“สื่อสิ่งพิมพ์ ร้านหนังสือจีน” Transform โตสวนกระแสสิ่งพิมพ์หดตัวในยุคดิจิทัล

“สื่อสิ่งพิมพ์ ร้านหนังสือจีน”
Transform โตสวนกระแสสิ่งพิมพ์หดตัวในยุคดิจิทัล

เปลี่ยนตัวเองก้าวมาเป็นตัวเลือกระดับต้นๆ ในการไปพักผ่อนพบปะผู้คน ไม่ต่างจากร้านกาแฟ

“สื่อสิ่งพิมพ์ ร้านหนังสือจีน” Transform เติบโตสวนกระแสธุรกิจสิ่งพิมพ์หดตัวในยุคดิจิทัล และสามารถนำพาตัวเองก้าวมาเป็นตัวเลือกระดับต้น ๆ ที่คนจีนพากันไปพักผ่อน พบปะผู้คน ไม่ต่างจากร้านกาแฟ

หลายปีมานี้ ธุรกิจ สื่อสิ่งพิมพ์ และร้านหนังสือ ในประเทศจีน มีการปรับตัวอย่างหนักกับการอาจถูกดิสรัปโดยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ตอนนี้ยังคงสามารถอยู่รอดได้ แต่ยังเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของธุรกิจนี้ไปด้วย

ร้านหนังสือหลายร้านในจีน เริ่มจากเจ้าใหญ่ก่อน มีการปรับตัว “Transform” ตนเอง ไม่ให้เป็นแค่ร้านหนังสืออีกต่อไป โดยได้เพิ่มเติมบรรยากาศให้น่าเข้าไปใช้เวลาอยู่ที่นั่นมากขึ้น ปรับให้มีมุมถ่ายรูปสวย ๆ ชั้นวางหนังสือดูสบายตา โอ่โถง มีร้านกาแฟ สิ่งอำนวยความสะดวก และสินค้าอื่น ๆ อยู่ในนั้น ไม่ต่างอะไรกับการไปร้านกาแฟหรือเดินชอปปิ้ง

แม้แต่ในช่วงวันหยุดยาว วันตรุษจีน วันชาติจีน วันแรงงานจีน สถานที่ท่องเที่ยวที่ครอบครัวพากันไป เปลี่ยนจากสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป มาเป็นร้านหนังสือใหญ่ ๆ ของแต่ละเมือง ก็มีให้เห็นในช่วง 5-6 ปีมานี้ ตัวอย่างร้านหนังสือที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน

ร้านหนังสือ 迈科商业中心 ย่านเกาซิน 高新 เมืองซีอาน มณฑลส่านซี

ร้านหนังสือแห่งนี้ จัดวางหนังสือหลายหมื่นเล่มในรูปแบบที่สวยงาม และสภาพแวดล้อมที่น่าอ่าน โดยในร้านไม่ได้มีแค่ขายหนังสือ หากแต่ยังมีโซนที่ให้ผู้คนได้นั่งดื่มด่ำบรรยากาศ ไม่ต่างจากร้านกาแฟ หรือล็อบบี้โรงแรมหรู  ๆ

ร้านหนังสือ 钟书阁 จงซูเก๋อ เขตไห่เตี้ยน กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

ที่จีนร้านหนังสือจะพากันแข่งเปิดร้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตกแต่งอย่างสวยงาม ก้าวข้ามคำว่า ร้านหนังสือ การแข่งขันก็จะสูงตาม และทุกครั้งที่ร้านหนังสือสวย ๆ เกิดขึ้นในจีน ก็จะกลายเป็นกระแสสังคมทุกครั้ง

ร้านหนังสือ Fang suo Commune (方所) เมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)

ร้านหนังสือ Fang suo Commune (方所) เป็นร้านหนังสือชื่อดังในเมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ได้รับรางวัล ร้านหนังสือแห่งปี จากมหกรรมหนังสือลอนดอน ซึ่งเป็นมหกรรมหนังสือระดับโลก สำหรับร้าน Fang Suo ถูกตกแต่งและจัดวางหนังสือจำนวนมากบนชั้นวางทำให้ดูน่าอ่าน ไม่เหมือนร้านหนังสือทั่วไปแบบเดิม ๆ ภายในร้านยังมีโซนจัดแสดงงานศิลปะและวัฒนธรรม, โซนจัดอบรมให้ความรู้, โซนร้านกาแฟ, โซนอ่านหนังสือแบบชิล ๆ รวมถึงโซนขายสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หนังสือ เช่น งานผลิตภัณฑ์ทำมือ, งานสินค้าครีเอทีฟ, ของเล่น (เพื่อเอาใจเด็ก ๆ ให้อยากเข้าร้านหนังสือ และทำให้ที่นี่สามารถมาได้ทั้งครอบครัว) นี่เองจึงทำให้ Fang Suo ก้าวข้ามคำว่า “ร้านหนังสือ” แต่กลายเป็น “ศูนย์กลางของคนที่รักการอ่านและการหาความรู้” ที่แท้จริง ซึ่งในแต่ละปี จะมีคนเข้ามาที่ร้านหนังสือแห่งนี้มากกว่า 2 ล้านคน และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนขยายสาขาไปยังเมืองอื่น ๆ ในจีน ได้แก่ เฉิงตู, ฉงชิ่ง และชิงเต่า

ตามสถิติจากสถาบันวิจัยข่าวสารและสิ่งพิมพ์จีน (Chinese Academy of Press and Publication) ซึ่งสำรวจพฤติกรรมการอ่าน โดยสอบถาม 46,000 คน จาก 167 เมืองทั่วจีน พบว่า

  • 81.3% อ่านหนังสือทั้งแบบรูปเล่ม และแบบดิจิทัลบนมือถือ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
  • 11.6% อ่านหนังสือแบบรูปเล่ม มากกว่า 10 เล่มเมื่อปีที่ผ่านมา
  • 8.5% อ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ มากกว่า 10 เล่ม เช่นกัน
  • โดยเฉลี่ย อ่านหนังสือรูปเล่ม 4.7 เล่มต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่ตัวเลขอยู่ที่ 4.65 และอ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ 3.29 เล่มต่อปี จาก 2.84 เล่ม ในปี 2019

คนจีน ขึ้นชื่อเรื่องรักการอ่านมาแต่ไหนแต่ไร ทางการจีน ภาครัฐ และภาคเอกชน พร้อมใจกันช่วยสนับสนุน ทั้งเงินอุดหนุนธุรกิจหนังสือ ทำราคาหนังสือให้ถูกลง และการใช้กระแสโลกโซเชียลให้เป็นประโยชน์ นั่นจึงทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสิ่งพิมพ์ และร้านหนังสือในจีน ไม่กลัวการเข้ามาของสื่อออนไลน์ หากรู้จักที่จะ “ปรับตัว” สื่อบนโลกออนไลน์กลับกลายเป็นประโยชน์ต่อสื่อยุคดั้งเดิม สามารถเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้คนยังคงอ่านหนังสือเป็นเล่ม และทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ร้านหนังสือจีน ยังคงอยู่ได้ มิหนำซ้ำยังเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก จึงไม่แปลกเลยที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์และร้านหนังสือในจีนจะเติบโตสวนกระแสสิ่งพิมพ์หดตัวในยุคดิจิทัล