การลดต้นทุนเชิงวิศวกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 7

 

การลดต้นทุนเชิงวิศวกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 7

(Engineering cost reduction For the printing and packaging industry, part 7)

วิรัช เดชาสิริสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบโรงงานอัตโนมัติและการลดต้นทุนในโรงงานและขบวนการผลิต[email protected]

ในเนื้อหาฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงการดูแลรักษาระบบนิวเมติกและระบบไฮโดรลิค (Pneumatic and Hydraulic Preventive Maintenance Systems) ที่ติดตั้งและใช้งานอยู่ในโรงพิมพ์ โรงงานต่าง ๆ

ซึ่งเนื้อหาได้อธิบายถึงการดูแลรักษา ชุดปั๊มลม (Air Compressor), ชุดทำลมแห้ง (Air Dryer), ชุดกรองลมหลัก (Main Line Air Filter), และถังพักลม (Air Storage / Receiver Tank) ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถ้าเป็นโรงงาน โรงพิมพ์ ขนาดใหญ่หรือมีการติดตั้งแบบได้มาตรฐาน จะมีห้องแยกต่างหากออกมาจากไลน์ผลิต หรือจากเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ และต่อท่อลมไปหาเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ สำหรับโรงงาน โรงพิมพ์ขนาดเล็ก ที่ค่อย ๆ เพิ่มเครื่องจักร หรือขยายขนาดออกไปเรื่อย ๆ อาจมีใช้ปั๊มลมขนาดเล็กติดตั้งไว้ข้างเครื่องจักรก็มี

ในเนื้อหาฉบับนี้จะกล่าวถึงการดูแลรักษา ท่อเมนลม ท่อลมย่อย ที่ต่อจากถังพักลมและเมนลมเพื่อเข้าใช้งานที่เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ลมที่ติดตั้งและใช้งานอยู่ในเครื่องจักร เช่น

    • ชุดกรองลม ชุดปรับแรงดันลม ชุดหล่อลื่นระบบลม (FRL Combination Unit)
    • วาล์วควมคุมด้วยไฟฟ้าหรือเปลี่ยนทิศทางลม ( Solenoid valve)
    • วาล์วควบคุมด้วยมือ (Mechanical Valve)
    • วาล์วเท้าเหยียบ (Foot Valve)
    • กระบอกลม (Air Cylinder)
    • มอเตอร์ลม (Air Motor)
    • เช็ควาล์ว (Check Valve)
    • ชุดลดเสียงลม (Air silencer)
    • ท่อหรือสายลม (Air Tube)
    • ข้อต่อท่อลม (Air Fitting)
    • ยางดูดสูญญากาศพร้อมอุปกรณ์ (Suction Cup and Accessories)
    • อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการดูแลรักษา

อุปกรณ์ตัวที่ 1 ท่อเมนลม

ซึ่งท่อเมนลมนี้ได้อธิบายในรายละเอียดต่าง ๆ ในฉบับที่ 122 ไว้มากแล้ว ซึ่งท่อเมนลมในส่วนนั้นเป็นท่อเมนลมที่ติดตั้งอยู่ในร่มหรือภายในอาคาร

สำหรับท่อเมนลมที่ติดตั้งอยู่ในร่มหรือภายในอาคารมีข้อแนะนำให้ต้องดูแลดังนี้:

  1. ตรวจเช็ครอยรั่วตามข้อต่ออยู่เป็นประจำ เพราะถ้าลมรั่วจะเกิดการสูญเสียค่าไฟฟ้าตามมาหรือแรงดันของลมจะตกลง
  2. บริเวณจุดที่ติดตั้งชุดระบายน้ำแบบอัตโนมัติ (Auto Drain) ในท่อเมนลมต้องตรวจเช็คอยู่เป็นประจำ เพราะถ้าชุดระบายน้ำอัตโนมัติชำรุด หรือเกิดการอุดตันจะทำให้มีน้ำขังอยู่ในท่อและติดไปกับลมอัดเข้าไปในเครื่องจักร จะทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ลมทำงาน ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้เครื่องจักรผลิตงานออกมามีคุณภาพที่ไม่ดี และน้ำที่ขังอยู่ในท่อ จะทำให้ผนังท่อที่เป็นโลหะเกิดสนิมและผุกร่อนได้
รูปแสดงชุดระบายน้ำอัตโนมัติ (Auto Drain) ที่ติดตั้งอยู่ที่ชุดกรองบริเวณท่อเมนลม

สำหรับท่อเมนลมที่ติดตั้งอยู่ภายนอกอาคาร ตากแดด ตากลมต้องดูแลดังนี้:

  1. ต้องหมั่นตรวจสอบการรั่วบริเวณข้อต่อ หน้าแปลน เกลียวต่าง ๆ เช่นเดียวกัน
  2. ต้องตรวจสอบชุดระบายน้ำอัตโนมัติ (ถ้ามี) อยู่เป็นประจำ
  3. ต้องตรวจสอบสีที่ใช้ทาท่อว่าชำรุดหรือไม่ ถ้าสีชำรุดต้องทาสีใหม่เพื่อป้องกันสนิม ส่วนท่อที่ชุบกัลวาไนซ์มา ต้องตรวจสอบว่าผิวท่อที่ผ่านการชุบมาสภาพยังดีอยู่หรือไม่ ถ้าสภาพเริ่มมีสนิมควรทาสีทับ
  4. ท่อเมนลมที่อยู่นอกอาคาร ถ้าเป็นโรงงานขนาดใหญ่และต้องการให้ผิวท่อด้านนอกไม่เกิดสนิมและไม่เกิดการกลั่นตัวของลมที่ทำให้เกิดน้ำภายในท่อ จะใช้ฉนวนหุ้มท่อและใช้แผ่นอลูมิเนียมหรือสแตนเลสหุ้มทับอีกชั้นหนึ่ง ก็สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

อุปกรณ์ที่ 2 ชุดกรองลม ปรับแรงดันลม และชุดหล่อลื่นระบบลม (Filter Regalator Lubricator / FRL)

ซึ่งอุปกรณ์ชุดนี้จะถูกติดตั้งในเครื่องจักรที่มีการใช้ลมอัดสำหรับอุปกรณ์นิวเมติกทุกเครื่อง ซึ่งอุปกรณ์ชุดนี้ทำหน้าที่กรองลมอัด ระบายน้ำที่ติดมากับลมอัด ปรับแรงดันลมให้ได้แรงดันตามที่เครื่องจักรต้องการ และช่วยปล่อยน้ำมันหล่อลื่นให้ติดไปกับลมอัดไปหล่อลื่นชุดวาล์วลม ทั้งแบบ Manual Valve และ Solenoid Valve,หล่อลื่นชุดกระบอกลม (Air Cylinder),หล่อลื่นมอเตอร์ลม (Air Motor) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องการการหล่อลื่น

สำหรับในอุปกรณ์ที่ต้องใช้ลมอัดที่ปราศจากน้ำมันหล่อลื่น ต้องใส่หรือติดตั้งชุดกรองลมและปรับแรงดันลมเท่านั้นโดยไม่ต้องมีชุดหล่อลื่น

สำหรับการดูแลรักษาชุดกรองลม ปรับแรงดันลมและหล่อลื่นระบบลมมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้:

  1. ในชุดกรองลม หมั่นสังเกตุดูด้านล่างของกระเปาะว่ามีน้ำขังอยู่หรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าชุดระบายน้ำอัตโนมัติ (Auto Drain) อุดตันหรือชำรุดต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไข ถ้าไม่เช่นนั้นจะมีน้ำปนไปกับลมและทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ลมอัดในเครื่องจักรชำรุดหรือทำงานได้ไม่สมบูรณ์

    ชุดระบายน้ำอัตโนมัติทำงานสมบูรณ์ดีไม่มีน้ำขังอยู่ที่ก้นกระเปาะ
  2. ตรวจเช็คชุดปรับแรงดันลมเป็นระยะว่ายังทำงานเป็นปกติหรือไม่ โดยปรับหมุนที่ชุดปรับแรงดันลมและสังเกตดูว่าเข็มที่ Pressure Gauge เปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนแปลงถือว่าปกติ แต่ถ้าเข็มชี้นิ่งไม่เปลี่ยนแปลงแสดงว่าชุดปรับแรงดันลมชำรุด ลองเอาชุดใหม่มาเปลี่ยนดู ถ้าปรับแล้วเข็มชี้มีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่าชุดเก่าชำรุดแล้วก็เปลี่ยนใช้ชุดใหม่
  3. ชุดหล่อลื่นต้องหมั่นตรวจเช็คระดับน้ำมันอยู่เป็นประจำ อย่าให้ระดับน้ำมันอยู่ต่ำกว่าระดับที่กำหนด ถ้าเห็นว่าระดับเหลือต่ำมากแล้วก็เติมน้ำมันให้อยู่ระดับสูงสุดที่กำหนด เพราะถ้าน้ำมันในกระเปาะของชุดหล่อลื่นหมดไปนานโดยไม่ได้เติมน้ำมันใหม่เข้าไป จะทำให้อุปกรณ์ที่ต้องการหล่อลื่นชำรุดเสียหายได้ เช่น วาล์วลม กระบอกลม มอเตอร์ลมและอุปกรณ์ลมอื่น ๆ ที่ต้องการการหล่อลื่น

    รูปแสดงเครื่องหมายบอกระดับน้ำมันหล่อลื่นของชุดหล่อลื่นระบบลมสูงสุดและต่ำสุด
  4. ต้องคอยหมั่นตรวจเช็คการรั่วไหลของลมอัดบริเวณชุด กรองลม ปรับแรงดันลมและหล่อลื่นระบบลมอยู่เป็นประจำ เพราะว่าถ้าลมรั่วไหลมากก็จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าในการผลิตลม หรือการทำงานของเครื่องจักรจะติดขัดได้ และลมที่รั่วไหลออกมาจะพาน้ำ หรือน้ำมันหล่อลื่นออกมาภายนอกด้วย จะทำให้บริเวณทำงานหรือเครื่องจักรบริเวณนั้นสกปรกหรืออาจทำให้สินค้าหรือวัตถุดิบชำรุดหรือเสียหายได้ ถ้าตรวจพบก็ทำการแก้ไขซ่อม หรือเปลี่ยนอะไหล่ชุดซ่อมให้เรียบร้อย
  5. รูปแสดงที่มีลูกศรชี้คือบริเวณที่พบการรั่วไหลของลมอัดในชุด กรองลม ปรับแรงดันลมและหล่อลื่นลมอัดบ่อยที่สุด ถ้าตรวจพบก็ซ่อมให้มีสภาพที่ดีเหมือนเดิม

อุปกรณ์ตัวที่ 3 วาล์วควมคุมลมอัด

ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีหน้าที่คล้าย ๆ กันคือควบคุมลมอัดว่าจะให้ลมอัดไปทำอะไร เช่นไปเข้ากระบอกลม มอเตอร์ลม หัวเป่าลม หัวลมดูด รางสไลด์ ชุดแอร์คลัท แอร์เบรค และอื่นๆอีกหลายอย่าง

สำหรับลักษณะของวาล์วที่ใช้งานมีอยู่ด้วยกันหลายแบบคือ

  1. วาล์วมือโยก (Manual Valve)
  2. วาล์วเท้าเหยียบ (Foot Valve)
  3. โซลินอยด์วาล์ว (Solenoid Valve)
  4. วาล์วแบบลูกเบี้ยวหรือแขนลูกล้อ (Cam or Roller lever valve)
    1. รูปแสดงวาล์วแบบมือโยกและลักษณะการต่อประกอบเพื่อการใช้งาน
    2. รูปแสดงวาล์วแบบเท้าเหยียบ (Foot Valve) และการต่อประกอบสำหรับใช้งาน
    3. รูปแสดงโซลินอยด์วาล์ว (Solenoid Valve)แบบต่างๆ

      3.1 รูปแสดงการนำโซนอยด์วาล์วไปใช้งานในลักษณะต่างๆ

สำหรับการดูแลรักษาเพื่อให้วาล์วควบคุมลมอัดมีอายุการใช้งานที่ยาวนานและไม่ชำรุดง่ายหรือบ่อยมีข้อแนะนำดังนี้:

1.อุปกรณ์วาล์วทุกชนิดต้องการลมที่สะอาดปราศจากน้ำ ฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมติดมากับลม ถ้าพบปัญหาให้ย้อนไปหาสาเหตุจากลมที่ถูกส่งมาที่วาล์ว ถ้าพบให้แก้ไข
2.ภายในตัววาล์วจะมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่ได้หลายชิ้นส่วน และชิ้นส่วนเหล่านั้นต้องการสารหล่อลื่นที่ติดปนมากับลมด้วยในปริมาณที่พอดี ถ้าขาดไปหรือมามากไปให้ไปดูในชุดหล่อลื่นที่ปล่อยน้ำมันพร้อมลม ถ้าพบปัญหาให้ทำการแก้ไข
3.คอยหมั่นตรวจเช็คบริเวณจุดข้อต่อ (Fitting) สำหรับเสียบต่อสายลม และในตัววาล์วลมเอง ว่ามีลมรั่วหรือไม่ ถ้าตรวจพบให้ซ่อมแซมแก้ไขหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใหม่ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้สิ้นเปลืองลมอัดและจะเสียค่าไฟฟ้ามากและอาจทำให้อุปกรณ์ทำงานไม่ได้หรือติดขัด

อุปกรณ์ตัวที่ 4 กระบอกลม (Air Cylinder)

สำหรับกระบอกลมเป็นอุปกรณ์ของระบบนิวเมติกที่ถูกนำมาใช้ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ มีเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นการดูแลรักษาอย่างดีและถูกต้องก็จะช่วยให้กระบอกลมมีอายุการใช้งานที่ยาวนานและช่วยลดการสูญเสียต่าง ๆ เช่นประสิทธิภาพของเครื่องจักรโดยรวม ลดลมรั่วและลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและเปลี่ยนกระบอกลมใหม่ และยังช่วยให้สินค้าที่ถูกผลิตออกมาจากเครื่องจักร เครื่องพิมพ์มีคุณภาพสูงไปด้วย

 

 

ข้อมูลอ้างอิง
ตามประสบการณ์จริงของผู้เขียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า