ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย นวัตกรรมสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ KBO OTOP จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย นวัตกรรมสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ KBO OTOP จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

• เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ควบคู่ไปกับการตลาด
• เพื่อให้เกิดองค์ความรู้พัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด
• เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามกรอบแนวคิดด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่มุ่งเน้นการพัฒนาภาคการผลิตและบริการให้สามารถแข่งขันได้ เกิดความยั่งยืน ประชาชนมีคุณภาพชีวิต และมีรายได้ที่ดีขึ้น

กรมพัฒนาชุมชนจึงได้ดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด เพื่อให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน เครือข่ายผู้ผลิตชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ภายในจังหวัดผนึกกำลังองค์ความรู้พัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP

ผลิตภัณฑ์ KBO OTOP จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน กิจกรรมพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน 1-3 ดาว โดยร่วมมือกับคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Base OTOP : KBO) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐานและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับกิจกรรมนี้ มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมจำนวน 20 ผลิตภัณฑ์/กลุ่ม ซึ่งผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการ KBO จังหวัด เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเครือข่ายองค์ความรู้ KBO

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 20 ผลิตภัณฑ์

ตามโครงจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แบรนด์ และบรรจุภัณฑ์ โดยการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด ซึ่งมีรายชื่อกลุ่มและผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้
1. กลุ่มอุตสาหกรรมครกหินกลึง ผลิตภัณฑ์ชูหอม หินน้ำหอมอโรม่า (Aroma diffuser)
2. กลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านป่อง ผลิตภัณฑ์จากเชือกมัดฟาง
3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปแม่สมบัติตำบลท่าตอ ผลิตภัณฑ์มะม่วงชิลล์
4. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือนบัว ผลิตภัณฑ์ Heaven Lotus (ดอกไม้ประดิษฐ์ตกแต่งบ้าน)
5. กลุ่มสมุนไพรแม่อบเชย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปรับอากาศ
6. กลุ่มหัตถกรรมผ้าปักสไบมอญ ผลิตภัณฑ์เสื้อปักศิลปะบ้านมอญ
7. กลุ่มสวนไผ่ by ยายลี ผลิตภัณฑ์เสื้อปักศิลปะบ้านมอญ
8. กลุ่มจักสานปลาตะเพียน ผลิตภัณฑ์ตะเพียนหอม
9. กลุ่มสมุนไพรลุมพลี ผลิตภัณฑ์สมุนไพรหอม
10. กลุ่มกระเป๋าหนังเทียม และผลิตภัณฑ์จากหนังเทียมบ้านไทร ผลิตภัณฑ์กระเป๋าหนัง
11. กลุ่มน้ำพริกปลาร้าแปรรูป ผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาช่อนสมุนไพร
12. กลุ่มข้าวหอมประทุม ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมปทุม
13. กลุ่มสตรีวังชะโด ผลิตภัณฑ์กระเป๋าถักเชือกร่ม
14. วิสาหกิจชุมชนแท่นยืนคลายเส้น เก้าอี้ มหัศจรรย์ ผลิตภัณฑ์แท่นยืนคลายเส้น
15. กลุ่มสตรีบ้านขล้อ ผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพร
16. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวปลอดภัยหนองน้ำใหญ่ ผลิตภัณฑ์ข้าวตังเสวย
17. วิสาหกิจชุมชนต่อยอดงานจักสานและผ้า ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจักสานไม้ไผ่
18. กลุ่มบ้านไร่แฮนด์ ผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานผักตบชวา
19. สัมมาชีพชุมชนคลองพุทรา ม. ๒ ผลิตภัณฑ์ไม้กวาดรีไซเคิล
20. กลุ่มกล้วยฉาบบ้านหนองทางบุญ ผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบไข่เค็ม

คัดเลือกเหลือ 1 คือ ปลาตะเพียน

ผลิตภัณฑ์ทั้ง 20 ผลิตภัณฑ์ ผ่านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แบรนด์หรือตราสินค้า รวมถึงบรรจุภัณฑ์ พร้อมกับองค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญ ก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเหลือ 1 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เด่นประจำจังหวัด เพื่อพัฒนาต่อยอด และเป็นตัวแทนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมประกวดระดับประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับปี 2564 ได้แก่ ปลาตะเพียนสาน จากกลุ่มจักสานปลาตะเพียนสานใบลาน

เข้าประกวดระดับประเทศ ได้รับคัดเลือก

ผลิตภัณฑ์ปลาตะเพียนสานใบลาน ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อเข้าร่วมประกวดระดับประเทศ ได้มีการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นปลาตะเพียนหอมที่มีลวดลายอัตลักษณ์ของจังหวัด โดยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการ KBO จังหวัด

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการสร้างสรรค์สินค้าใหม่ เป็นปลาตะเพียนที่แตกต่างจากเดิมที่ผลิตขายอยู่ทั่วไป มีการพัฒนากระบวนการในการสร้างกลิ่นหอม เพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีผู้สร้างสรรค์มาก่อน หรือที่เรียกว่า นวัตกรรมสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนาโดยใส่กลิ่นน้ำปรุงอโยธยา ไว้ภายในตัวปลา และกลิ่นสังเคราะห์จากดอกไม้ธรรมชาติ ผสมผสานเข้ากับหมึกที่เขียนลงในตัวปลา กลิ่นสังเคราห์จะอยู่ได้นาน สามารถถูเบา ๆ บริเวณลวดลายตัวปลา จะได้กลิ่นหอมจากดอกไม้ธรรมชาติ เช่น ดอกมะลิ นอกจากนั้นทำให้ปลาตะเพียนมีเสน่ห์มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยการออกแบบลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการตัวเล่าเรื่องราว และถ่ายทอดงานศิลปะ ผสมผสานงานหัตถกรรมไทย เช่น ลวดลายเมืองโบราณ ลวดลายดอกโสน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สนใจผลิตภัณฑ์ สอบถามที่ พัฒนาชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศูนย์ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชั้น 6 อาคาร 7 ชั้น ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โทร. 035 336542