กรณีศึกษา Pantone ผู้สร้างระบบ ให้กับเฉดสี

กรณีศึกษา Pantone ผู้สร้างระบบ ให้กับเฉดสี

โดย ลงทุนแมน

การอธิบายเฉดสีด้วยคำพูดนั้น ยากที่จะสื่อสารให้เข้าใจตรงกันได้ เพราะคนแต่ละคนก็รับรู้สีจากคำพูดได้ไม่เหมือนกัน ทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสี จึงมีภาษาสี ที่ใช้สื่อสารได้เข้าใจตรงกัน โดยหนึ่งในระบบสีที่ได้รับความนิยมสูงก็คือ “Pantone” แล้วเรื่องราวของ Pantone ที่กว่าจะมาเป็นภาษาสากลของสีนั้นเป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง…

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1950s ซึ่งนับเป็นยุคทองของนิตยสาร ที่เมืองนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา คู่พี่น้อง Mervin และ Jesse Levine ได้ก่อตั้งบริษัทเกี่ยวกับงานพิมพ์ ที่ชื่อว่า “M&J Levine”

ในปี 1956 Lawrence Herbert ที่เพิ่งเรียนจบด้านชีววิทยาและเคมี แต่ด้วยความที่เขามีความสนใจเรื่องสิ่งพิมพ์มานานแล้ว Herbert จึงได้มาสมัครเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ที่บริษัทแห่งนี้

งานประจำวันของเขาก็คือ การดูแลคลังสีและการผสมสี ทั้งสีแบบผงและสีหมึกสำหรับงานพิมพ์ Herbert ค้นพบว่าการสื่อสารเรื่องสีเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน
กว่าเขาจะผสมสีให้ได้ตรงกับแบบที่ได้รับคำสั่งมา ก็ต้องลองผสมสีแล้วทิ้งอยู่หลายรอบ กว่าจะพิมพ์งานออกมาให้ตรงกับแบบที่ต้องการ ก็ต้องพิมพ์แล้วทิ้งแล้วแก้ใหม่อยู่หลายครั้ง

Herbert จึงใช้ความรู้ทางเคมีที่เรียนมา นำมาใช้กับเรื่องสี โดยเริ่มจากสร้างระบบและมาตรฐานสีให้กับคลังสีของบริษัท เพื่อให้การสื่อสารเรื่องสีทำได้ง่ายขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนของสี ที่ต้องทิ้งจากการต้องลองผิดลองถูกหลายครั้งอีกด้วย

หลังจากทำงานไปได้ 6 ปี กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายงานพิมพ์และหมึกที่พนักงานพาร์ตไทม์คนนี้ดูแล กลับเป็นแผนกที่ทำกำไรให้บริษัท ขณะที่ฝ่ายอื่นยังมีผลขาดทุน

ในปี 1962 Herbert ได้ขอซื้อกิจการต่อจากคู่พี่น้อง Levine และเปลี่ยนชื่อเป็น “Pantone” แบบในปัจจุบัน ซึ่งชื่อนี้ก็มาจากคำว่า Pan ที่แปลว่า ทั้งหมด และ Tone ที่หมายถึงสี

หนึ่งปีให้หลัง Pantone ได้ให้กำเนิด “Pantone Matching System” หรือ “PMS” ซึ่งเป็นระบบสีเพื่อใช้สื่อสารกันได้แบบสากล

โดยการตั้งชื่อและระบุรหัส ที่เป็นตัวเลขเฉพาะของแต่ละเฉดสี เพื่อใช้ระบุถึงสีสีหนึ่งได้ทันที โดยเริ่มแรกมีอยู่ 500 สี และเพิ่มขึ้นมาจนมีมากกว่า 3,000 สีในปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้าที่จะมี Pantone ระบบสีมาตรฐานที่งานพิมพ์ใช้กันมาอย่างยาวนาน คือ ระบบ Cyan, Magenta, Yellow, Key หรือ CMYK ซึ่งเป็นการผสมสีมาจากสีพื้นฐาน 4 สี

แม้ว่าระบบดังกล่าวจะใช้งานได้ดีและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย แต่ระบบสี CMYK มีจุดอ่อนอยู่ที่ เฉดสีไม่ค่อยเสถียร เช่น สีของงานที่พิมพ์ออกมาจริงเพี้ยนไปจากสีที่ออกแบบไว้ในคอมพิวเตอร์ Pantone จึงเข้ามาช่วยเติมเต็มจุดอ่อนของสี CMYK เพราะผู้สั่งพิมพ์งาน สามารถระบุรหัสสี Pantone ที่ต้องการกับทางโรงพิมพ์ โรงพิมพ์ก็สามารถผสมสีตามรหัส Pantone ที่ต้องการขึ้นมาได้เลย

อย่างไรก็ตาม วิธีการแบบนี้ก็จะมีต้นทุนที่สูงกว่าการพิมพ์ด้วยระบบสี CMYK จึงเหมาะกับผู้ใช้งานที่ต้องการความแม่นยำของเฉดสีสูง และเป็นงานพิมพ์ที่ใช้จำนวนสีไม่มากจนเกินไป ซึ่งระบบสีของ Pantone ก็ผสมออกมาได้หลากหลายกว่า จึงครอบคลุมสีที่ได้จากระบบ CMYK ด้วย และยังสามารถแปลงไปเป็นรหัสของระบบสีอื่น อย่างเช่น RGB, HTML และ CMYK ได้อีกด้วย

ระบบสี PMS จะเหมาะกับงานจำพวกกราฟิก แพ็กเกจจิง สื่อดิจิทัล และงานสกรีน ในปี 1988 Pantone จึงเพิ่มระบบสีที่เหมาะกับงานจำพวกสิ่งทอและเสื้อผ้า การออกแบบตกแต่งภายใน หนัง สีทาบ้าน ไปจนถึงเครื่องสำอาง โดยใช้ชื่อว่า “Pantone Fashion, Home + Interiors System” หรือ “FHI”

ความนิยมของ Pantone ได้เข้าไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรมที่มีสีเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยความที่ Pantone เป็นระบบสีที่มีมาตรฐานและสามารถนำมาสื่อสารให้เข้าใจตรงกันได้ทันทีด้วยรหัสที่เป็นสากล ตัวอย่างเช่น สตูดิโอในนิวยอร์กได้ออกแบบและจะสั่งพิมพ์งานที่โตเกียว เพียงระบุว่าใช้สี Pantone 550 C ก็จะเข้าใจได้ตรงกันทันที ซึ่งถ้าอธิบายด้วยคำพูดว่าต้องการสีฟ้า ๆ เขียว ๆ อมเทา คงไม่มีทางนึกถึงสีเฉดเดียวกันได้ นอกจากความสะดวกในการสื่อสารแล้ว ระบบสีของ Pantone ยังทำให้สีของผลิตภัณฑ์จริง ตรงกับสีที่ออกแบบโดยไม่ผิดเพี้ยน และในทุกครั้งที่ผลิต จะให้สีที่เหมือนเดิมเป๊ะ

มาถึงตรงนี้ ทุกคนคงสงสัยว่า แล้วธุรกิจอย่าง Pantone มีรายได้มาจากอะไรบ้าง ?

อย่างแรกก็คือ การขาย Pantone Guide หรือสมุดรวมแถบเทียบเฉดสี ซึ่งจะมีหลายรูปแบบ อย่างเช่น Fan Deck สมุดทรงแคบและยาวที่คลี่ออกมาได้คล้ายกับพัด Color Bridge Guide Set สมุดใช้เทียบรหัสสี Pantone กับระบบสีอื่น เช่น RGB, HTML และ CMYK

อย่างที่สองก็คือ ค่า License จากซอฟต์แวร์โปรแกรมหลากหลายรูปแบบ ที่ให้บริการกับบริษัทที่เลือกใช้ระบบสีของ Pantone ซึ่งรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Adobe, Microsoft, Xerox และ Canon

อย่างที่สามก็คือ ค่าบริการให้คำปรึกษาเรื่องการใช้สีแก่บริษัทต่าง ๆ รวมถึงบริการคิดค้นสีใหม่ เพื่อสร้างสีที่เป็นอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ อย่างเช่น สีส้มของ Hermès, สีฟ้าของ Tiffany & Co. และสีเหลืองของ Minions

ซึ่ง Pantone ได้ก่อตั้ง Pantone Color Institute มาเพื่อให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ และองค์กรแห่งนี้ ยังรับหน้าที่ประกาศ “Pantone Color of the Year” ที่เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2000 เพื่อนำเสนอสีที่จะเป็นเทรนด์หลักของปีนั้น และสีนั้นก็มักกลายมาเป็นสีที่มีอิทธิพลต่อวงการออกแบบไปทั่วโลก

ด้วยความที่ Pantone ไม่ได้เพียงช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์อื่น แต่ยังมีอัตลักษณ์เองด้วย Pantone จึงสามารถขายผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์อย่างพวกแก้ว ขวดน้ำ สมุดโน้ต เคสสมาร์ตโฟน ที่เป็นลายตามรูปแบบของแถบสี Pantone ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ Pantone ยังมีโอกาสได้ร่วมออกสินค้าคอลเลกชันพิเศษกับแบรนด์ชื่อดังมากมาย อย่างเช่น เครื่องสำอาง Sephora, รองเท้า Nike, สมาร์ตโฟน OPPO และรถยนต์ KIA

ปัจจุบัน บริษัท Pantone ได้เข้าไปเป็นบริษัทในเครือของ Danaher บริษัทโฮลดิงขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มมาจากการที่บริษัท X-Rite เข้าซื้อกิจการ Pantone ในปี 2007 ด้วยมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ก่อนที่ปี 2012 Danaher ได้เข้ามาซื้อกิจการ X-Rite อีกที ถึงแม้ Pantone จะยังเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่มีการเปิดเผยงบการเงินต่อสาธารณะ แต่ก็มีการประเมินว่า Pantone มีรายได้ต่อปีโดยเฉลี่ยมากกว่าพันล้านบาท

เรื่องราวของ Pantone ก็ทำให้คิดได้ว่า “สี” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใช้กันได้ทั่วไป ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ แต่ผู้ที่ตั้งชื่อให้กับเฉดสีเหล่านั้น และพัฒนาให้กลายเป็นระบบสากล ก็สามารถสร้างมันเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาลระดับพันล้านต่อปี เลยทีเดียว


ที่มา: Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียนที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download