5 วิธีดูแลเครื่องพรินเตอร์อิงค์เจ็ทให้พิมพ์ลื่นไม่มีสะดุด

5 วิธีดูแลเครื่องพรินเตอร์อิงค์เจ็ทให้พิมพ์ลื่นไม่มีสะดุด

เคล็ดลับสำคัญที่ช่วยยืดอายุการใช้งานเครื่องพรินเตอร์ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม

ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น สถานศึกษาหลายแห่งจึงเตรียมมาตรการรองรับการกลับเข้าเรียนในสถานศึกษาอีกครั้ง แน่นอนว่าทางฝั่งผู้เรียนเองก็เช่นกันที่ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนเพื่อให้การเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น และหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญในการเรียนและทำรายงานก็คงหนีไม่พ้นเครื่องพรินเตอร์ที่ช่วยพิมพ์การบ้าน รายงาน แบบฝึกหัด บทเรียนต่าง ๆ เพื่อให้การเรียนของน้อง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อพูดถึงเครื่องพรินเตอร์หลายคนอาจไม่ได้ดูแลรักษามากนัก แต่แท้จริงแล้วเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยยืดอายุการใช้งานเครื่องพรินเตอร์ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม คือ การดูแลรักษา และใช้เครื่องอย่างถูกวิธีนั่นเอง

หลายคนเมื่อใช้งานเครื่องพรินเตอร์อิงค์เจ็ทไปนาน ๆ มักจะเจอกับปัญหา เช่น หัวพิมพ์ตัน พิมพ์สีซีดจาง พิมพ์สีออกไม่ครบ กระดาษติดบ่อย หรือไม่ดูดกระดาษ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านั้นจะหมดไปเพียงแค่เราหมั่นตรวจเช็คเครื่องพรินเตอร์อิงค์เจ็ทอยู่เสมอ วันนี้จะมาแนะนำ 5 วิธีดูแลเครื่องพรินเตอร์ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายและทำให้เครื่องพรินเตอร์คู่ใจใช้งานได้นานมากขึ้น

1. ใครว่าที่วางเครื่องพรินเตอร์ไม่สำคัญ: สำหรับการวางเครื่องพรินเตอร์บางคนอาจคิดว่าวางตรงไหนก็เหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วเราควรวางเครื่องพรินเตอร์ในบริเวณที่สะอาดและมีอุณหภูมิที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังต้องหมั่นคอยดูแลไม่ให้มีฝุ่นเกาะ เพราะฝุ่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบกลไกภายในเครื่องพรินเตอร์ได้ เช่น กลไกลูกยาง (Roller) ต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบกลไกทางเดินกระดาษ

2. พิมพ์บ่อย ๆ นะน้องนะ: หนึ่งปัญหาที่ผู้ใช้พบกันอยู่เสมอแน่นอนว่าเป็นอาการหัวพิมพ์ตันเพราะไม่ได้ใช้เครื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงควรใช้งานเครื่องพรินเตอร์เพื่อพิมพ์งานอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้หัวพิมพ์ตันและช่วยให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของเครื่องพรินเตอร์อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ

3. จะปิดเครื่องอย่าดึงแค่ปลั๊ก: บางครั้งอาจจะด้วยความเร่งรีบ เวลาต้องการปิดเครื่องหลายคนจึงเลือกที่จะถอดปลั๊กออกให้จบ ๆ ไป หรือรีบถอดปลั๊ก โดยไม่รอให้เครื่องดับสนิท วิธีที่ถูกต้องคือควรปิดเครื่องพรินเตอร์ด้วยสวิตช์ปุ่มกดที่มีอยู่ของตัวเครื่องพรินเตอร์เอง และรอให้แน่ใจว่าเครื่องปิดสนิทจริงก่อนถอดปลั๊กไฟทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้ระบบกลไกภายในและหัวพิมพ์อยู่ในตำแหน่งจัดเก็บที่ถูกต้อง

4. ไม่ไหวอย่าฝืน หมึกหมดอย่าพึ่งพิมพ์ต่อ: เวลาที่ระบบแจ้งเตือนทำงานเพื่อให้ผู้ใช้เปลี่ยนตลับหมึกใหม่หรือเติมหมึกเข้าไปเพิ่ม หลายคนก็ยังฝืนสั่งพิมพ์ต่อ ซึ่งการสั่งพิมพ์งานต่อจะทำให้เครื่องเสื่อมเร็วกว่าปกติ เพราะจะทำให้หัวพิมพ์เกิดความร้อนสูงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อายุหัวพิมพ์สั้นลงอีกด้วย

5. คลีนเครื่องก่อนใช้: สำหรับเครื่องพรินเตอร์ระบบอิงค์แทงค์หากไม่ได้ใช้เป็นระยะเวลานาน มักจะพบว่าหมึกในสายส่งหมึกไหลย้อนกลับและจะสังเกตเห็นได้ว่ามีฟองอากาศอยู่ในสายด้วย เมื่อพบปัญหานี้ ให้เลือกคำสั่ง System Cleaning ที่ตัวเครื่องก่อนการใช้งาน เพื่อให้ระบบการพิมพ์กลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

จะเห็นได้ว่าเพียง 5 ขั้นตอนง่าย ๆ แค่นี้ก็ทำให้ประหยัดเวลาการส่งซ่อมแถมประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากขึ้น