นิพัฒน์ จงเจริญศิริ บริษัท SYSCON Labels & Packaging

นิพัฒน์ จงเจริญศิริ

บริษัท SYSCON Labels & Packaging

นิพัฒน์ จงเจริญศิริ หรือ ชิน เรียนจบปริญญาตรีด้าน IT (หลักสูตรนานาชาติ) จากสถาบันเทคโนยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท วิศวกรรมอัตโนมัติ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโท เทคโนโลยีการพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เป็นลูกชายคนเล็กที่โตมากับโรงพิมพ์ของตระกูลผู้ผลิตงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ครอบครัวและญาติ ๆ หลายคนก็จะทำธุรกิจในกลุ่มสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เช่นกัน จึงมีโอกาสได้เห็นการทำงานของผู้ใหญ่ และการพัฒนาของเทคโนโลยีการพิมพ์เป็นลำดับมาโดยตลอด

ประมาน 6 ปีก่อนในช่วงที่ช่วยงานธุรกิจของครอบครัว ได้มีโอกาสรับผิดชอบในส่วนการพัฒนา packaging ด้วยระบบการพิมพ์ดิจิตอล ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่ในเวลานั้นที่การผลิตงานกลุ่ม flexible packaging ยังจำเป็นต้องผลิตแบบ mass production ด้วยระบบพิมพ์กราเวียร์อยู่ โดยเป็นรายแรกๆที่ผลิตซองลามิเนตด้วยระบบพิมพ์นี้ และเป็นรายแรกที่เริ่มผลิตฉลากฮีททรานสเฟอร์ด้วยระบบพิมพ์ดิจิตอลในประเทศไทย จากนั้นจึงมีการพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่บ้านถึงการจัดตั้งบริษัท SYSCON Labels & Packaging ขึ้นมา เพื่อต่อยอดนวัตกรรมและเทคนิคการพิมพ์นี้ไปยังผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการไปถึงงานผลิตฉลากและบรรจุภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ เช่น pressure sensitive label (sticker), multi-layer label, in-mold label (IML) และ shrink sleeves รวมถึง flexible packaging หลากหลายรูปแบบ ที่ผลิตด้วยระบบการพิมพ์อื่น ๆ ด้วย เช่น เฟล็กโซ่ กราเวียร์ และการพิมพ์แบบคอมบิเนชั่น

หลังเรียนจบป.ตรี ได้เข้าทำงานที่ software house แห่งหนึ่ง ในตำแหน่งเป็น web programmer อยู่ประมาน 1 ปี โดยสมัยเรียนและทำงานข้างนอกก็มีเข้ามาช่วยงานด้าน IT ให้กับธุรกิจของทางบ้านบ้าง เช่น ออกแบบระบบ computer network และทำเว็บไซต์บริษัท หลังจากเข้ามาเริ่มเรียนรู้งานที่บ้านเต็มตัวก็ถูกมอบหมายให้ดูแลในส่วนงานฝ่ายเทคนิคต่าง ๆ เช่น งาน maintenance และ งาน R&D รวมทั้งหมดประมาน 8 ปี ก่อนที่จะมาตั้งบริษัท SYSCON Labels & Packaging ในเวลาต่อมา

บทบาทและหน้าที่หลักที่ซิสคอน จะเน้นเรื่องงานพัฒนาระบบและผลิตภัณฑ์ แต่ในส่วนของลูกค้ารายหลักของบริษัท พยายามใกล้ชิดกับลูกค้าและดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดด้วยตัวเอง

 

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงาน / แนวทางในการแก้ไข

จากมุมมองของผู้ผลิตฉลากและบรรจุภัณฑ์ ได้เห็นว่าปัญหาส่วนใหญ่ของงาน เกิดจากการใช้คนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต ซึ่งการทำงานโดยมีคนเป็นผู้ปฏิบัติงาน จะทำให้งานมีข้อจำกัดด้านความเร็ว ความแม่นยำ และเกิดข้อผิดพลาดในการผลิตได้ง่ายกว่าการทำงานของเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ คนจึงควรทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมและแก้ปัญหาเวลาเกิดความไม่สอดคล้องต่าง ๆ ในระบบมากกว่าเป็นผู้ปฏิบัติงานเอง และในอีกด้านหนึ่ง คือคนทำหน้าที่ดูแลและพัฒนาระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพทางการผลิตให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เป้าหมายการทำงานในปัจจุบัน

พัฒนาศักยภาพบริษัทและทีมงานให้มีความพร้อม เพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยมาตรฐานระดับสากล ซึ่งรวมถึงด้านการพัฒนาสินค้า การสร้างนวัตกรรม โดยอาจพิจารณาได้จากการได้รับรางวัลต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น Thai Print Award และ Asian Packaging Excellence Award ตามที่เคยได้รับในปีที่ผ่าน ๆ มา ในส่วนของการบริหารจัดการและการพัฒนาระบบภายในองค์กร ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล อาทิเช่น ISO9001, GMP, HACCP และพร้อมพัฒนาให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ISO14001 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

แนวคิด หรือคติในการทำงาน

ทำงานให้มีความสุข เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานร่วมกันในทีม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำงานในแบบที่เรารู้สึกมีความสุขไปกับมันด้วย ซึ่งการที่จะมีความสุขได้ ก็ต้องมาจากการที่ได้ทำในสิ่งที่เราถนัด มี passion เพราะถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ถึงแม้มันจะหนักหรือเจอโจทย์ยาก ๆ แต่เราก็จะรู้สึกสนุกไปกับมัน ยิ่งถ้าทำด้วยความตั้งใจแล้วเกิดความสำเร็จ เราก็จะเกิดความภูมิใจ ในขณะเดียวกัน งานที่เราชอบก็ต้องสร้างรายได้ให้กับบริษัทเราได้มากพอ มีความต้องการในตลาด และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ด้วยคุณค่าและราคาที่สมเหตุสมผล

 

มุมมองอนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

ถ้ามองจากตลาดในประเทศในกลุ่มงานพิมพ์ฉลากและบรรจุภัณฑ์ที่ดูแลอยู่ มองว่าตลาดยังใหญ่อยู่ แต่การแข่งขันก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านต้นทุน คุณภาพของงาน และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
ทางด้านของเทคโนโลยีการพิมพ์ การพัฒนาของเทคโนโลยี IT ระบบ automation และ AI ที่จะเข้ามาผนวกรวมกับเครื่องจักรและกระบวนการทำงานของเรา จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่เข้ามาเสริมศักยภาพการผลิตและสามารถประยุกต์ใช้กับงานพิมพ์ของเราได้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เช่น การนำ QR code หรือเทคโนโลยี AR (augmented reality) มาประยุกต์ใช้ ทำให้งานพิมพ์ของเรามีกลไกหรือมิติในการใช้งานมากขึ้น ช่วยสร้างสีสันให้กับงานในอุตสาหกรรมของเราได้มากทีเดียว

 

เข้ามาเป็นสมาชิก Young Printer Group ได้อย่างไร

ผ่านการชักชวนเข้ากลุ่มโดยเพื่อน ๆ สมาชิกสมาคม แต่ยังไม่มีโอกาสได้รับผิดชอบตำแหน่งงานใด ๆ ในสมาคม ส่วนมากเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมและช่วยเหลือเพื่อน ๆ ในการจัดกิจกรรมของกลุ่ม YPG บ้างในบางโอกาส

 

สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกลุ่ม Young Printer

ได้สังคมที่มีเพื่อนในอุตสาหกรรมเดียวกัน สามารถแลกเปลี่ยนแนวคิด ช่วยเหลือเกื้อกูลการทำงานระหว่างกันได้ มีโอกาสได้เจอมิตรภาพดี ๆ จากการร่วมช่วยเหลืองานในสมาคม และจากกิจกรรมดี ๆ ต่าง ๆ ที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ ในสมาคมร่วมกันจัดขึ้น

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า