การวางแผนการตลาดเพื่อเตรียมพร้อมภาวะการตลาดที่ผันแปร

การวางแผนการตลาดเพื่อเตรียมพร้อมภาวะการตลาดที่ผันแปร

นำเสนอโดย ธีรพงศ์ ประดิษฐ์กุล

นับวันการทำธุรกิจของเรานั้นจะยากขึ้น สาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่อาจจะคาดเดาได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจากภัยธรรมชาติ สงครามระหว่างประเทศ อันเกิดได้จากทั้งทางธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ การแข่งขันเพื่อให้อยู่รอดในภาวะเช่นนี้ทำให้เราต้องมองหาวิธีป้องกัน หลายองค์กรก็มองถึงการตลาดที่เปรียบเหมือนลูกธนูที่ต้องแหวกอากาศออกไปให้ถึงเป้าหมายอย่างแม่นยำที่สุด ในฉบับนี้ผมได้รวบรวมเนื้อหาเรื่องการวางแผนการตลาด มาให้ท่านผู้อ่านได้มีความเข้าใจให้ถูกต้องและเตรียมพร้อมเสมอกับการที่จะต้องเจอสิ่งใหม่ ๆ หลังจากโรคระบาดโควิด-19 ได้บรรเทาลง เพราะไม่มีทางที่โรคระบาดนี้จะหายไปจากมนุษย์ ดีที่สุดคือ การเตรียมพร้อมทั้งด้านการตลาดและด้านการผลิตให้พร้อมรับมือกับภาวะที่ไม่คาดคิด ในฉบับนี้จึงขอเสนอการวางแผนการตลาดมาให้ท่านสมาชิกได้อ่าน

การวางแผนการตลาด

ถ้าท่านคิดจะทำธุรกิจ สิ่งที่จำเป็นประการแรก และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการประกอบธุรกิจ หรือ กิจกรรมใด ๆ ก็แล้ว ก็คือ กิจกรรมทางด้านการตลาด ทุก ๆ วัน ท่านควรจะแบ่งเวลาให้กับกิจกรรมทางด้านการตลาด อย่างน้อยวันละ 2 – 3 ชั่วโมง แต่ก่อนที่ท่านจะเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการตลาด สิ่งแรกที่ท่านจะต้องทำให้เสร็จก่อนก็คือ การวางแผนการตลาด การเขียนแผนการตลาดจะทำให้ท่านมองเห็นภาพที่ชัดเจนว่า ท่านจะจัดการเป้าหมายของงานทางด้านการตลาดของท่านอย่างไร เพื่อให้เป็นการง่ายต่อการเขียนแผนการตลาด แนวทางต่อไปนี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจแก่ท่าน แนวทางเหล่านี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่ การวิจัย หรือ สำรวจทางการตลาด จนถึงขั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาเขียนเป็นแผนการตลาด แนวทางในการเขียนแผนการตลาดประกอบไปด้วยส่วน ๆ ดังต่อไปนี้

คำแนะนำเบื้องต้นในการวางแผนการตลาด

ท่านทราบหรือไม่ว่า แผนการตลาด เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดต่อความสำเร็จของธุรกิจหนึ่ง ๆ ธุรกิจใด ๆ ก็ตามแต่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือ ใหญ่ ที่ประสบผลสำเร็จในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่มีการวางแผนการตลาดอย่างดีเยี่ยม บริษัทใหญ่มีแผนการตลาดที่หนาหลายร้อยหน้า หรือ บริษัทเล็ก ๆ อาจมีเพียง หก ถึง สิบหน้า นอกจากจะมีแผนการตลาดแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ ยังมีวงรอบในการทบทวนแผนการตลาดอีกด้วย อย่างน้อยทุก ๆ 3 เดือน แต่ถ้าจะให้ดีมีการทบทวนทุก ๆ เดือน การทบทวนแผนการตลาดอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ธุรกิจของท่านทราบว่า ท่านได้เดินทางไปตามเป้าหมายหรือไม่

แผนการตลาดควรจะถูกกำหนดเป็นแผนการตลาดที่ครอบคลุมระยะเวลา 1 ปี ในกรณีของธุรกิจขนาดเล็ก แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การวางแผนทางด้านการตลาดต้องมีระยะเวลาที่นานขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ว การมองภาพทางการตลาดอย่างต่ำ ต้องมองออกไปในอนาคตอย่างน้อย 2 – 4 ปี เป็นอย่างต่ำ โดยเพ่งเล็งปีปัจจุบันเป็นหลักและปีที่จะมาถึงเป็นหลักเวลาอย่างน้อยที่ท่านจะใช้ในการวางแผนการตลาดไม่ควรต่ำกว่า 2 เดือน ถึงแม้ว่า แผนการตลาดของท่านจะมีเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ

การพัฒนาแนวคิดทางด้านการตลาด ถือได้ว่าเป็นงานที่ค่อนข้างหนักหนาพอสมควรสำหรับธุรกิจหนึ่ง ๆ เนื่องจากแผนการตลาด ต้องการข้อมูลมากมาย ที่จะต้องนำมาใช้ในการตัดสินใจในการกำหนดทิศทางของธุรกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานที่มีความท้าทายค่อนข้างสูงเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในธุรกิจหนึ่ง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการตลาด เนื่องจากแผนการตลาดนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกส่วนในองค์กรธุรกิจการวางแผนการตลาด การไม่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงขององค์กรธุรกิจหนึ่ง ๆ ไม่ว่าธุรกิจนั้นจะมีขนาดเล็ก หรือ ขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม การรวบรวมข้อมูล และความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ทางด้านการเงิน, การผลิต, บุคลากร, ผู้ร่วมธุรกิจ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้องค์กรธุรกิจนั้น สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้าภายใต้ทิศทางด้านการตลาดที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนการตลาดจะทำให้แผนการตลาดมีข้อมูลที่ค่อนข้างตรงกับความเป็นจริง และการที่จะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก นอกเหนือไปจากนั้น ยังทำให้มองเห็นโอกาสทางด้านการตลาดใหม่ๆ ได้อีกด้วย แต่ในกรณีของธุรกิจขนาดเล็ก เจ้าของธุรกิจ จำเป็นจะต้องมีมุมมองที่หลากหลาย หรือ ต้องทำหน้าที่หลายอย่างในเวลาเดียวกัน

ต่อไปเราจะมาพูดถึงความสัมพันธ์ของแผนการตลาดและแผนธุรกิจ หรือ กลยุทธ์ทางธุรกิจ แผนธุรกิจจะกล่าวถึงธุรกิจหนึ่งในลักษณะเป็นภาพรวม หรือ อะไรที่ต้องทำ และ อะไรที่ไม่ควรทำ รวมไปถึงเป้าหมายสูงสูดของธุรกิจนั้น ๆ โดยกล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องของสถานที่ในการทำธุรกิจ, บุคลากร, การวางแผนทางด้านการเงิน, พันธมิตรทางธุรกิจ และอื่น ๆ หรือ อาจจะกล่าวได้ว่า แผนธุรกิจนั้นเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญทางธุรกิจ ของธุรกิจหนึ่ง ๆ ดังนั้นแผนการตลาดก็คือ ส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ เนื่องจากว่า ข้อมูลต่าง ๆ ในแผนการตลาดคือ ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์แล้ว จากแผนธุรกิจนั่นเอง

ประโยชน์ของแผนการตลาด

1. ทำให้องค์กรธุรกิจมีเป้าหมาย

แผนการตลาดจะทำให้บุคคลกรของท่านมีเป้าหมายในการทำงาน การมีเป้าหมายจะทำให้บุคลากรแล้ว ทั้งตัวท่านมีพลังในขับเคลื่อนนาวาทางธุรกิจของท่านไปสู่จุดมุ่งหมายอย่างมีส่วนร่วม ธุรกิจบางธุรกิจไม่นำเป้าหมายทางการตลาดมาสร้างประโยชน์ในการขับเคลื่อนบุคลากร องค์กรธุรกิจเคลื่อนตัวไปอย่างไร้รสชาติ การให้บุคลากรของท่านมีส่วนร่วมในการวางแผนการตลาดและตั้งเป้าหมาย จะทำให้เกิดพลังอย่างมหาศาล บุคลากรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ในเรื่องรายละเอียดในทางด้านการเงิน และเขาเหล่านั้นจะเข้าใจ และตื่นตาตื่นใจกับแผนการตลาดที่มีเป้าหมายที่เด่นชัด ที่จะสร้างให้เกิดความท้าทายอย่างสูงต่อการที่จะทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จ

2. ทำให้องค์กรมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ

ไม่ว่าแผนอะไรก็แล้วแต่ในโลกนี้ ไม่มีแผนการที่สามารถคาดการณ์เรื่องในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ถูกต้องทุกอย่าง ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ในเวลาอีก 12 เดือนข้างหน้า หรือ อีก 5 ปีข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้น และเกิดขึ้นอย่างไร และนี้แหละ คือ เสน่ห์ที่เย้ายวน องค์กรธุรกิจให้มีการวางแผนการตลาด และมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงจุดนั้น บางธุรกิจคิดว่า แผนการตลาดไม่จำเป็น การคิดในลักษณะนี้ คือ การนำพาธุรกิจของท่านไปสู่ความพินาศ การวางแผนการตลาดอาจจะไม่ถูกต้อง 100% อาจจะมีการคาดเคลื่อนจากเป้าหมายสัก 10 หรือ 20 % แต่ถ้าไม่วางแผนเลย ความผิดพลาดอาจจะมากกว่า 50% และนั่นหมายถึง ความอยู่รอดของธุรกิจของท่าน

3. เป็นคำสั่งในเชิงปฏิบัติขององค์กรธุรกิจ

แผนการตลาดที่ได้รับการจัดทำ แบบเป็นขั้นเป็นตอน จะเป็น ตัวชี้แนะสู่ความสำเร็จขององค์กรธุรกิจแบบเป็นขั้นเป็นตอน ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งมากความสำคัญมากกว่า แนวความคิดในเรื่องการตลาด ในการวางแผนการตลาดนั้น ท่านจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงลักษณะการจัดองค์กรธุรกิจของท่าน จากตัวท่านไปจนถึง พนักงานคนสุดท้าย และต้องแน่ใจว่า แผนการตลาดที่ท่านวางไว้ มีความสัมพันธ์กับการทำงานขององค์กรธุรกิจของท่าน ไม่ว่าองค์กรธุรกิจของท่านจะมีขนาดเล็ก หรือ ใหญ่แค่ไหนก็ตาม แผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้การมอบหมายงานของท่านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

4. เป็นหลักให้ท่านยึดถือในการดำเนินธุรกิจ

สิ่งที่สำคัญและถือว่าเป็นเส้นเลือดเส้นหลักขององค์กรธุรกิจก็คือ การเงิน และการเงินของท่าน จะต้องมีความสอดคล้องกับแผนการตลาดที่ท่านได้วางไว้ แผนการตลาดถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญทางธุรกิจที่ท่านใช้ในการชี้นำองค์กรธุรกิของท่านไปข้างหน้า

5. ทำให้ท่านเข้าใจสถานการณ์ในภาพรวมอยู่เสมอ

ในความยุ่งเยิงของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน บางสิ่งบางอย่างในความยุ่งเยิงนี้ ทำให้ท่านและบุคลากรของท่าน เกิดความสับสน และไขว้เขว ต่อสถานการณ์ทางธุรกิจที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการทบทวนสภาพธุรกิจ เป็นระยะ ๆ เพื่อให้ธุรกิจลงทาง การทบทวนธุรกิจด้วยการใช้แผนการตลาดเป็นเครื่องมือ จะให้องค์กรธุรกิจกลับเข้าสู่เส้นทางหลักที่ท่านได้วางแผนไว้

การสำรวจ และวิจัยการตลาด

ไม่ว่า ท่านจะเริ่มธุรกิจ หรือ ทำธุรกิจมาเป็นเวลานานแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ท่านจะต้องทราบอยู่ตลอดเวลาที่ท่านดำเนินธุรกิจก็คือ “ข้อมูลทางการตลาด”

จุดประสงค์หลักของการสำรวจและวิจัยการตลาด คือ การหาข้อมูลที่แท้จริงในเรื่องความต้องการของลูกค้า ซึ่งธุรกิจของท่านจะนำมาแก้ปัญหาธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ มีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ อาจถือได้ว่าข้อมูลทางการตลาด คือ ฐานรากของความสำเร็จยุคใหม่ของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจกิจใหม่ ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ท่านสามารถเห็นถึงช่องว่างทางการตลาด หรือ แม้กระทั้งการสร้างสินค้าให้เกิดความแตกต่างจากที่มีอยู่ในท้องตลาด

ไม่ว่าท่านจะใช้ข้อมูลทางการตลาดในอดีต, จากผลการทดลอง, จากการสังเกตการณ์ หรือ ทำการสำรวจด้วยแบบสอบถาม ข้อมูลเหล่านั้นล้วนมีที่มาจากแหล่งข้อมูล 2 แหล่งใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ ประการแรกก็คือ “ข้อมูลปฐมภูมิ” ซึ่งท่านสามารถหาได้ด้วยต้นเอง หรือ จ้างผู้อื่นให้หาให้ ข้อมูลในส่วนที่สอง ก็คือ “ข้อมูลทุติยภูมิ” หรือ ข้อมูลที่ได้จัดทำไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาจจะอยู่ในรูป สถิติ หรือ รายงาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ อาจถูกรวบรวมโดยหน่วยงานรัฐบาล หรือ สมาคม หรือ องค์กรที่ธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งท่านสามารถนำมาใช้ได้เลย

ข้อมูลปฐมภูมิ

ข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยตัวท่านเอง หรือ การจ้างให้ผู้อื่นทำนั้น ประกอบไปด้วยข้อมูลขั้นต้น และข้อมูลเฉพาะ ข้อมูลขั้นต้นจะช่วยให้กำหนดปัญหาที่เฉพาะเจาะจง และตามปกติจะเกี่ยวข้องกับการสัมภาษณ์แบบต้องรายละเอียด ในส่วนของข้อมูลเฉพาะ จะมีขอบเขตที่กว้างขึ้น และเป็นข้อมูลที่มาช่วยในการตอบคำตอบกับปัญหาหรือเป้าหมายที่ได้ถูกกำหนดไว้ในข้อมูลขั้นต้น ซึ่งในขั้นตอนการหาข้อมูลเฉพาะนั้นจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่า การหาข้อมูลขั้นต้น ก่อนที่จะทำการสำรวจหาข้อมูลปฐมภูมิ นั้นท่านจะต้องเตรียมการในเรื่องของวิธีการที่จะถามกับกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจเสียก่อน โดยปกติมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธีคือ

1. ไดเร็คเมล์

  • คำถามที่ใช้ใน ไดเร็คเมล์จะต้องสั้น และ ได้ใจความ
  • เช็คที่อยู่ให้ถูกต้อง
  • ความยาวของ ชุดคำถามไม่ควรเกินสองหน้ากระดาษ
  • อย่าลืมแนบจดหมายแนะนำที่บอกถึงจุดประสงค์ของการสำรวจ ในลักษณะมืออาชีพ
  • ให้ส่งฉบับที่สองเพื่อเป็นการเตือนความจำ สองสัปดาห์หลังจากส่งฉบับแรก และอย่าลืมซองตอบรับ ชนิดจ่ายไปรษณียากรแล้ว
  • แต่ตามปกติแล้ว ผลตอบรับจาก ไดเร็คเมล์ ค่อนข้างต่ำ บางครั้งก็น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์

2. โทรศัพท์

  • การสำรวจ ด้วยโทรศัพท์วิธีนี้เป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับผลการตอบรับ ต้นทุนของวิธีสำรวจด้วยโทรศัพท์นี้ จะอยู่ที่ประมาณหนึ่งในสามของวิธีสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งมีผลการตอบรับเฉลี่ย ไม่เกินสิบเปอร์เซ๊นต์
  • ในการเริ่มต้นของบทสนทนา ควรจะถามชื่อของผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ก่อน ถ้าในกรณีโทรไปสัมภาษณ์ที่บ้าน
  • อย่ากดปุ่มสัญญาณใด ๆ ที่โทรศัพท์ เพราะจะทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์วางหูได้
  • ถ้าเป็นไปได้ ควรจะติดตามผลเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
  • การสัมภาษณ์ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ห้ามข้ามขั้นตอน
  • ปกติแล้ว ผู้สัมภาษณ์ที่มีประสบการณ์จะสัมภาษณ์ได้ 10 คนต่อชั่วโมง

3. การสัมภาษณ์บุคคล : การสัมภาษณ์บุคคลแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

  1. การสัมภาษณ์แบบกลุ่ม : วิธีนี้ จะใช้ในธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะใช้ในการขั้นตอนระดมสมอง เพื่อหาแนวคิดในเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้า หรือ สินค้าใหม่ ๆ หรือ การศึกษาพฤติกรรมในการตัดสินใจซื้อสินค้าของกลุ่มเป้าหมาย
  2. การสัมภาษณ์เชิงลึก : การสัมภาษณ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ด้วยการใช้เทคนิคที่นำ Check List และไหวพริบปฏิภาณมาใช้ในการสัมภาษณ์
    มีข้อพิจารณาในการที่จะเลือกใช้การสำรวจชนิดไหน ดังต่อไปนี้

    • จดหมาย : ต้นทุนส่วนใหญ่ของจดหมายจะหมดไปกับการแบบสอบถาม, ซองจดหมาย, แสตมป์, จดหมายนำส่ง และเวลาที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอ, การจ้างทีมสำรวจ, และ อื่นๆ
    • ทรศัพท์ : ต้นทุนหลักๆ ของโทรศัพท์ ค่าจ้างคนที่จะโทรศัพท์ไปสัมภาษณ์, ค่าโทรศัพท์, การเตรียมคำถามที่จะถาม, เวลาในการสำรวจ และเวลาที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูลเหล่านั้น
    • การสัมภาษณ์บุคคล : ต้นทุนจะอยู่ ต้นทุนในการพิมพ์เอกสาร, ค่าจ้างคนไปสัมภาษณ์, เวลาในการสัมภาษณ์ และ เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอผลการวิเคราะห์
    • การสัมมนาเป็นกลุ่ม : ค่าจ้างในการจ้างผู้สัมภาษณ์ หรือ ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ และค่าใช้จ่ายในการนำคนเข้ามาสัมภาษณ์, ค่าเช่าสถานที่, เวลาที่ใช้ในการค้นคว้า, เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอ รวมไปถึงต้นทุนในการบันทึกการสัมมนา เช่น วีดีโอ เป็นต้น

ข้อมูลทุติภูมิ

ข้อมูลทุติยภูมิ หรือ ข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ซึ่งได้รับการรวบรวมโดย องค์กรต่างๆ เช่น องค์กรของรัฐ, สมาคมการค้าต่าง ๆ, สหภาพแรงงาน, ตัวแทนสื่อ, หอการค้าต่าง ๆ เป็นต้น ซึงข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในรูปของแผ่นพับ, จดหมายข่าว, นิตยสาร, หนังสือพิมพ์ และอื่น ๆ ข้อมูลทุติยภูมิจะช่วยให้ท่านประหยัดทั้งเงินและเวลา เนื่องจากท่านไม่ต้องไปเสียเวลาในการสำรวจด้วยตัวท่านหรือทีมงานของท่านเองข้อมูลทุตยภูมิสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ข้อมูลสาธารณะ : เป็นข้อมูลที่ได้มาง่ายที่สุด และประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกรวบรวมโดยองค์กรของรัฐ
  2. ข้อมูลทางการค้า : เป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามาก และตามปกติจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามแต่ก็ประหยัดกว่าการที่ท่านจะต้องทำการสำรวจด้วยทีมงานของท่านเอง ในการให้ได้ข้อมูลทั้งหมด ข้อมูลทางการค้า ปกติจะประกอบไปด้วย ข้อมูลจากองค์กรที่ทำการวิจัยข้อมูลเหล่านี้โดยตรง และ ข้อมูลที่ได้จากองค์กรการค้าต่างๆ
  3. ข้อมูลที่ได้จากสถานศึกษา : ในสถาบันการศึกษามีการวิจัย ดังนั้นจึงมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจมากมายสถาบันต่างๆ เกี่ยวกับ ธุรกิจขนาดกลางและย่อม เช่น สถาบัน SMEs มีแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ รวมทั้งมักจะอบรมและสัมมนาต่าง ๆ ที่มีประโยชน์มากมายสำหรับท่าน

ขอขอบคุณบทความจาก: www.bqiconsultant.com