เทคโนโลยีการพิมพ์บรรจุภัณฑ์

 

เทคโนโลยีการพิมพ์บรรจุภัณฑ์

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริรองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างพลิกผัน หรือ Disruption technology ได้เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังwคม เศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก Disruption technology จนทำให้เกิดการ “หยุดชะงัก” ในการดำเนินธุรกิจ เห็นได้จากการปิดตัวของสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ในปัจจุบันได้มีการมุ่งเน้นในการผลิตงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์มากขึ้น โดยเทคโนโลยีการพิมพ์ในปัจจุบัน ได้มีความก้าวหน้า สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า รวมถึงการพัฒนาทางด้านวัสดุและเทคโนโลยีทางด้านสารสนเทศ ทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ สามารถนำไปสู่การออกแบบและพิมพ์บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (smart packaging) ได้

ความหมายของบรรจุภัณฑ์

บรรจุภัณฑ์ หมายถึง วัสดุต่างๆ เช่น กระดาษ แก้ว โลหะ หรือพลาสติก ที่ถูกนำมาขึ้นรูปและนำมาบรรจุสินค้าต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีการบรรจุที่แตกต่างกันไป บรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่หลายประการ โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

 

บทบาทและหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์

1. บทบาทและหน้าที่ตามกายภาพ

    • การรองรับสินค้า (Contain) บรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่รองรับสินค้าให้รวมกันอยู่เป็นกลุ่ม หรือตามรูปร่างภาชนะ ทำให้สะดวกในการเก็บรักษา ขนส่งลำเลียง และการบริโภค
    • การป้องกัน (Protection) บรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่ป้องกันคุ้มครองสินค้าที่อยู่ภายในจากความเสียหายด้วยเหตุต่าง ๆ ทั้งจากสภาพแวดล้อม มนุษย์ สัตว์ การขนส่งโยกย้ายหรือเหตุอื่น ๆ เพื่อให้สินค้าคงสภาพเดิมเหมือนเมื่อออกจากแหล่งผลิต
    • ทำหน้าที่รักษา (Preserve) คุณภาพสินค้าให้คงเดิมตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคคนสุดท้าย
    • การขนส่ง (Transportation) บรรจุภัณฑ์ช่วยทำให้การขนส่งสินค้าไปยังตลาด เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ใช้ต้นทุนที่เหมาะสม

2. บทบาทและหน้าที่ทางการตลาด

    • การบ่งชี้ (Identify) บรรจุภัณฑ์บอกให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้าคืออะไร เป็นสินค้าของบริษัทใด เป็นสินค้าตราใด (Brand) ตรงที่ผู้บริโภคต้องการหรือไม่
    • การให้ข้อมูล (Inform) บรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของฉลาก (Label) ช่วยให้ข้อมูลกับผู้บริโภคด้านต่าง ๆ เช่น สรรพคุณ ส่วนผสม วิธีการใช้ ข้อควรระวังและอื่น ๆ ทั้งเพื่อการจูงใจ สร้างความมั่นใจ ร่วมทั้งการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายในสินค้าบางประเภท เช่น อาหารและยา
    • การแสดงตัวของสินค้า (Presentation) คือ บรรจุภัณฑ์ สื่อความหมาย บุคลิก ภาพพจน์ การออกแบบและสีสันแห่งคุณภาพ ความคุ้มค่าต่อผู้บริโภค / ผู้ใช้ / ผู้ซื้อ ให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ชัดแจ้ง สร้างความมั่นใจ
    • ดึงดูดความสนใจ (Consumer Appeal) และช่วยชักจูงในการซื้อสินค้า หีบห่อจะทำหน้าที่ขายและโฆษณาสินค้าควบคู่กันไปในตัวด้วย

 

ประเภทของบรรจุภัณฑ์

ประเภทบรรจุภัณฑ์จำแนกตามการลักษณะของการใช้งานได้ 3 ประเภท ดังนี้

  1. บรรจุภัณฑ์ชั้นใน หรือปฐมภูมิ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ซื้อจะได้สัมผัสเวลาที่จะบริโภค เป็นบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ชั้นในสุดติดกับตัวสินค้า เช่น ซองน้ำตาล
  2. บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง หรือทุติยภูมิ เป็นบรรจุภัณฑ์ ที่รวบรวมบรรจุภัณฑ์ชั้นแรกเข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันหรือจัดจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น หรือเพื่อความสะดวกในการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษของหลอดยาสีฟัน ถุงพลาสติกใส่ซองน้ำตาล 50 ซอง เป็นต้น
  3. บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สาม หรือตติยภูมิ หน้าที่หลักของบรรจุภัณฑ์ชั้นนี้ก็เพื่อป้องกันสินค้าระหว่างการขนส่ง และเป็นเครื่องมือช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวก ถูกต้องมากยิ่งขึ้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง “Distribution Packaging”

 

ประเภทของบรรจุภัณฑ์จำแนกตามวัสดุ ได้ดังนี้

1. เยื่อและกระดาษ มีการใช้กันมากที่สุด และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ พิมพ์ตกแต่งสร้างความสวยงามได้ง่าย สะดวกต่อการขนส่ง เนื่องจากพับได้ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

2. พลาสติก มีน้ำหนักเบา ราคาไม่แพง ป้องกันการซึมผ่านของอากาศและก๊าซได้ในระดับหนึ่ง ในบางชนิดกันความร้อนได้ด้วย

3. แก้ว เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความเฉื่อยต่อการทำปฏิกิริยากับสารเคมีชีวภาพต่างๆ เมื่อเทียบกับวัสดุบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ และรักษาคุณภาพสินค้าได้ดีมาก ข้อดีของแก้วคือ มีความใส และทำเป็นสีต่าง ๆ ได้ สามารถทนต่อแรงกดได้สูงแต่เปราะแตกง่าย สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง

4. โลหะ ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ วัสดุที่ใช้มี 2 ชนิด คือ

    • เหล็กเคลือบดีบุก เป็นบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงป้องกัน อันตรายจากสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศ สามารถใช้บรรจุอาหารได้ดี เนื่องจากสามารถปิดผนึกได้สนิทและฆ่าเชื้อได้ด้วยความร้อน
    • อะลูมิเนียม มักจะใช้ในรูปเปลวอะลูมิเนียมหรือกระป๋อง มีน้ำหนักเบา อีกทั้งมีความแข็งแรง ทนต่อการซึมผ่านของอากาศ ก๊าซ แสง และกลิ่นรสได้ดี ในรูปของเปลวอะลูมิเนียมมักใช้เคลือบกับวัสดุอื่น