‘โอมิครอน’ ฉุดเศรษฐกิจ ชะลอแผนเลิก Work From Home

‘โอมิครอน’ ฉุดเศรษฐกิจ ชะลอแผนเลิก Work From Home

โดย คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า จากการที่ไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” เพิ่มขึ้นส่งผลให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เดิมวางแผนจะปลดล็อกการทำงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) มาทำงานที่ออฟฟิศตามปกติต้องชะลอแผนออกไป รวมไปถึงธุรกิจบางส่วนที่อาศัยแรงซื้อในประเทศต้องรอประเมินสถานการณ์โอมิครอน ในการทบทวนแผนการตลาดและการลงทุนอีกครั้ง โดยคาดว่าหลังเทศกาลปีใหม่ไปแล้วจะเห็นภาพการแพร่ระบาดโอมิครอนชัดเจนขึ้น

“เชื่อว่าทุกภาคส่วนคงต้องรอติดตามสถานการณ์โอมิครอนหลังเทศกาลปีใหม่ที่มีการเดินทางกลับภูมิลำเนาว่าจะมีแนวโน้มอย่างไรเพื่อประเมินแผนธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้ารัฐบาลได้ทยอยคลายล็อกดาวน์ จนกระทั่ง 1 พ.ย. 64 รัฐบาลได้เปิดประเทศรับต่างชาติทำให้องค์กรต่าง ๆ ที่เคยให้พนักงานทำงานที่บ้าน 100% ก็ปรับลดลง เช่น เหลือ 50% และส่วนใหญ่วางเป้าหมายว่าจะปลดล็อกการทำงานที่บ้าน 100% วันที่ 4 ม.ค. 65 หรือลดปริมาณการทำงานที่บ้านให้เหลือต่ำลง แต่พอโอมิครอนเข้ามาทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องชะลอแผนดังกล่าวออกไปและขยายเวลาการทำงานที่บ้านต่อไปอีก 1-3 เดือนเพื่อรอดูความชัดเจนอีกครั้ง” นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังคงขยายงานต่อเนื่องตามแนวโน้มคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ที่ยังคงเติบโตในปี 2565 แต่การแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่ได้รับการยืนยันแล้วใน 114 ประเทศและเขตปกครองโดยอังกฤษมีการแพร่ระบาดสูงสุด และขณะเดียวกันฝรั่งเศสพุ่งทำสถิติใหม่เกินแสนคนเป็นครั้งแรกทำให้ต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะตลาดยุโรป และสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย

“ด้วยคุณสมบัติในการแพร่กระจายที่รวดเร็วทำให้หลายประเทศตัดสินใจฟื้นมาตรการควบคุมพรมแดน และทบทวนแผนการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือการระบาดของโอมิครอน และล่าสุดกลายเป็น “สายพันธุ์หลัก” ที่ระบาดในอังกฤษ เดนมาร์ก และสหรัฐอเมริกาไปแล้ว หากการแพร่ระบาดรุนแรงและนำไปสู่การล็อกดาวน์ในยุโรปต่อเนื่องปัญหาเดิม ๆ ก็จะวนซ้ำมา รวมไปถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่อาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2565 ซึ่งก็จะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน จึงยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

ทั้งนี้ ปี 2565 ภาครัฐบาลจำเป็นที่ต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ โดยเห็นด้วยกับมาตรการคนละครึ่งเฟส 4 ช้อปดีมีคืน แต่มาตรการเยียวยาที่ควรจะต้องมองเพิ่มเติม คือ ภาคท่องเที่ยว บริการ โรงแรม เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบที่ซ้ำเติมอีกครั้งจากการแพร่ระบาดโอมิครอน เพราะธุรกิจเหล่านี้เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น