมันแทรกสวยงามเป็นลายหินอ่อน รสชาตินุ่มละมุนตามแบบฉบับ ไม่ต่างจากแบบดั้งเดิม

นักวิทยาศาสตร์จาก Osaka University ในประเทศญี่ปุ่นค้นพบวิธีการผลิตเนื้อวากิวจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติในห้องแล็บสำเร็จเป็นครั้งแรก และที่สำคัญหน้าตาและคุณภาพก็ออกมาใกล้เคียงกับต้นฉบับ พูดได้ว่านี่คือก้าวแรกของการนำเทคโนโลยีไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นทดแทนการทำปศุสัตว์ที่เป็นที่มาของก๊าซเรือนกระจกมหาศาล

การผลิต เนื้อวากิว จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ใช้เทคนิค 3D Bioprinting จัดเรียงกล้ามเนื้อ เส้นเลือด และชั้นไขมันขึ้นมาเป็นเนื้อวากิวในรูปแบบเนื้อหั่นสเต็ก โดยมีจุดตั้งต้นมาจากสเต็มเซลล์ของวัวสายพันธุ์วากิว ด้วยเทคนิคนี้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถจัดเรียงเนื้อให้มีไขมันแทรกเป็นลายหินอ่อนตามแบบฉบับของ เนื้อวากิว ได้อย่างอิสระ

“เมื่อเทคโนโลยีนี้ก้าวหน้าขึ้น อาจมีความเป็นไปได้ที่จะปรับแต่งสัดส่วนของไขมันและกล้ามเนื้อได้อย่างละเอียด ลูกค้าอาจสามารถสั่งเนื้อได้โดยระบุปริมาณไขมันที่พวกเขาต้องการตามรสนิยมและเงื่อนไขด้านสุขภาพ” Michiya Matsusaki หนึ่งในนักวิจัยของโครงการเผยถึงความเป็นไปได้ในอนาคต

ทีมนักวิจัยเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวอาจเป็นก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่สู่อนาคตที่ยั่งยืน เพราะเนื้อจากห้องแล็บจะช่วยลดปัญหาการทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลในปศุสัตว์ ไปจนถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำปศุสัตว์และปลูกอาหารสำหรับสัตว์

ข่าวดีก็คือ การศึกษาในเรื่องนี้เริ่มเป็นที่สนใจ ก่อนหน้าที่จะมีการผลิตเนื้อวากิวจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติชิ้นแรก ก็มีการผลิตเนื้อวัวจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาก่อน ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทีมวิจัยจาก Aleph Farm และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์จาก Technion Israel Institute of Technology สามารถผลิตริบอายสเต็กจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้เป็นครั้งแรกของโลก