เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก (2)

เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก (2)

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ในการพิมพ์ฉลากสามารถนำเทคโนโลยีการพิมพ์หลายระบบมาใช้ในการผลิตด้ โดยการเลือกเทคโนโลยีการพิมพ์ให้เหมาะสมกับการพิมพ์ฉลาก จะมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ลักษณะของภาพพิมพ์ จำนวนในการพิมพ์ การทำลักษณะพิเศษ เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทราบถึงหลักการและข้อจำกัดของเทคโนโลยีการพิมพ์แต่ละระบบ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ได้อย่างเหมาะสมในการพิมพ์ฉลาก โดยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ฉลากจะประกอบด้วย

  1. เทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี
  2. เทคโนโลยีการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์
  3. เทคโนโลยีการพิมพ์กราวัวร์
  4. เทคโนโลยีการพิมพ์สกรีน
  5. เทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซต

เนื่องจากเทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซตได้มีการอธิบายไปแล้วในตอนที่ผ่านมา จึงขออธิบายเทคโนโลยีการพิมพ์ในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

1. เทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี

เทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่นิยมนำมาใช้ในการพิมพ์บรรจุภัณฑ์แบบยืดหยุ่น (Flexible packaging) และการผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องลูกฟูก (corrugated box) รวมถึงการใช้ในการผลิตฉลากบรรจุภัณฑ์ เป็นระบบการพิมพ์ที่ถ่ายทอดภาพพิมพ์โดยตรงลงสู่วัสดุใช้พิมพ์

แม่พิมพ์ที่ใช้ในเทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี จะเป็นแม่พิมพ์พื้นนูนที่มีบริเวณภาพอยู่สูงกว่าบริเวณไร้ภาพ แม่พิมพ์จะทำจากพอลิเมอร์ ซึ่งจะมีความหนาที่แตกต่างกันไปในการใช้งาน แม่พิมพ์ที่ใช้สำหรับการพิมพ์กล่องลูกฟูกจะมีความหนาประมาณ 3.0 มิลลิเมตร แต่แม่พิมพ์ที่ใช้สำหรับการพิมพ์ฉลาก จะเป็นเทคโนโลยีแม่พิมพ์บาง จะมีความหนาประมาณ 1.14 มิลลิเมตร ลักษณะของแม่พิมพ์จะแสดงในรูปที่ 1

จากเทคโนโลยีการทำแม่พิมพ์เฟล็กโซกราฟีในปัจจุบัน ทำให้แม่พิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์มีคุณภาพที่สูงขึ้น แม่พิมพ์สามารถเก็บรายละเอียดในการพิมพ์ได้มากขึ้น ตัวอักษณที่สามารถพิมพ์ได้มีขนาดที่เล็กลง โดยคุณภาพของแม่พิมพ์จะสามารถสังเกตได้จากความละเอียดในการผลิตงานพิมพ์ แต่เดิมการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี จะสามารถผลิตงานพิมพ์ที่ความละเอียดสกรีนของภาพพิมพ์ไม่เกิน 100 เส้นต่อนิ้ว แต่ปัจจุบันสามารถผลิตงานพิมพ์ที่มีความละเอียดสกรีนของภาพพิมพ์ได้ถึง 175 เส้นต่อนิ้ว ซึ่งเป็นความละเอียดสกรีนที่เหมาะสำหรับการพิมพ์บรรจุภัณฑ์อ่อน และการพิมพ์ฉลากคุณภาพสูง

เทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี จะมีหลักการถ่ายทอดภาพจากแม่พิมพ์ลงสู่วัสดุใช้พิมพ์ โดยใช้ลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์ (anilox roll) ทำหน้าที่เป็นลูกกลิ้งจ่ายหมึกให้กับแม่พิมพ์ หลังจากนั้นแม่พิมพ์จะถ่ายทอดภาพลงสู่วัสดุใช้พิมพ์ ดังแสดงในรูปที่ 2 ลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์นี้จะทำจากเซรามิคที่ประกอบด้วยบ่อหมึกขนาดเล็กจำนวนมาก ทำหน้าที่ในการพาหมึกพิมพ์ไปถ่ายทอดให้กับแม่พิมพ์ ขนาดของบ่อหมึกจะถูกกำหนดด้วยความละเอียดของลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์ที่แตกต่างกันตามลักษณะของภาพพิมพ์ ความละเอียดของลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์จะถูกกำหนดเป็นจำนวนเส้นต่อนิ้ว เช่น 175 เส้นต่อนิ้ว (line per inch, lpi) สำหรับการเลือกใช้ความละเอียดของลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์ จะพิจารณาจากลักษณะของภาพพิมพ์ เช่น หากต้องการพิมพ์ภาพพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นสีพื้น ควรเลือกใช้ความละเอียดของลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์ที่มีความละเอียดต่ำ ประมาณ 60 – 100 เส้นต่อนิ้ว บ่อหมึกจะมีขนาดใหญ่ และทำให้ถ่ายทอดหมึกพิมพ์ได้มาก เหมาะกับงานพิมพ์ที่ต้องการปริมาณหมึกมาก และถ้าต้องการพิมพ์ภาพพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นภาพสกรีน หรือภาพฮาล์ฟโทน ควรเลือกใช้ความละเอียดของลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์ที่มีความละเอียดสูง ประมาณ 120 – 175 เส้นต่อนิ้ว เป็นต้น บ่อหมึกจะมีขนาดเล็กและเหมาะกับการพิมพ์ภาพพิมพ์สกรีนที่เม็ดสกรีนมีขนาดแตกต่างกัน

หมึกพิมพ์ที่ใช้ในเทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี จะเป็นหมึกพิมพ์เหลว มีความหนืดต่ำ (low viscosity) ทำให้หมึกพิมพ์สามารถไหลไปยังบ่อหมึกในลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์ได้ดี โดยหมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟี จะสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ หมึกพิมพ์ฐานน้ำ หมึกพิมพ์ฐานตัวทำละลาย และหมึกพิมพ์ที่แห้งตัวด้วยแสงยูวี หมึกพิมพ์ทั้ง 3 ประเภท จะมีการใช้ในการพิมพ์งานบนวัสดุที่แตกต่างกันไป เช่น หมึกพิมพ์ฐานน้ำ สามารถใช้ในการพิมพ์ลงบนวัสดุประเภทกระดาษทั่วไป กระดาษลูกฟูก เป็นต้น หมึกพิมพ์ฐานตัวทำละลายและหมึกพิมพ์ที่แห้งตัวด้วยแสงยูวี ใช้ในการพิมพ์ลงบนพลาสติกที่แตกต่างกันไป สำหรับงานพิมพ์ซองบรรจุภัณฑ์และงานพิมพ์ฉลาก เป็นต้น

ลักษณะของภาพพิมพ์ที่ได้จากเทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี หากพิจารณาจากตัวอักษร หรือเม็ดสกรีนที่พิมพ์บนวัสดุใช้พิมพ์ จะสามารถสังเกตุบริเวณขอบของตัวอักษร หรือเม็ดสกรีน ที่เข้มกว่าพื้นที่ด้านใน ดังแสดงในรูปที่ 3

เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์เฟล็กโซกราฟี จะสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของการป้อนวัสดุใช้พิมพ์ คือ เครื่องพิมพ์เฟล็กโซกราฟีแบบป้อนแผ่น และเครื่องพิมพ์เฟล็กโซกราฟีแบบป้อนม้วน โดยเครื่องพิมพ์เฟล็กโซกราฟีแบบป้อนแผ่นจะมีการจัดวางตำแหน่งของส่วนพิมพ์เป็นแบบแนวนอน ดังแสดงในรูปที่ 4 โดยนิยมใช้ในการพิมพ์บนแผ่นกระดาษลูกฟูก โดยเครื่องพิมพ์จะมีตั้งแต่ 1 สี จนถึง 6 สี แล้วแต่การเลือกใช้ในการผลิตงาน


เครื่องพิมพ์เฟล็กโซกราฟีแบบป้อนม้วน จะสามารถจัดวางรูปแบบของส่วนพิมพ์ได้ทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน คือ แบบแนวนอน แบบซ้อนตั้ง และแบบโมกดพิมพ์ร่วม ดังแสดงในรูปที่ 5 เครื่องพิมพ์แบบป้อนม้วนจะนิยมใช้ในการพิมพ์บรรจุภัณฑ์แบบยืดหยุ่น (Flexible packaging) โดยงานพิมพ์ที่ได้จากการผลิต จะมีการนำไปเคลือบฟิล์มอีกชั้นสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารแต่ละประเภท และมีการขึ้นรูปซองแบบต่าง ๆ เช่น ซองแบบก้นตั้ง ซองซีลกลาง หรือซองตัดตามรูป เป็นต้น

สำหรับการพิมพ์ฉลากด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี จะนิยมใช้เครื่องพิมพ์แบบป้อนม้วน ที่มีส่วนพิมพ์เป็นแบบแนวนอน โดยเครื่องพิมพ์ที่ใช้จะเป็นเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ลงบนวัสดุใช้พิมพ์ที่มีขนาดหน้ากว้างของม้วนพิมพ์ประมาณ 15 – 17 นิ้ว หรือที่นิยมเรียกว่า เครื่องพิมพ์ป้อนม้วนแบบหน้าแคบ (Narrow web printing press) ดังแสดงในรูปที่ 6 เครื่องพิมพ์ประเภทนี้จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสิ่งพิมพ์ประเภทฉลากได้อย่างสมบูรณ์ อาทิเช่น มีการอุปกรณ์ปั้มเงิน – ทอง อุปกรณ์กลับกระดาษ (turn bar) เพื่อพิมพ์ด้านหน้าและหลังของฉลากได้ใน 1 เที่ยวพิมพ์ อุปกรณ์ปั้มตัด (die-cut) เป็นต้น อุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถทำให้ฉลากที่ผลิต สามารถส่งให้ลูกค้านำไปติดตั้งบนบรรจุภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์ และทำให้สามารถผลิตงานที่มีลักษณะพิเศษต่าง ๆ ได้ทั้งหมดใน 1 เที่ยวพิมพ์

โดยสรุป เทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์พื้นนูนที่นิยมใช้ในการพิมพ์บรรจุภัณฑ์แบบยืดหยุ่น (flexible packaging) และกระดาษลูกฟูก จากเทคโนโลยีการทำแม่พิมพ์และเครื่องพิมพ์ในปัจจุบัน ทำให้มีการพัฒนาคุณภาพของแม่พิมพ์และเครื่องพิมพ์ ทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟีสามารถผลิตงานพิมพ์ได้มีคุณภาพสูงมากขึ้น และได้มีการพัฒนาเครื่องพิมพ์ให้มีขนาดเล็ก มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อทำลักษณะพิเศษ ทำให้งานพิมพ์ที่ได้มีคุณภาพสูงและความเหมาะสมในการนำมาใช้ในการผลิตฉลาก สำหรับเทคโนโลยีหมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟี ได้มีการพัฒนาหมึกพิมพ์ UV และ LED UV ทำให้สามารถพิมพ์ลงบนพลาสติกได้หลายประเภทมากขึ้น ทำให้เป็นทางเลือกในการผลิตฉลากในอนาคต