“นวัตกรรมกินได้” บรรจุภัณฑ์ลดขยะพลาสติก

“นวัตกรรมกินได้” บรรจุภัณฑ์ลดขยะพลาสติก

ไม่ทิ้งขยะพลาสติกไว้ให้เป็นภาระโลก

“ขยะพลาสติก” ล้นโลก ทำให้นักคิดต้องปลดปล่อยไอเดียดี ๆ ออกมาสร้างนวัตกรรมให้รักษ์โลกมากขึ้น โดยหยิบจับสิ่งของเครื่องใช้ใกล้ตัวที่คนมักบริโภค แล้วทิ้งให้เป็นขยะพลาสติกอยู่บ่อยครั้ง มาออกแบบแพคเก็จจิ้ง และใช้วัสดุใหม่ให้ดีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นช้อนอาหารที่กินได้พร้อมข้าว ไปจนถึงถุงชอปปิ้งที่ย่อยสลายด้วยการชงน้ำร้อนแล้วดื่ม เรียกว่าเป็น “นวัตกรรมกินได้” ที่ไม่ทิ้งขยะพลาสติกไว้ให้เป็นภาระโลก

| “Ooho !” หยดน้ำกินได้

เรียกว่า “ขวดน้ำดื่ม” แทบจะเป็นหนึ่งในขยะพลาสติกอันดับต้นๆ ของโลกก็ว่าได้ ไม่ว่าจะไปที่ไหน เราก็พบการใช้ขวดน้ำอยู่เสมอ ทำให้สองผู้ก่อตั้งบริษัท Skipping Rocks Lab อย่าง “Rodrigo Garcia Gonzalez” และ “Pierre Paslier” ได้คิดค้นบรรจุภัณฑ์ “Ooho!” ขึ้นมา เพื่อช่วยลดขยะจากขวดพลาสติก

Ooho ! คือ การเปลี่ยนการใช้ “ขวดน้ำพลาสติก” มาเป็น “แคปซูล” กินได้ ซึ่งทำมาจากสารสกัดสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ที่มีความยืดหยุ่นสูง และมีชื่อเรียกว่า “Notpla” มันจะย่อยสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไป โดยตัวบรรจุภัณฑ์จะมีรูปลักษณ์คล้ายกับหยดน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเราสามารถกัดแล้วกินเข้าไปได้ทั้งอัน หรือจะทิ้งเปลือกนอกให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ ภายใน 4-6 สัปดาห์ก็ได้

อีกทั้งมันยังบรรจุซอส หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เช่นกัน โดยเริ่มใช้งานครั้งแรกที่งานวิ่งมาราธอน “London Marathon 2019” มีการแจกแคปซูลน้ำดื่มไปมากกว่า 30,000 แคปซูล ซึ่งมันช่วยลดจำนวนขยะขวดพลาสติกในงานวิ่งได้มากถึง 20,000 ขวดเลยทีเดียว

| ผงวิเศษแก้ “น้ำเสีย” ให้เป็น “น้ำสะอาด”

สิ่งนี้อาจไม่ใช่นวัตกรรมกินได้โดยตรง แต่มันสามารถเปลี่ยน “น้ำเสีย” ให้กลับมากินได้ ! โดยมีชื่อว่า “PolyGlu” ผงแป้งที่ทำมาจาก “ถั่วเหลืองหมัก” ซึ่งให้คุณสมบัติจับตัวเป็นก้อนได้ดี และยังช่วยดักสิ่งสกปรกในน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเศษดิน หรือแบคทีเรียต่างๆ ก็ตาม จนหลายๆ คนยกให้มันเป็น “ผงวิเศษ” เลยทีเดียว
โดยวิธีการทำงานของมัน คือ การเทผงแป้งลงไปในน้ำเสีย แล้วผงจะจับสิ่งสกปรกให้แยกตัวออกจากน้ำ ก่อนจะจมลงข้างใต้ ซึ่งผงแป้ง 1 กรัม จะช่วยบำบัดน้ำเสียให้กลับมาใช้ได้มากถึง 5 ลิตร แต่น้ำที่ได้นั้นจะไม่สามารถเอามาดื่มได้ทันที ต้องนำไปต้มก่อนหนึ่งครั้ง ถึงจะนำมาดื่มได้

นอกจากนี้นวัตกรรม PolyGlu ถูกใช้ในประเทศอินเดีย ประเทศโซมาเลีย และประเทศแทนซาเนีย ซึ่งประสบปัญหากับโรคภัยต่างๆ ที่เกิดมาจากสิ่งสกปรกในน้ำเสีย อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดได้

| ดื่มเบียร์แถม “แพคเก็จจิ้ง” ไว้เคี้ยวเล่น

แพคเก็จจิ้งเบียร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแบบแพ็ค 6 กระป๋อง ส่วนใหญ่จะมีพลาสติกแบบห่วงกลมๆ คล้องเอาไว้ ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้วจะถูกทิ้งลงทะเลอยู่บ่อยครั้ง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังทำร้ายเหล่าสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ เพราะพวกมันเข้าใจว่า “พลาสติก” คือ “อาหาร” จึงทำให้โรงผลิตเบียร์ “Saltwater Brewer” ต้องลุกขึ้นมาทำห่วงแพ็คกระป๋องชื่อว่า “E6PR (Eco Six Pack Rings)” ซึ่งสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ 100%

โดยแพคเก็จจิ้ง “E6PR” ทำมาจากข้าวบาร์เล่ ข้าวสาลี และกากธัญพืชเป็นหลัก ซึ่งเวลาดื่มเบียร์แล้วอยากกินของขบเคี้ยวก็ฉีกออกมากินแกล้มเบียร์ได้ แต่มันไม่มีรสชาติ หรือสารอาหารใด ๆ เลย อีกทั้งสัตว์ทะลก็สามารถกินได้ และไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าเกิดทิ้ง E6PR อย่างถูกต้องด้วยการฝังกลบ มันจะกลายเป็นปุ๋ยต่อไปได้

| กินช้อน “3 ข้าว”

เมื่อ “Narayana Peesapathy” นักวิชาการชาวอินเดียเห็นถึงปัญหาช้อนพลาสติก ที่สร้างขยะให้กับแดนภารตะมากถึง 120,000 คันต่อปี แถมพวกมันใช้เวลาย่อยสลายนานโข จึงได้ผันตัวมาทำ “Bakeys” อุปกรณ์กินได้บนโต๊ะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นช้อน ส้อม หรือตะเกียบ ที่ทำมาจากข้าว 3 ชนิด คือ ข้าวฟ่าง ข้าว และข้าวสาลี ซึ่งไม่ได้ใช้เพียงแค่ตักอาหารเข้าปากอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็น “สแน็ก” ให้เคี้ยวเล่นหลังกินเสร็จได้ด้วย

แถมช้อนส้อมกินได้ มีรสให้เลือก 3 แบบ คือ รสเครื่องเทศ รสหวาน และรสธรรมดา ซึ่งแต่ละแบบจะมีรสชาติเสริมอื่นๆ เช่น ชินนาม่อน กระเทียม พริกไทย แคร์รอต หรือน้ำตาล โดยแบบธรรมดาจะไม่มีรสชาติ ส่วนเทกเจอร์คล้ายกับแครกเกอร์ไม่มีผิด อีกทั้งยังมีอายุใช้งานได้นานถึง 24 เดือน แต่ยิ่งนานความกรอบก็จะยิ่งลดลง หรือถ้าไม่มีการใช้งานเลย มันจะย่อยสลายตามธรรมชาติภายใน 3 - 7 วัน

นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศอินเดียมีการใช้ช้อนพลาสติกซ้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งการใช้ช้อนกินได้ จะช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดการปนเปื้อนจากพลาสติกเข้าสู่ร่างกายของคนกินได้อีกด้วย

| ถุงชอปปิง “ละลายน้ำ”

ปกติเรามักนำเหล่า “พลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic)” กลับมาใช้ซ้ำเป็นถุงจ่ายตลาดบ้าง หรือถุงขยะบ้าง แต่จะเป็นยังไงถ้าถุงชอปปิงเหล่านั้นสามารถเอาไป “ชงน้ำดื่ม” เพื่อย่อยสลายมันได้

“Avani Eco” บริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ได้มองเห็นปัญหาขยะถุงพลาสติกล้นคลองใน “อินโดนีเซีย” ประเทศบ้านเกิด และรัฐฯ ต้องคอยขุดลอกคลองอยู่บ่อยครั้ง จึงได้คิดค้นพลาสติกที่ชื่อว่า “Bio-Cassava” หรือหลายคนอาจคุ้นจากแคมเปญ “I AM NOT PLASTIC” ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% หรือจะใช้วิธีดื่มมันเข้าไปเลยก็ได้

โดยพลาสติกเหล่านี้ไม่เป็นอันตราย เพราะมันทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง น้ำมันพืช และเรซินธรรมชาติ ซึ่งสามารถย่อยสลายภายใน 150 วัน หรือจะเอาไปใช้ใส่ของชอปปิงก็ได้ หรือถ้าใครอยากแอดวานซ์ขึ้นมาหน่อยก็หยิบถุงพลาสติกมาละลายน้ำอุ่นแล้วยกดื่ม เพราะมันไม่มีรสชาติ ไม่มีกลิ่น แถมยังไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลอีกด้วย


ที่มาและเครดิตภาพประกอบ: https://urbancreature.co/edible-innovation/