ธนบัตรพอลิเมอร์ 20 บาท วัสดุใหม่เพื่อความยั่งยืน

ธนบัตรพอลิเมอร์ 20 บาท วัสดุใหม่เพื่อความยั่งยืน

วัสดุพื้นผิวเรียบสะอาด ทนทานต่อความชื้น ไม่ดูดซับสิ่งสกปรก และทำความสะอาดได้ง่าย ช่วยยืดอายุการใช้งานของธนบัตร และยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ถ้าจะพูดถึงเงินธนบัตรในความคิดคนทั่ว ๆ ไป คนไทยส่วนใหญ่ย่อมจะนึกถึงธนบัตรที่ผลิตมาจากกระดาษ เพราะมีความคุ้นเคยกับวัสดุแบบนี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่เล็กจนโต แต่รู้หรือไม่ว่า ธนบัตรที่เราใช้หมุนเวียนกันอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะชนิดราคาต่ำ มีอายุการใช้งานเฉลี่ยเพียง 2 – 3 ปี ก็จะเก่าชำรุดตามสภาพการใช้งาน และถูกนำกลับมาทำลายเพื่อผลิตธนบัตรใหม่ต่อไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตธนบัตร รวมถึงการบริหารจัดการให้มีธนบัตรเพียงพอต่อการใช้งานของคนในประเทศ เล็งเห็นว่าการเลือกใช้วัสดุอื่นที่ทนทานกว่าจะสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของธนบัตร และยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดในกระบวนการผลิตธนบัตรทดแทน การขนส่งและกระจายธนบัตร รวมทั้งการทำลายธนบัตรที่เสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งานได้อีกด้วย

แม้ว่าธนบัตรกระดาษที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบันจะผลิตด้วยกระดาษที่ทำจากใยฝ้ายจะมีคุณสมบัติทนทานเหนียวแกร่ง พร้อมทั้งมีการเคลือบผิวเพื่อให้ทนทาน แต่สำหรับธนบัตรที่ประชาชนใช้จ่ายมากที่สุด มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือบ่อยมากอย่างธนบัตรชนิดราคา 20 บาท มักจะถูกหมุนเวียนอยู่ในระบบจนมีสภาพเก่ามากกว่าธนบัตรชนิดราคาอื่น ดังนั้น ธปท. จึงได้ศึกษาแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการเปลี่ยนวัสดุการพิมพ์จากกระดาษเป็นวัสดุอื่นที่ทนทานกว่า เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ธนบัตรที่มีสภาพสะอาดและใช้งานได้นานขึ้น เป็นที่มาของการเปลี่ยนวัสดุการพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท จาก “กระดาษ” เป็น “พอลิเมอร์”

ทำไมจึงเลือกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์

นับจากวันที่ ธปท. เริ่มมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนวัสดุการพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท จากกระดาษเป็นพอลิเมอร์ สิ่งที่หลายคนสงสัยตรงกันมากที่สุดคือ… ทำไมถึงควรเลือกพอลิเมอร์

คำตอบคือ พอลิเมอร์เป็นวัสดุที่มีพื้นผิวเรียบสะอาด ทนทาน และมีคุณสมบัติพิเศษคือ ทนทานต่อความชื้น ไม่ดูดซับสิ่งสกปรก และทำความสะอาดได้ง่าย ด้วยลักษณะเฉพาะของธนบัตรพอลิเมอร์ที่มีอายุการใช้งานและทนทานมากกว่าธนบัตรกระดาษ จึงทำให้การใช้ธนบัตรพอลิเมอร์มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ด้วยเช่นกัน

เปิดตัวธนบัตรพอลิเมอร์ 20 บาท

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ธปท. ได้แถลงข่าวเปิดตัวธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท ที่พร้อมจะนำออกใช้หมุนเวียนในวันที่ 24 มีนาคม 2565

ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาทนี้ มีภาพและลักษณะโดยรวมเหมือนกับธนบัตรกระดาษชนิดราคา 20 บาทที่หมุนเวียนในปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัยและมีมาตรฐานขั้นสูง เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลงเช่นเดียวกับธนบัตรกระดาษชนิดราคา 20 บาทที่ใช้ในปัจจุบัน

ธนบัตรพอลิเมอร์มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงใหม่ที่ต่างจากเดิมเป็นจุดที่สังเกตได้ง่ายและยากต่อการปลอมแปลง ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการ “สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง” ได้เช่นเดียวกันกับธนบัตรกระดาษ ดังนี้

สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา ยังสามารถสัมผัสสัญลักษณ์รูปดอกไม้พิมพ์นูน 2 ดอกแทนชนิดราคา 20 บาทได้เช่นเดิม และได้เพิ่มเติมจุดสังเกตอีก 1 แห่ง บริเวณช่องใสทรงหยดน้ำ จะมีตัวเลข “20” ขนาดเล็ก ดุนนูน เพื่อให้สัมผัสได้ง่ายขึ้น

ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาทนี้ ประชาชนสามารถเบิกถอนผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง และสามารถใช้ควบคู่กับธนบัตรกระดาษได้ตามปกติ

ธนบัตรพอลิเมอร์ดีอย่างไร

สะอาด
ธนบัตรพอลิเมอร์มีความทนทานต่อความชื้นและสิ่งสกปรกได้ดี จากกรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ พบว่าธนบัตรพอลิเมอร์ีอายุการใช้งานประมาณ 2.5 เท่าของธนบัตรกระดาษ โดยการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ช่วยยกระดับคุณภาพธนบัตรออกใช้หมุนเวียนให้ใหม่และสะอาดมากยิ่งขึ้น แม้ในประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์

ทนทาน
เทคโนโลยีในการผลิตธนบัตรพอลิเมอร์ได้มีพัฒนาการไปอย่างมากในช่วง 10 - 20 ปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของวัสดุพอลิเมอร์ ได้มีการปรับปรุงให้ทนทานและพิมพ์ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เครื่องจักรและเทคโนโลยีในการพิมพ์และการเคลือบผิวธนบัตรหลังการพิมพ์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ตลอดจนคุณสมบัติของหมึกพิมพ์และสารเคลือบสำหรับการผลิตธนบัตรพอลิเมอร์ก็มีการปรับปรุงจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

ปลอดภัยจากการปลอมแปลง
ธนบัตรพอลิเมอร์สามารถออกแบบให้มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่หลากหลายและปลอมแปลงยากกว่าธนบัตรกระดาษ โดยในระยะ 10 - 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาของเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงไปเป็นอย่างมาก จากกรณีศึกษาในหลาย ๆ ประเทศ พบว่าการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์มีผลทำให้สถิติการปลอมแปลงธนบัตรลดลงได้อย่างชัดเจน

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงคาร์บอนฟุตพรินต์ของธนบัตรพอลิเมอร์น้อยกว่ากระดาษ เนื่องจากธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานที่ยาวกว่าธนบัตรกระดาษเป็นอย่างมาก

วัสดุและกระบวนการผลิต

องค์ประกอบหลักของธนบัตรพลาสติกที่เป็นเทคโนโลยีของประเทศออสเตรเลียได้แก่ แผ่นฟิล์มพลาสติกใสซึ่งผลิตขึ้นจากโพลิโพรพิลีนที่ผ่านการดึงในสองทิศทาง (Biaxially Oriented Polypropy-lene, BOPP) กระบวนการผลิตฟิล์มโพลิโพรพิลีนประเภทนี้จะส่งผลให้ฟิล์มมีความแข็งแรงทั้งในแนวยาว (machine direction) และแนวขวาง (transverse direction) นอกจากนี้ยังมีข้อดีคือ มีการดูดความชื้นต่ำป้องกันการซึมผ่านของก๊าซได้ดี และมีความแข็งแรงอีกด้วย โดยปกติแล้วฟิล์มประเภทนี้จะถูกใช้งานในบรรจุภัณฑ์อาหารต่าง ๆ อย่างไรก็ตามฟิล์มพลาสติกประเภทนี้โดยทั่วไปจะยึดติดกับสีหรือหมึกพิมพ์ไม่ค่อยดี ถ้าจะต้องใช้งานในกระบวนการพิมพ์สี ฟิล์มต้องผ่านกระบวนการพิเศษเพิ่มเติมเพื่อที่จะทำให้สีหรือหมึกพิมพ์สามารถยึดเกาะบนฟิล์มพลาสติกนี้ได้ดีและมีความคงทน ซึ่งอาจจะเป็นการเคลือบผิวด้วยวัสดุอื่น การรีดร่วม (coextrusion) หรือการปรับสภาพผิวทางกายภาพ เช่น การทำโคโรนาดิสชาร์จ (corona discharge) เป็นต้น

ในกรณีของ BOPP ซึ่งผลิตขึ้นใช้งานในการพิมพ์ธนบัตรนี้จะมีความแตกต่างจากฟิล์มในท้องตลาดทั่วไปทั้งความหนาของฟิล์ม สมบัติทางกายภาพ และมีการปรับสภาพผิวของแผ่นฟิล์มเพื่อให้หมึกพิมพ์ยึดเกาะได้ดี โดยใช้เทคนิคการทำโคโรนา ดิสชาร์จ ร่วมกับเทคนิคอื่น อย่างไรก็ตาม ด้วยจุดประสงค์เพื่อความปลอดภัย ดังนั้นรายละเอียดของข้อมูลทางเทคนิคของสมบัติและกระบวนการผลิตแผ่นพลาสติกสำหรับธนบัตรนี้ไม่เป็นที่เปิดเผย

จากม้วนของพลาสติก BOPP ดังกล่าวที่เป็นวัตถุดิบหลักของการพิมพ์ธนบัตรพลาสติกม้วนพลาสติกนี้จะถูกนำไปผ่านกระบวนการพิมพ์ธนบัตรพลาสติก 4 ขั้นตอนคือ

1. การทำให้ทึบแสง (Opacifying)
กระบวนการนี้เป็นการทำให้แผ่นพลาสติกทึบเสงในบริเวณที่ต้องการ โดยพิมพ์หมึกลงบนทั้งสองด้านของแผ่นพลาสติกใสพร้อมกัน และเว้นไว้แต่ในบริเวณที่ต้องการให้โปร่งใส ปกติแล้วจะใช้หมึกพิมพ์สีขาว (แต่ในทางเทคนิคแล้วจะใช้สีต่าง ๆ ได้) หมึกพิมพ์นอกจากจะทำให้แผ่นพลาสติกทึบแสงแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับการยึดติดของสีพิมพ์บนแผ่นพลาสติกอีกด้วย

2. การตัดเป็นแผ่น (Sheeting)
เป็นการตัดแผ่นพลาสติกที่ผ่านขั้นตอน ทำให้ทึบแสงแล้วให้มีขนาดที่เล็กลงและเหมาะสม เพื่อส่งผ่านเข้าไปยังเครื่องพิมพ์ในลำดับต่อไป

3. การพิมพ์ (Printing)
กระบวนการนี้เป็นการพิมพ์สีและลวดลายต่าง ๆ ลงบนแผ่นพลาสติกทั้งสองด้านพร้อมกันโดยมีตัวอย่างขั้นตอนดังนี้คือ พิมพ์สีพื้นด้วยระบบออฟเซ็ตแห้ง (dry offset) พิมพ์ลายนูนด้วยระบบอินทาลโย (intaglio) และพิมพ์เลขหมายลายเซ็นด้วยระบบเล็ตเตอร์เพลส (letterpress) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นเทคนิคการพิมพ์ที่ใช้พิมพ์ธนบัตรทั่วไป

4. การเคลือบผิว (Overcoating)
ขั้นตอนสุดท้ายของการพิมพ์ธนบัตรพลาสติก ได้แก่ การเคลือบผิวธนบัตรด้วยแลกเกอร์ใส เพื่อเพิ่มความทนทานในการใช้งานของธนบัตร โดยจะเป็นการป้องกันการหลุดร่อนของหมึกพิมพ์ที่เคลือบลงบนฟิล์มพลาสติกที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการขัดสีหรือสภาพแวดล้อมในระหว่างการใช้งาน รวมถึงการป้องกันความชื้นและของเหลวต่าง ๆ ที่จะแทรกซึมและส่งผลต่อสมบัติของธนบัตรพลาสติกอีกด้วย

ปัจจุบันแผ่นพลาสติกรองรับนี้ได้ถูกผลิตขึ้นในชื่อทางการค้าว่า Guardiane โดยบริษัท Securency ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารชาติออสเตรเลียและบริษัท UCB ซึ่งเป็นบริษัทผลิตฟิล์มโพลิโพรพิลีนเพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบให้แก่โรงพิมพ์ธนบัตรในประเทศต่าง ๆ ที่มีการพิมพ์ใช้งานธนบัตรพลาสติก