เหตุผลอะไรที่ทำให้ธุรกิจของคุณอยู่ได้หลังวิกฤตโควิด-19
มีสติที่จะแก้ปัญหา หันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออกทางธุรกิจในวิกฤต
เรียบเรียงโดย ธีรพงศ์ ประดิษฐ์กุล
เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดเข้ามาในช่วงที่เราไม่ได้ทันตั้งตัว แต่เราไม่อาจหลีกหนีสิ่งที่จะเข้ามาได้ อย่างหนึ่งที่เราจะต้องดำเนินคือกลยุทธ์การจัดการที่แยบยล และมีสติที่จะแก้ปัญหา หันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออกทางธุรกิจในวิกฤตแบบนี้ ดังที่ได้ได้อ่านบทความหนึ่งแล้วเห็นว่า น่าสนใจมาก จึงขอนำมาให้สมาชิกได้อ่าน และพิจารณาไตร่ตรอง หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งครับ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมากคำถามคือ ในฐานะผู้ประกอบการ เราจะหาทางรอดเพื่อยืนหยัดอยู่ได้ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ได้อย่างไร ลบภาพวิธีดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์ปกติออกไปก่อนนับตั้งแต่วิกฤตโควิดโหมสร้างปัญหาไปทั่ว เราไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบเดิม ๆ ในการดำเนินธุรกิจแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำไม่ใช่แค่ลดเวลาเปิดร้าน ลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด หรือลดเงินเดือนพนักงาน เพราะเราอาจต้องตัดสินใจเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจเกือบทั้งหมดเลยทีเดียว และถ้าเราตัดสินใจช้า ค่อย ๆ เปลี่ยนทีละเรื่อง ธุรกิจก็อาจต้องปิดตัวลงเสียก่อน
“วิกฤตจะเปิดประตูสู่โอกาสและการพัฒนาครั้งใหญ่ ดังนั้น อย่าปล่อยให้วิกฤตสูญเปล่า”
- ปรับแผนให้เร็วและฟังเสียงของลูกค้ามากขึ้น
ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยเราสามารถขอฟีดแบคจากลูกค้า เพื่อนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาต่อยอดธุรกิจ แล้วถ้าไอเดียถูกนำมาใช้จริงลูกค้าก็จะรู้สึกประทับใจที่เรารับฟังเสียงของพวกเขา นอกจากนั้น เราสามารถให้พนักงานมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องปรึกษาหารือกันในฝ่ายบริหารอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมา “พนักงานก็คือคนที่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด” - ยอมรับว่าต้องมีการตัดสินใจที่ยากลำบาก
ด้วยสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เราจำเป็นต้องตัดสินใจในเรื่องยาก ๆ เช่น เราอาจไม่สามารถให้บริการลูกค้าที่ไม่สามารถจ่ายเป็นเงินสดได้ก่อน เราอาจต้องเลิกผลิตสินค้าบางประเภท หรือเราอาจต้องปลดพนักงานบางกลุ่มออก แต่ถ้าธุรกิจกลับมาดีขึ้นเมื่อไหร่ เราก็สามารถกลับมาบริการลูกค้าบางราย กลับมาขายสินค้าบางประเภท และกลับมาจ้างงานพนักงานกลุ่มที่เคยออกไปได้เช่นเดียวกัน - การสื่อสารกับพนักงานคือสิ่งจำเป็น
เราควรแบ่งเวลามาพูดคุยกับพนักงานกลุ่มต่าง ๆ ทั้งพนักงานที่ถูกปลด พนักงานที่ต้องพักงานชั่วคราว และพนักงานที่ต้องลดเวลาทำงานลง ซึ่งถ้ามีพนักงานไม่มากเราอาจขอพูดคุยกับพวกเขาแบบตัวต่อตัว เผื่อเราสามารถช่วยเหลือพวกเขาเพิ่มเติมได้ในเรื่องอื่น ๆ จากนั้นให้เรานัดประชุมกับพนักงานที่เหลืออยู่เพื่อแจ้งให้ทราบถึงแผนการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยเราอาจเสริมว่าถ้าเป็นไปได้จะไม่ลดจำนวนพนักงานอีก พวกเขาจะได้รู้สึกมั่นคงและสบายใจมากขึ้น นอกจากนั้นก็ควรเปิดช่วงให้พนักงานถามทุกข้อสงสัยคาใจ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างแท้จริง - ถ้ายังดูแลลูกค้าดี ก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้
ตัวอย่างเช่น ช่วงที่โควิดระบาดแรก ๆ คนส่วนใหญ่มักยกเลิกการจองโรงแรมที่จองไว้ โรงแรมในเครือ Marriot ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับกลับพิเศษมาก คือลูกค้าจะได้รับอีเมลจากซีอีโอของ Marriot เพื่อแจ้งว่า ลูกค้าทุกคนจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน ทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ และมีโอกาสกลับมาพักที่โรงแรมในเครือ Marriot อีกครั้งเมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ
การบริหารเงิน 4 แบบที่ควรวางแผนไว้
- เขียนจำนวนเงินสดที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละเดือนออกมา
- วางแผนว่าจะหาเงินทุนก้อนใหม่มาจากไหน เพื่อใช้ในช่วงวิกฤต
- เขียนงบกำไรขาดทุนในช่วงปัจจุบันออกมาให้ละเอียดชัดเจน
- กำหนดว่าถ้ามีเงินสำรองเพียงพอแล้วจะนำไปจ่ายค่าอะไรเป็นอย่างแรกที่สำคัญที่สุด
ยิ่งทำข้อมูลส่วนนี้ได้ละเอียดเท่าไหร่ เราก็จะสามารถตัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งเราควรทำแผนนี้สำหรับระยะเวลาอย่างต่ำ 12 เดือน พร้อมกับลองทำแผนสำรองสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด และสถานการณ์ดีที่สุดซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญ พนักงานก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ โดยให้พนักงานลองส่งไอเดียเพิ่มยอดขายและลดรายจ่ายของธุรกิจลง ถ้าไอเดียไหนน่านำมาใช้จริง เราก็ควรให้รางวัลตอบแทนกับพนักงานที่เป็นเจ้าของไอเดียด้วย นอกจากนั้น ยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่เราควรคิด เช่น มีผู้แทนขายรายใหม่ที่ช่วยให้ต้นทุนลดลงไหม, มีสินค้าไหนที่ขายไม่ดีแล้วควรตัดออกไปหรือเปล่า, ควรปรับเวลาเปิดปิดร้านเป็นเมื่อไหร่เพื่อประหยัดค่าน้ำค่าไฟมากขึ้น, ควรลดต้นทุนค่าโฆษณาลงเท่าไหร่ เป็นต้น
สิ่งที่เราควรทบทวนอีกครั้งในการทำธุรกิจ
- เรามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิดหรือเปล่า
- ลูกค้าคนสำคัญของธุรกิจเราคือใคร พวกเขาชอบซื้ออะไร และเราจะรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไปอย่างไรได้บ้าง
- สินค้าของเราแตกต่างและให้คุณค่าลูกค้ามากกว่าคู่แข่งหรือยัง
8 กลยุทธ์ ปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อคว้าโอกาสในยามวิกฤต
- มองการณ์ไกล หมั่นศึกษาหาข้อมูลเพื่อตั้งสมมติฐานล่วงหน้าว่าธุรกิจมีทางจะเปลี่ยนไปทางไหน และเตรียมพร้อมหาทางรับมือ เช่น จากสถิติผู้บริโภคหันมาค้นหาสินค้าแบบออนไลน์ ลดการออกข้างนอก ผู้ประกอบการที่มีเพียงหน้าร้านอย่างเดียว อาจต้องเริ่มวางแผน หาช่องทางในการขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) ไม่ว่าจะส่งสินค้าเข้า Marketplace หรือสร้างเว็บเพจฟรี ๆ บน Facebook / Twitter / Instagram หรือเปิดบริการ Delivery เป็นต้น
- จัดการเปลี่ยนแปลงองค์กร จัดหาทีมงานรองรับการตลาดออนไลน์ เช่น แอดมินเพจ คนตอบแชท พนักงานขับรถส่งของ ฯลฯ เพื่อเตรียมแผนรับการวิกฤต พร้อมทั้งวิเคราะห์ปรับเปลี่ยนองค์กรให้เหมาะสมกับกลยุทธ์ธุรกิจและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
- ให้ความสำคัญเรื่อง Service Mind การดูแลลูกค้ามากยิ่งขึ้น ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดหลังจากซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากธุรกิจของเรา เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม หรือที่เรียกว่าการสร้าง Royalty และคงปริมาณยอดขายเอาไว้ให้ได้
- บริหารจัดการวัตถุดิบให้มีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างเพียงพอ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ทั้งนั้นควรวางแผนการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อไม่ให้วัตถุดิบสูญเปล่า
- วิเคราะห์และวางแผนจัดการกับเงินทุนให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อเก็บรักษาเงินสด และคงสภาพคล่องเอาไว้ เพราะ หลาย ๆ ธุรกิจที่ล้มหายตายจาก สาเหตุหนึ่ง ก็เพราะ ขาดเงินสดสำรองเอามาหมุนเวียน หมุนเวียน ดังนั้น สิ่งสำคัญต่อจากนี้ คือการบริหารต้นทุนให้ดี วางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม เพื่อคงกระแสเงินสดเอาไว้ในมือ
- ปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือหาวิธีใหม่ๆ ในการขายหรือโปรโมทสินค้า ให้ตอบโจทย์ Pain Point และความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด เพื่อดึงดูดและกระตุ้นยอดขาย
- เพิ่มการใช้เทคโนโลยี เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เช่น เพิ่มช่องทางการจ่ายเงิน แบบสแกนจ่ายหรือจ่ายผ่านการโอน ให้สอดคล้องกับกระแสสังคมไร้เงินสด ทั้งยังช่วยลดเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของซึ่งกันและกันได้อีก
- แบ่งปันและช่วยเหลือทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้อยู่รอดและฟื้นตัวไปด้วยกันกับธุรกิจคุณ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์
การทำธุรกิจและความเสี่ยงเป็นของคู่กัน หน้าที่ของเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการคือการวางงแผนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเข้ามา ยิ่งการทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแบบนี้ ยิ่งต้องวางแผน และอาจจะต้องยอมปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ เพื่อไม่ให้ธุรกิจพังครืน อย่าลืมนำกลยุทธ์ทั้ง 8 ข้อที่เราแนะนำไปปรับใช้ อาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มในบางอย่าง หรือยอดขายหดหายไปบ้าง แต่ธุรกิจของคุณจะอยู่รอดจนถึงวันแดดออกแน่นอน