สัมภาษณ์พิเศษ คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล หนุน Made in Thailand หลังโควิด

สัมภาษณ์พิเศษ คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล หนุน Made in Thailand หลังโควิด

โดย ประชาชาติธุรกิจ

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้หลายประเทศต้องหันกลับมารื้อโครงสร้างภายในประเทศกันใหม่ อย่างไทยพึ่งพาการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพี เป็นฐานการผลิตของโลก แต่ต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนบางอย่างจากจีน เมื่อถึงวันที่จีนประสบปัญหาวิกฤตจนต้องปิดประเทศ เกิดผลที่ตามมาอย่างไม่คาดคิด “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลัง COVID-19 ได้กล่าวถึงแผนฟื้นฟูของภาคอุตสาหกรรมไว้ดังนี้

3 แผนฟื้นอุตสาหกรรม

เมื่อการระบาดเริ่มคลี่คลาย แน่นอนว่าแต่ละประเทศจะเข้าสู่มาตรการปกป้องตัวเองมากขึ้น ทุกประเทศจะดึงการลงทุนกลับประเทศมากที่สุด เพื่อให้มีการจ้างงาน ลดการตกงาน เช่นเดียวกันกับไทยที่ต้องใช้นโยบายสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือ Made in Thailand เหมือนที่หลายประเทศเริ่มทำกันแล้วอย่างไต้หวัน ดังนั้น แผนฟื้นฟูแรกคือ การทำ Made in Thailand ซึ่งได้เสนอกับกรมบัญชีกลางในการปรับปรุงระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ให้เพิ่มแต้มต่อในด้านการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น ในระยะกลาง 3-5 ปี ระหว่างนี้ผู้ผลิตในประเทศจะได้มีเวลาพัฒนาสินค้าตัวเองให้ดีขึ้นด้วย

ต่อมาคือ แผนเน้นการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ตลอดซัพพลายเชน เนื่องจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจาก trade war เมื่อปีที่ผ่านมา และยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ขาดชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จากการปิดประเทศ lock down ของจีน จึงเป็นที่มาของ deglobalization หรือการหันกลับมาพัฒนาสิ่งของหรือวัตถุดิบใช้เองในประเทศ

นอกจากนี้ กรณี trade war รอบ 2 ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้น การจะทำให้ซัพพลายเชนในประเทศกลับมาได้ คือ การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ โดยต้องสร้าง “ความมั่นคงทางด้านซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมไทย” ขึ้นมาให้ได้เตรียมเสนอให้ภาครัฐชดเชยเรื่องการให้สิทธิประโยชน์พิเศษ เหมือนกับที่ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นในรูปแบบของภาษี หรืออะไรก็ตาม เช่น อาจตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นหนึ่งธีมเกี่ยวกับที่เป็นธีมซัพพลายเชนโดยตรง เพื่อเป็นซัพพลายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริม ซึ่งระหว่างนี้ต้องทำค่าเฉลี่ยว่าแต่ละอุตสาหกรรม ต้องการการชดเชยกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้รัฐสนับสนุนที่เราผลิตได้เอง หากสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่พอ จะเป็นสิทธิประโยชน์จาก EEC ก็ได้

ลดนำเข้าชิ้นส่วนต่างชาติ

ส.อ.ท. ได้สำรวจสมาชิก 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ ถึงสัดส่วนการลดการนำเข้า เช่น กลุ่มเครื่องปรับอากาศ ปัจจุบันนำเข้าชิ้นส่วน 30% ถ้าใช้แผนนี้ในอีก 3-5 ปี จะลดการนำเข้าได้เหลือเพียง 20% และในอีก 10 ปี สามารถลดการนำเข้าเหลือไม่เกิน 10% ได้

“ในช่วงที่จีนปิดประเทศ เราไม่สามารถนำเข้าชิ้นส่วนมาได้เลย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ในอนาคต เราต้องพึ่งตัวเองผลิตเอง ลดการนำเข้าให้ได้ ถึงจะเป็นแผนระยะยาว แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้”

แผนสุดท้าย คือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรและอาหาร ในขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาการจ้างงาน แต่ประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีมากคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น อุตสาหกรรม bioeconomy การทำเกษตรแปรรูป เกษตรเพิ่มมูลค่า จะเป็นสิ่งที่ตรงกับคนไทยมากที่สุด และเป็นความต้องการของโลกด้วย

6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

6 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมาแรงในอนาคต คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล เนื่องจากโควิด-19 เข้ามาเร่งปรากฏการณ์ digitalize ภาคการค้า การบริการมากขึ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมซื้อขายออนไลน์ช่วง WFH, อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ จากที่ทุกส่วนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ความสำเร็จของการจัดการการแพร่ระบาด เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะมีส่วนสำคัญในการจัดการขนส่งสินค้า ทั้งจากตลาดทางออนไลน์ ราคาปลีก อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มาเสริมศักยภาพในงานด้านต่าง ๆ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพช่วยต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทย