สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต (7)

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต
การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต (7)

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
[email protected]

ในการพิมพ์งานด้วยระบบการพิมพ์ออฟเซต ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตสีงานพิมพ์จะประกอบด้วย ค่าความดำ ค่าสี ค่าเม็ดสกรีนบวม ค่าการทับซ้อนกันของหมึกพิมพ์ ค่าความเปรียบต่างงานพิมพ์ และสภาพแวดล้อมในการพิมพ์งาน ซึ่งจะหมายถึง อุณหภูมิ ความชื้น และเครื่องพิมพ์ออฟเซต ปัจจุบันโรงพิมพ์จะมีเครื่องพิมพ์ออฟเซตที่ใช้ในการผลิตงานไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง และปัญหาที่พบกันโดยมาก คือ สีของงานพิมพ์ที่ได้จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะมาจากลักษณะของเครื่องพิมพ์ และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีการสร้างคุณลักษณะทางการพิมพ์ (Print Characteristics) ที่แตกต่างกัน

คุณลักษณะทางการพิมพ์ (Print Characteristics)

เครื่องพิมพ์ออฟเซตทุกเครื่องจะมีคุณลักษณะทางการพิมพ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างที่ใช้ในการพิมพ์ โดยหลัก คือ วัสดุที่นำมาพิมพ์ ค่าสีของหมึกพิมพ์ การเกิดเม็ดสกรีนบวม ลำดับสีทางการพิมพ์ และสมดุลสีเทา (grey balance)

1. วัสดุที่นำมาพิมพ์ เป็นปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงถึงในการหาคุณลักษณะทางการพิมพ์ วัสดุที่นำมาพิมพ์ เช่น กระดาษ พลาสติก หรือโลหะที่นำมาพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ออฟเซต จะต้องมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันหรือเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ในการพิมพ์งานด้วยกระดาษ กระดาษที่นำมาพิมพ์นั้น ควรมีค่าสีของกระดาษที่ใกล้เคียงกัน หากกำหนดค่าสีของกระดาษตามมาตรฐาน ISO 12647-2 จะสามารถกำหนดได้ดังนี้

สำหรับการพิมพ์ลงบนพลาสติกหรือโลหะที่มีการเคลือบสีขาว ต้องทำการวัดค่าสีขาวที่ใช้ในการเคลือบหรือพิมพ์รองพื้น เพื่อกำหนดค่าสีของสีขาว และเพื่อใช้ในการควบคุมการผลิตสีของงานพิมพ์ ให้ได้สีที่เหมือนกัน และได้คุณลักษณะงานพิมพ์ที่เหมือนกันนั้นเอง

2. ประเภทของหมึกพิมพ์ ในการพิมพ์ออฟเซต หมึกพิมพ์ออฟเซตที่มีการใช้งานในปัจจุบันมีหลากหลายยี่ห้อด้วยกัน แต่ละยี่ห้อจะมีการใช้ผงสีและส่วนผสมที่แตกต่างกัน ทำให้การผลิตสีที่ได้จากหมึกพิมพ์แต่ละยี่ห้อ จะมีค่าสีมีแตกต่างกันไป และส่งผลทำให้คุณลักษณะทางการพิมพ์ที่ได้จะมีความแตกต่างกันไป การกำหนดคุณลักษณะทางการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์แต่ละเครื่อง โรงพิมพ์จึงต้องกำหนดวัสดุที่ใช้พิมพ์ และหมึกพิมพ์ที่ใช้ หมึกพิมพ์ที่ทางโรงพิมพ์กำหนด ควรมีการตรวจสอบค่าความหนืดของหมึก ค่าสี ของหมึกที่นำมาใช้งาน เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานของหมึกพิมพ์ที่ใช้ในโรงพิมพ์ต่อไป

3. ค่าความดำในการพิมพ์งาน ค่าความดำเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการกำหนดคุณลักษณะทางการพิมพ์ เนื่องจากเป็นค่าที่ใช้ในการกำหนดความหนาของชั้นหมึกพิมพ์ในการพิมพ์งาน ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวมของงานพิมพ์ และทำให้คุณลักษณะทางการพิมพ์มีความแตกต่างกันของแต่ละเครื่องพิมพ์ โดยปกติในการพิมพ์งานจะทำการวัดค่าความดำของสี CMYK เพื่อใช้ในการควบคุมคุณภาพในการพิมพ์งาน หากมีการพิมพ์งานที่มีสีพิเศษ ส่วนใหญ่จะมีแถบสีพิเศษนั้นๆ อยู่ในแถบควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์เช่นเดียวกัน ค่าความดำในการพิมพ์ที่แตกต่างกันในการพิมพ์งานจะมีผลมาจากความหนาของชั้นหมึกพิมพ์นั้นเอง ซึ่งหมึกพิมพ์แต่ละยี่ห้อ จะสามารถแสดงค่าความดำที่เท่ากันได้แต่อาจจะใช้ความหนาของชั้นหมึกพิมพ์ที่ไม่เท่ากัน

ค่าความดำที่เหมาะสมที่ได้จากการพิมพ์งานด้วยเครื่องพิมพ์ออฟเซต จะมีค่าความดำที่แตกต่างกัน เนื่องจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน เช่น วัสดุใช้พิมพ์ (กระดาษ, พลาสติก), ลักษณะของเครื่องพิมพ์ (ระบบการทำแห้ง, ส่วนรองรับกระดาษ) หมึกพิมพ์ที่ใช้ (หมึกพิมพ์ UV, หมึกพิมพ์ธรรมดา) ยกตัวอย่างเช่น กระดาษแต่ละชนิดมีการซึมตัวของหมึกพิมพ์ที่แตกต่างกันไป เช่น หมึกพิมพ์บนกระดาษเคลือบผิว (กระดาษอาร์ต) จะซึมตัวลงในกระดาษได้น้อยกว่ากระดาษไม่เคลือบผิว (กระดาษปอนด์) ทำให้ค่าความดำของหมึกพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยความหนาของชั้นหมึกพิมพ์ที่เท่ากัน มีค่าความดำที่แตกต่างกัน

ดังนั้นการตั้งค่าความดำมาตรฐานสำหรับแต่ละโรงพิมพ์ จึงไม่จำเป็นต้องมีค่าความดำมาตรฐานที่เหมือนกัน เนื่องจากแต่ละโรงพิมพ์มีการใช้วัสดุ เครื่องพิมพ์ รวมถึงหมึกพิมพ์ที่ใช้ ที่แตกต่างกัน แต่โรงพิมพ์ควรจะมีการทดลองและทดสอบหาค่าความดำที่เหมาะสมในการพิมพ์งานบนวัสดุแต่ละประเภท ด้วยหมึกพิมพ์แต่ละยี่ห้อ เพื่อให้ได้ค่าความดำมาตรฐานในการพิมพ์งาน และสามารถตั้งค่าความดำดังกล่าวให้เป็นค่าความดำมาตรฐานของโรงพิมพ์ (In-house Standard) เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ของโรงพิมพ์ต่อไป

4. ค่าการเกิดเม็ดสกรีนบวม เม็ดสกรีนบวม เป็นลักษณะปกติของการพิมพ์ออฟเซต เนื่องจากการพิมพ์ออฟเซต เป็นการถ่ายทอดภาพจากโมเพลท ลงสู่โมผ้ายาง และสู่วัสดุใช้พิมพ์ การถ่ายทอดภาพจากกระบวนการดังกล่าว จะมีการใช้แรงกดและส่งผลโดยตรงต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวม แต่หากมีการปรับตั้งแรงกดที่ไม่ถูกต้องระหว่างโมเพลทลงสู่โมผ้ายาง หรือโมผ้ายางลงสู่วัสดุใช่พิมพ์ จะทำให้เกิดการบวมตัวของเม็ดสกรีนที่มากเกินไป และทำให้เกิดปัญหาในการพิมพ์งาน เม็ดสกรีนบวมจะเป็นการแสดงลักษณะของภาพพิมพ์ได้อย่างชัดเจน ทำให้เราสามารถทำการแก้ไขคุณลักษณะทางการพิมพ์ได้ จากภาพจะสามารถสังเกตได้ว่า งานพิมพ์ทุกงาน จากเครื่องพิมพ์ที่แตกต่างกัน จะสามารถมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน จากภาพจะมี คุณลักษณะทางการพิมพ์แบบที่ 1 และ 2 จะสังเกตได้ว่าการผลิตเม็ดสกรีนของทั้งสองเครื่องพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยค่าความดำที่เท่ากัน มีการเกิดเม็ดสกรีนบวมที่แตกต่างกัน และทำให้ภาพพิมพ์ที่ได้มีสีที่แตกต่างกันนั้นเอง เม็ดสกรีนบวมที่ไม่เท่ากันอาจเกิดจากแรงกดในการพิมพ์งานที่ไม่เท่ากัน แรงกดในการพิมพ์ออฟเซต ระหว่างโมเพลทลงสู่โมผ้ายางจะเกิดจากการรองหนุนโมเพลทและโมผ้ายาง แรงกดมาตรฐานในการพิมพ์ออฟเซต จะมีค่าเท่ากับ 0.10 โดยหากมีการรองหนุนที่ไม่ตรงตามคู่มือการใช้งาน จะทำให้แรงกดระหว่างโมแม่พิมพ์กับโมผ้ายางไม่ได้ตามมาตรฐาน และทำให้ส่งผลต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวมในขณะเดียวกัน แรงกดระหว่างผ้ายางลงสู่วัสดุใช้พิมพ์ จะเกิดจากการปรับตั้งแรงกดในการพิมพ์งาน โดยจะปรับตั้งตามความหนาของวัสดุที่ใช้พิมพ์ โดยระบบของเครื่องพิมพ์ในปัจจุบัน หากมีการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ช่างพิมพ์สามารถป้อนค่าความหนาของวัสดุใช้พิมพ์ลงสู่คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นเครื่องพิมพ์จะทำการระยะแรงกดระหว่างผ้ายางและวัสดุใช้พิมพ์โดยอัตโนมัติ

5. ค่าการทับซ้อนกันของหมึกพิมพ์ หรือ แทรปปิ้ง เป็นค่าที่ใช้ในการตรวจสอบการทับซ้อนกันของหมึกพิมพ์ หมายถึง การตรวจสอบการที่หมึกพิมพ์ที่พิมพ์ซ้อนทับกันในงานพิมพ์ ในการพิมพ์งาน 4 สี (CMYK) ด้วยการพิมพ์ออฟเซตนั้น หมึกพิมพ์ที่พิมพ์จะมีการทับซ้อนกัน เพื่อเป็นการผลิตสีต่างๆ ให้กับงานพิมพ์ ซึ่งถ้ามีการทับซ้อนกันไม่ดี จะทำให้เกิดปัญหาของการผิดเพี้ยนของสีได้

การที่มีการจัดลำดับสีที่ไม่เหมือนกัน จะทำให้ได้คุณลักษณะทางการพิมพ์ที่แตกต่างกันด้วย จะสามารถสังเกตได้จากรูป

จากรูปจะแสดงให้เห็นว่าการจัดลำดับสีทางการพิมพ์ที่แตกต่างกัน และการพิมพ์งานด้วยค่าความดำหรือความหนาของชั้นหมึกพิมพ์ที่แตกต่างกัน จะทำให้การผลิตสีทางการพิมพ์มีความแตกต่างกัน ถ้ามีการพิมพ์งานตามลำดับสีทางการพิมพ์ที่ถูกต้อง และมีการควบคุมการปล่อยหมึกที่ถูกต้องตามมาตรฐาน จะทำให้ได้ค่าสีที่ไม่มีการผิดเพี้ยน แต่หากมีการจัดลำดับสีที่เปลี่ยนไป อาจจะทำให้สีมีการผิดเพี้ยน โดยแสดงจากในรูปที่ 3 ที่มีการพิมพ์สี M ก่อนและมีการพิมพ์สี C ทับลงไปในความหนาของชั้นหมึกพิมพ์ที่ไม่เท่ากัน จะทำให้การผลิตสีมีการผิดเพี้ยนไปทางสี M ส่งผลต่อการสร้างคุณลักษณะทางการพิมพ์ที่แตกต่างกัน

คุณลักษณะทางการพิมพ์กับการผลิตงานพิมพ์

ในการผลิตงานพิมพ์ คุณลักษณะทางการพิมพ์ (Print Characteristic) เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นการแสดงถึงลักษณะของเครื่องพิมพ์ที่ได้ผลิตงานออกมา จากการกำหนดวัสดุทางการพิมพ์ เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ ที่ถูกต้อง กำหนดวิธีการในการผลิต เช่น การลำดับสีทางการพิมพ์ ค่าความดำมาตรฐานในการพิมพ์งาน รวมถึงการควบคุมการเกิดเม็ดสกรีนบวมให้ได้ตามมาตรฐาน หากมีการควบคุมคุณลักษณะทางการพิมพ์ได้ จะทำให้การที่โรงพิมพ์มีเครื่องพิมพ์หลายเครื่อง สามารถผลิตงานพิมพ์ที่ได้สีที่ใกล้เคียงกัน และสามารถทำให้เครื่องพิมพ์นั้น สามารถพิมพ์งานทดแทนกันได้ ดังนั้นในการควบคุมคุณภาพในการพิมพ์สำหรับการพิมพ์ออฟเซต สิ่งที่สำคัญ คือ ความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการผลิตงานพิมพ์ ตั้งแต่การทำไฟล์ Prepress Technology ในด้านต่างๆ เช่น องศาสกรีน ความละเอียดสกรีน การเลือกใช้และควบคุมมาตรฐานของวัสดุทางการพิมพ์ เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ น้ำยาฟาวน์เทน และการกำหนดมาตรฐานในการผลิตงาน เช่น ค่าความดำ ค่าการเกิดเม็ดสกรีนบวม ค่าการทับซ้อนกันของหมึกพิมพ์ และค่าสี เพื่อให้การผลิตงานประเภทต่างๆ สามารถผลิตสีได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกับปรู๊ฟ หรือต้นฉบับที่ได้รับจากลูกค้า

การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซตนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก หากผู้ควบคุมงานมีความเข้าใจในการกำหนดค่ามาตรฐานต่าง ๆ ในการผลิตงาน หรือมีการศึกษาและนำค่ามาตรฐานในการควบคุมการผลิตงานมาจากมาตรฐานการพิมพ์ที่มีการใช้งานกัน เช่น มาตรฐานการพิมพ์ออฟเซตตาม ISO 12647-2 Fogra G7 หรือ Process Standard Offset, PSO โดยสามารถนำค่าต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นมาจากองค์กรต่างๆ มาปรับใช้ และสร้างเป็นมาตรฐานของตนเอง (In House Standard) เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดมาตรฐานในการผลิตงานของโรงงาน และสามารถปรับปรุงมาตรฐานของตนเองให้สูงมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เครื่องมือวัดและวิธีการวัดให้ถูกต้อง เครืองมือวัดค่าความดำและค่าสี (Spectrodensitometer) ในปัจจุบัน สามารถทำงานได้อย่างคลอบคลุม และเป็นเครื่องมือวัดที่จำเป็นในการควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ของโรงพิมพ์ ทำให้การผลิตงานพิมพ์สามารถผลิตงานได้ตามมาตรฐาน มีตัวเลขจากการวัดในการแสดงให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลิต มีความเข้าใจตรงกัน และสามารถสื่อสารในการผลิตงานได้อย่างถูกต้อง

เครดิตภาพประกอบ
https://www.youtube.com/watch?v=l8ATXN3neKQ
https://www.youtube.com/watch?v=YfeOU7YNYmM
https://www.directindustry.com/prod/konica-minolta-sensing/product-13771-594718.html