การพิมพ์บรรจุภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซต (1)

การพิมพ์บรรจุภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซต (1)

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

เทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซต เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ใช้ในการผลิตสิ่งพิมพ์ได้หลากหลายประเภทสิ่งพิมพ์ที่ได้จากการพิมพ์ออฟเซตมีให้พบเห็นมากมายในชีวิตประจำวันปัจจุบัน ทั้งสิ่งพิมพ์ทั่วไปและสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร หนังสือหรือ โปสเตอร์ แผ่นพับ แผ่นปลิว ฟอร์มทางธุรกิจ รวมถึงการพิมพ์ฉลากและบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องกระดาษต่าง ๆ นอกจากนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซตยังใช้ในการผลิตสิ่งพิมพ์ประเภทการ์ดพลาสติก กล่องพลาสติกสำหรับเครื่องสำอางค์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์โลหะ เช่น กระป๋อง 2 ชิ้น กระป๋อง 3 ชิ้น กระป๋องอลูมิเนียมต่าง ๆ ดังแสดงในภาพที่ 1

1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต

การพิมพ์ออฟเซตเป็นระบบการพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ได้ด้วยชั้นหมึกพิมพ์ที่บางและให้คุณภาพงานพิมพ์ที่คมชัด การถ่ายทอดภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ลงบนวัสดุใช้พิมพ์จะมีการถ่ายทอดภาพผ่านผ้ายาง ทำให้ได้คุณภาพงานพิมพ์ที่ดี เนื่องจากผ้ายางมีความหยุ่นและนุ่ม สามารถเก็บรายละเอียดในการพิมพ์ได้มาก อย่างไรก็ตาม การพิมพ์งานออฟเซตให้มีคุณภาพดีได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้ปฏิบัติงานพิมพ์ที่มีความสามารถและความชำนาญงาน สามารถควบคุมและปรับความสมดุลระหว่างน้ำและหมึกได้ตลอดระยะการพิมพ์ และพิมพ์งานโดยให้มีชั้นหมึกพิมพ์บางที่สุดที่จะเกิดความอิ่มตัวของสีพิมพ์ได้มากที่สุด

2. หลักการพิมพ์ออฟเซตและสิ่งพิมพ์ที่ได้จากการพิมพ์ออฟเซต

หลักการพิมพ์ออฟเซต จะประกอบด้วยหลักการสำคัญ 2 หลักการ คือ

1. หลักการหมึกและน้ำไม่รวมตัวกัน แม่พิมพ์ออฟเซตเป็นแม่พิมพ์พื้นราบ การแยกบริเวณภาพ (printing areas) และบริเวณที่ไม่ใช่ภาพ (non-printing areas) จะใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่น้ำมัน (หมึก) และน้ำ ไม่สามารถรวมตัวกันได้ สามารถแสดงได้ในภาพที่ 2

2. หลักการ 3 โม ระบบการพิมพ์ออฟเซต จะใช้ผ้ายางเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดภาพ ดังนั้นเครื่องพิมพ์ออฟเซตจะประกอบด้วยโมแม่พิมพ์ (plate cylinder) โมผ้ายาง (blanket cylinder) และโมกดพิมพ์ (impression cylinder) ดังแสดงในภาพที่ 3

3. เครื่องพิมพ์ออฟเซต 
เครื่องพิมพ์ออฟเซตมีหลายประเภท การแบ่งประเภทของเครื่องพิมพ์สามารถใช้เกณฑ์การแบ่งหลายอย่าง เช่น แบ่งตามขนาดของวัสดุที่สามารถพิมพ์ได้ แต่ในที่นี้จะแบ่งประเภทของเครื่องพิมพ์ออฟเซตตามลักษณะของวัสดุใช้พิมพ์ที่ป้อนเข้าเครื่องพิมพ์ โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

3.1 เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น
เป็นเครื่องพิมพ์ออฟเซตที่ใช้พิมพ์งานโดยวัสดุใช้พิมพ์ที่ป้อนเข้าเครื่องพิมพ์มีลักษณะเป็นแผ่น ซึ่งจะใช้ในการพิมพ์วัสดุประเภทกระดาษ พลาสติก และโลหะ โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องพิมพ์ให้มีอุปกรณ์เสริมพิเศษต่างๆ เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานมีความรวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น อุปกรณ์ล้างผ้ายาง ล้างโมกดพิมพ์แบบอัตโนมัติ ความเร็วที่ใช้ในการพิมพ์จะสามารถพิมพ์ได้ความเร็วสูงสุดถึง 20,000 แผ่นต่อชั่วโมง สำหรับขนาดของวัสดุที่นำมาใช้พิมพ์ เครื่องพิมพ์ได้มีการพัฒนาให้สามารถพิมพ์วัสดุที่นำมาใช้พิมพ์ที่มีขนาดหน้ากว้างถึง 107 เซนติเมตร สำหรับในการพิมพ์งานทั่วไป เครื่องพิมพ์จะมีป้อมพิมพ์ 4 สี ตามแม่สีทางการพิมพ์ แต่สำหรับงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ เครื่องพิมพ์ที่ใช้จะมีป้อมพิมพ์อย่างน้อย 5 สี เพื่อการพิมพ์สีพิเศษ และจะมีหน่วยเคลือบเงาด้วยน้ำยาอยู่บริเวณท้ายเครื่องพิมพ์ ดังแสดงในภาพที่ 4

3.2 เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนม้วน
เป็นเครื่องพิมพ์ออฟเซตที่ใช้พิมพ์งานโดยวัสดุใช้พิมพ์ที่ป้อนเข้าเครื่องพิมพ์มีลักษณะเป็นม้วน นิยมใช้พิมพ์งานที่ต้องการจำนวนพิมพ์สูง เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนม้วนสำหรับงานพิมพ์ทั่วไป จะมีอุปกรณ์เสริมพิเศษต่อจากส่วนพิมพ์เพื่อทำงานหลังพิมพ์ เช่น การตัด การพับ การปรุ การเจียน เป็นต้น ดังนั้นงานพิมพ์ที่ได้จึงพร้อมนำไปเก็บเล่มและทำเล่มต่อไป แม้เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนม้วนสามารถพิมพ์งานที่มีจำนวนพิมพ์มากด้วยเร็วสูง และสามารถทำงานหลังพิมพ์ได้โดยต่อเนื่องจากงานพิมพ์ แต่เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนม้วนใช้พิมพ์สิ่งพิมพ์ที่มีขนาดและรูปแบบที่จำกัดกว่าเครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น เนื่องจากมีระยะช่วงตัดที่แน่นอน นอกจากนี้ยังเกิดการสูญเสียของวัสดุใช้พิมพ์มากกว่าในขั้นตอนงานเตรียมพร้อมพิมพ์ ดังแสดงในภาพที่ 5

สำหรับเครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนม้วนขนาดเล็ก (narrow web) จะมีขนาดหน้ากว้างในการพิมพ์ตั้งแต่ 35 – 45 เซนติเมตร โดยนิยมนำมาใช้ในการพิมพ์ฉลาก ซึ่งจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ทำสำเร็จหลังพิมพ์แตกต่างกันไป เช่น การปั้มปรุ ปั้มไดคัท หรือการปั้มทอง เป็นต้น ดังแสดงในภาพที่ 6

การผลิตงานพิมพ์กล่องด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซต

เทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซตได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตกล่องบรรุภัณฑ์ ทั้งจากวัสดุที่เป็นกระดาษและพลาสติก สิ่งที่สำคัญ คือ การเลือกเครื่องพิมพ์ที่มีลักษณะที่เหมาะสมในการผลิตงาน เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น จะมีลักษณะโครงสร้างของเครื่องพิมพ์ 2 ลักษณะด้วยกัน ดังรูปที่ 7

จากรูป แสดงให้เห็นว่า เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่นทั้งสองเครื่องนี้ มีความแตกต่างกันที่โมกดพิมพ์ เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น โดยปกติจะสามารถนำมาใช้พิมพ์วัสดุพิมพ์ที่มีความหนาตั้งแต่ 0.05 – 0.50 มิลลิเมตร จึงได้มีการออกแบบโมกดพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ให้มีความแตกต่างกัน เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่นที่มีโมแม่พิมพ์ โมผ้ายาง และโมกดพิมพ์ที่มีขนาดเท่ากัน จะถูกออกแบบมาเพื่อพิมพ์งานบนวัสดุพิมพ์ที่มีความหนาตั้งแต่ 0.05 – 0.25 มิลลิเมตร สำหรับเครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่นที่มีการออกแบบให้โมกดพิมพ์ใหญ่กว่าเป็นสองเท่าของโมเพลท จะถูกออกแบบมาเพื่อการพิมพ์งานบนวัสดุพิมพ์ที่มีความหนาตั้งแต่ 0.25 – 0.50 มิลลิเมตร โมกดพิมพ์ที่มีขนาดสองเท่าของโมเพลท จะทำให้การโค้งตัวของกระดาษลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดโมพิมพ์ที่มีขนาดเท่ากับโมกดพิมพ์ ลดการเกิดปัญหาทางการพิมพ์ อาทิเช่น ท้ายกระดาษเกิดรอยฟาดกับตัวเครื่องพิมพ์ ดังนั้นหากต้องการพิมพ์งานบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่อง ควรเลือกใช้เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่นที่มีขนาดโมกดพิมพ์ใหญ่เป็นสองเท่าของโมแม่พิมพ์