จับตาโควิด-19 รอบใหม่กระทบ SME อาการโคม่าเพิ่ม เว้นส่งออกสดใส

จับตาโควิด-19 รอบใหม่กระทบ SME อาการโคม่าเพิ่ม เว้นส่งออกสดใส

โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ส.อ.ท. เผยผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบ SME อาการหนักเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว บริการและอุตฯ ต่อเนื่อง ย้ำซอฟต์โลน ธปท.ดีขึ้นแต่ก็ยังมีผู้เข้าไม่ถึงอีกเพียบ แนะต้องใช้กลไกวิถีใหม่ยึดกรอบเดิมๆ ไม่ได้ ขณะที่ภาคส่งออกปีนี้มาแรงแซงโค้งหลัง ศก.ยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ และจีนทิศทางสดใส

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่มีแนวโน้มจะส่งผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว บริการ ร้านอาหาร และที่เน้นตลาดในประเทศกลายเป็นผู้ป่วยหนักมากขึ้น เนื่องจากขาดรายได้ในการประคองธุรกิจทำให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องมีสูง และทางปฏิบัติบางส่วนยังไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนแม้ว่าล่าสุดรัฐจะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วก็ตาม ดังนั้น ภาครัฐมีความจำเป็นจะต้องหามาตรการอัดฉีดสภาพคล่องโดยเร่งด่วน

“เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ที่กระทบหนักคือภาคท่องเที่ยว บริการและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การแพร่ระบาดโควิด-19 สองรอบที่ผ่านมาก็กระทบแล้วเจอรอบใหม่ซึ่งพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายแห่งโดยเฉพาะ กทม.เป็นสีแดงเข้ม ทำให้รัฐใช้มาตรการควบคุมแบบกึ่งล็อกดาวน์ พวกนี้ยิ่งถูกซ้ำเติมไปอีก หากเทียบกับผู้ป่วยโควิด-19 เวลานี้เอสเอ็มอีกลายเป็นจากติดเชื้อเริ่มอาการหนักต้องได้เครื่องช่วยหายใจซึ่งก็คือต้องอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเพื่อให้อยู่รอด แม้ซอฟต์โลนจะปรับเกณฑ์และทำให้การปล่อยมีเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มากนักเพราะสถาบันการเงินก็ย่อมต้องดำเนินงานแบบปลอดภัยไว้ก่อน รัฐเองคงต้องดูวิธีอัดฉีดแบบฉุกเฉินหรือ New Normal ที่ไม่ได้ยึดกรอบเดิมๆ เพราะโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องภาวะปกติ” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับภาคการส่งออกทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีภาพรวมถือว่าสดใสและจะเป็นภาคเดียวที่จะเข้ามาประคองเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้อย่างมีศักยภาพสุด เนื่องจากมีสัญญาณบวกจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่เป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1-2 ของโลกมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากการเร่งระดมฉีดวัคซีนโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ทำได้เร็วกว่าแผนประกอบการมาตรการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ จำนวนมาก ซึ่ง 2 ประเทศเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ดังนั้น จึงทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกปี 2564 จะเติบโตจากปีก่อนได้ 4-6%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุปสรรคการส่งออกสำคัญที่ทั่วโลกเผชิญรวมถึงไทยเกี่ยวกับการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้ต้นทุนการส่งออกไทยปรับตัวสูงขึ้นจากค่าระวางเรือและสถานการณ์นี้คาดว่าจะคลี่คลายได้ปลายปี แต่ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยที่เคลื่อนไหวระดับ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐที่อ่อนตัวลงจากช่วงต้นปีเฉลี่ย 4% สามารถนำไปชดเชยผลกระทบต้นทุนจากค่าระวางเรือที่สูงได้