คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2565-2567

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2565-2567

อีกหนึ่งบทบาทที่ต้องจารึกไว้ของประวัติศาสตร์ชาวการพิมพ์ไทย

กว่า 20 ปี ของการทุ่มเทให้กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 22 เมษายน 2565 คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ได้รับความไว้วางใจจากกรรมการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศ เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2565-2567

“สมาคมการพิมพ์ไทย” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 ถือว่าเป็นหนึ่งในหลาย ๆ สมาคมที่เก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์ โดยมีจุดประสงค์ คือ การสร้างความสามัคคี การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรักษาผลประโยชน์ให้กับสมาชิกในอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ถือเป็นบุคคลอันทรงคุณค่าของสมาคมการพิมพ์ไทยที่อุทิศตนทำงานเพื่อสมาคมการพิมพ์ไทยและอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยมากว่า 20 ปี และในปี พ.ศ. 2544 คุณเกรียงไกรได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมการพิมพ์ไทยวาระแรก โดยเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์สมาคมการพิมพ์ไทย ที่นายกสมาคมฯ ได้รับคะแนนเลือกตั้งจากสมาชิกเป็นเอกฉันท์ 100% และยังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมต่อไปอีก 2 วาระ โดยตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่อยู่ในตำแหน่งนายกสมาคมฯ คุณเกรียงไกรได้นำทีมคณะกรรมการบริหาร ผลักดันโครงการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้สมาคมการพิมพ์ไทยเป็นที่ยอมรับทั้งจากสมาชิกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ สามารถจุดประกายให้ทางภาครัฐบาล ให้ความสนใจที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมการพิมพ์อย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมการพิมพ์ไทย คุณเกรียงไกรได้คิดริเริ่มสร้างสรรโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ และสร้างความเป็นปึกแผ่นและสามัคคีให้กับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย ซึ่งทางทีมงานวารสารได้รวบรวมผลงานที่ผ่านมาของคุณเกรียงไกรมาให้ท่านสมาชิกได้อ่านกันดังนี้ค่ะ

วาง “ยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ” โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการพิมพ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นวาระแรกของการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการพิมพ์ไทย คุณเกรียงไกรได้มีโอกาสเข้าไปนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ ให้กับท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พร้อมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการพิมพ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และสามารถส่งออกสิ่งพิมพ์ได้ 30,000 ล้านบาทต่อปี ภารกิจต่อไปคือ การนำเป้าหมายหลักนี้ ไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการพิมพ์อย่างแข็งแรงและยั่งยืน ดังนั้น การระดมกำลังสมองในการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมจึงเป็นไปอย่างจริงจัง ซึ่งได้ก่อให้เกิดแนวทางและกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยมีขีดความสามารถทัดเทียมกับอารยประเทศ ผลักดันให้ภาครัฐลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ได้สำเร็จ สำหรับเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ กระดาษ และวัตถุดิบต่างๆ มากกว่า 100 รายการ อันส่งผลไปสู่การขยายตัวของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศของผู้ประกอบการโรงพิมพ์ไทย

โครงการการพิมพ์ไทยสัญจร

“โครงการการพิมพ์ไทยสัญจร” เป็นโครงการที่สมาคมการพิมพ์ไทยได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนปัจจุบัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ทั่วประเทศ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ทุกภาค โดยสมาคมฯ จัดการสัมมนา พร้อมทั้งได้ร่วมกับบรรดา Suppliers ทั้งหลายนำเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ เดินทางไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ทั่วประเทศ เป็นการตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐในด้านการขยายเครือข่ายความรู้ (Knowledge-based Society) และการสนับสนุนสินค้า OTOP ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติในขณะนั้น ด้วยการออกแบบและใช้สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างมูลค่าและการตลาด

การจัดทำบ้านกระดาษทรงไทยใหญ่ที่สุดในโลก

ในปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน APEC Investment Mart 2003 ณ ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี ซึ่งสมาคมการพิมพ์ไทย ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานนี้ด้วย คุณเกรียงไกรเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้เวทีนี้เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยว่าเราไม่เป็นรองประเทศใดในโลก เพราะจะมีผู้นำของประเทศสมาชิกเอเปคทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้ติดตามที่เดินทางมาร่วมประชุมจำนวนมากจะได้มีโอกาสมาเยี่ยมชม จึงได้เป็นที่มาของไอเดีย “บ้านกระดาษทรงไทยที่สร้างจากกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในโลก” บนพื้นที่ 400 ตารางเมตร ภายใต้ระยะเวลาเตรียมงาน 50 วัน นับเป็นเรื่องท้าทายมาก แต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม บ้านกระดาษทรงไทย ซึ่งเป็นบ้านกลุ่มทรงไทยจำนวน 5 หลังสร้างด้วยกระดาษใหญ่ที่สุดในโลก ใช้กระดาษล้วนไม่ใช้วัสดุอื่นใดเลย สามารถมีคนขึ้นไปอยู่ถึง 811 คน จนได้รับการบันทึกสถิติใน Guinness World Records อีกด้วย นับเป็นการตอกย้ำถึงภาพลักษณ์และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ต้องการซื้อสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ทั้งโลก ต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย

การดูแลข้อร้องเรียนจากสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อน

เมื่อมีการร้องเรียนมาจากสมาชิกของสมาคม คุณเกรียงไกรจะเข้าไปแก้ปัญหาอย่างจริงจังและตรงจุด อาทิเช่น การส่งช่างไฟฟ้าไปช่วยโรงพิมพ์ทางเหนือที่ประสบอุทกภัย การแก้ปัญหาที่เกิดจากการอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ฟอนต์ที่ใช้ในงานพิมพ์ ปัญหาการกักตุนกระดาษ หรือการแก้พิกัดภาษีนำเข้ากระดาษ เป็นต้น

การจัดงานนิทรรศการงานพิมพ์ Pack-Print International (PPI)

Pack-Print International (PPI) เป็นนิทรรศการการพิมพ์ระดับภูมิภาคเอเซีย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมการพิมพ์ไทย สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และ Messe Dusseldorf โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2550 และจัดอย่างต่อเนื่อง ทุก ๆ 2 ปี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยสู่สากล พร้อมเสริมศักยภาพไทยสู่ศูนย์กลางการจัดงานระดับโลก

ได้รับคัดเลือกให้เป็นอุตสาหกรรมต้นแบบ หรือ Role Model

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งงบประมาณเพื่อให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมไทย ผ่านทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพประเทศไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจด้วยความเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดได้ทัดเทียมกับนานาประเทศได้ จากการที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตให้เศรษฐกิจของประเทศไทย และสามารถส่งออกเพื่อนำเงินเข้าประเทศได้ จึงจัดสรรงบประมาณ 80 ล้านบาท ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณดังกล่าว อันเป็นที่มาของโครงการต้นแบบ หรือ Role Model 5 โครงการ ได้แก่

1. โครงการจับคู่ธุรกิจการพิมพ์ (Business Matching) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงการเกิดธุรกรรมทางด้านสิ่งพิมพ์ ซึ่งได้ดำเนินการโครงการโดยใช้พื้นที่ 240 ตารางเมตรในงานนิทรรศการ Pack Print International (PPI) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-29 เมษายน 2550 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมีผู้ร่วมออกบูธเพื่อเข้าร่วมในกิจกรรม Business Matching จำนวน 52 บริษัท ได้นำตัวอย่างผลงานทั้งสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มาแสดงในงานกันอย่างมากมายและหลากหลายชนิด อีกทั้งยังมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับให้เจรจาธุรกิจ และมีบริการ Internet เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ

2. การจัดงานประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ (Thai Print Awards) งานประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติครั้งแรกถูกจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย กระตุ้นให้ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ได้มีการพัฒนาคุณภาพของงานพิมพ์อย่างต่อเนื่องทั้งระบบ โดยผลงานที่ชนะการประกวด Thai Print Awards จะถูกส่งต่อไปยังงาน Asian Print Awards เพื่อสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ในระดับสากลได้อย่างทัดเทียม

3. โครงการการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะการพิมพ์ (Thai Print Incubators) เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเดิม ได้มีการพัฒนาทักษะในการบริหารงานอย่างมีระบบและเพิ่มความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคต่าง ๆ และเพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ ให้มีความรู้ ทักษะ ชำนาญงานอย่างมีมาตรฐานและดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา 2 สถาบัน คือคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สอนหลักสูตรทางด้านบริหารจัดการ และการตลาด) และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (สอนหลักสูตรทางด้านการพิมพ์) โดยมีผู้เข้ารับการบ่มเพาะจำนวน 11 บริษัท

4. โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาและโรงเรียนสร้างช่างพิมพ์ (Thai Print Academy) หรือสถาบันการพิมพ์ไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ได้มีการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของโรงพิมพ์ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ บุคลากร ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร โดยเน้นหลักสูตรให้นักศึกษามีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและสามารถพิมพ์งานได้จริง โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับ RMIT ประเทศออสเตรเลีย ในวันที่มีการจัดมอบวุฒิบัตรให้กับนักศึกษา จะได้จัดให้มีตลาดนัดแรงงานเพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบสามารถสมัครเข้าทำงานกับสถานประกอบการที่ต้องการได้ทันที

5. โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานวัสดุและอุปกรณ์การพิมพ์และศูนย์การวิจัยพัฒนา (Thai Print Lab) ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน นอกจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดแล้ว ยังต้องพบกับข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier-NTB) ทำให้หลาย ๆ ประเทศในโลก ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศได้ ทั้งที่สินค้าของประเทศนั้นมีคุณภาพตามความต้องการซึ่งไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการพิมพ์เองก็ต้องเจอกับปัญหานี้ ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานวัสดุและอุปกรณ์การพิมพ์และศูนย์การวิจัยพัฒนา จะเป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิด Product Innovation และสามารถแก้ปัญหาในเรื่องของ NTB ได้ เพราะวัสดุทุกอย่างที่ใช้ในกระบวนการผลิตได้รับการทดสอบแล้วว่าได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศเท่ากับเป็นการช่วยผู้ประกอบการพิมพ์ทั้งรายใหญ่และ SME ในประเทศ

เส้นทางสู่ตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการพิมพ์ไทย คุณเกรียงไกรยังคงทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยได้เข้าไปร่วมงานที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และได้รับตำแหน่งที่มีความสำคัญในหลายภาคส่วน เช่น ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ รองเลขาธิการฯ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับผิดชอบสายงานการค้าการลงทุน ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ประธานคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ไต้หวัน และตำแหน่งล่าสุด คือ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2 สมัย 4 ปี รับผิดชอบสายงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม ดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม หลังจากที่คุณเกรียงไกรได้พิสูจน์ความทุ่มเท ความตั้งใจ และผลงานต่างๆ ให้กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี และในวันที่ 22 เมษายน 2565 คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ได้รับความไว้วางใจจากกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศ เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2565-2

พวกเราชาวการพิมพ์ไทย ขอแสดงความยินดีกับ คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล สำหรับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ และขอส่งกำลังใจไปยังคุณเกรียงไกร ที่นับแต่นี้ไป ท่านจะไม่เป็นเพียงแค่ผู้นำองค์กรภาคอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆของประเทศ ในการสร้างยุทธศาสตร์เปลี่ยนผ่านให้เกิดความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถไปแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างสง่างามและยั่งยืนตลอดไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า