เทคโนโลยีที่มีผลต่อแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย ปี 2564 -2566

เทคโนโลยีที่มีผลต่อแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย ปี 2564 -2566

เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังเข้ามาพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ ซึ่งนอกจากจะเน้นการแข่งขันด้านผลิตภาพตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของโลก (Global megatrend) ที่กำลังเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เต็มรูปแบบแล้ว ภาคอุตสาหกรรมยังหันมาเน้นความยั่งยืนของห่วงโซ่การผลิตหลังได้รับผลกระทบของ COVID-19 โดยเทคโนโลยีหลักที่จะเข้ามามีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรมในช่วง 3 ปีหน้า อาทิ

5G technology:

ระบบบริการบรอดแบนด์ 5G ซึ่งมีกำลังรับส่งข้อมูลมากกว่าระบบ 4G ถึง 100 เท่า จะหนุนให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผ่านระบบข้อมูล Big data เพื่อปรับระดับสต๊อกของผลผลิตและวัตถุดิบให้สมดุลได้โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างสายการผลิตที่ได้พัฒนาบนโครงข่าย 5G เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric microcar) ของเยอรมนี (กลุ่ม Ericsson และ Vodafone) หรือ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของอังกฤษ (ค่าย Bosch) เป็นต้น

The Internet of Things (IoT):

IoT devices กำลังมีบทบาทมากขึ้นในการเชื่อมโยงข้อมูลของอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันผ่านระบบ Sensors ที่ฝังตัวในทุกสิ่ง เช่น การติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย (Heart monitor transplant) การตรวจอาหารหมดอายุในตู้เย็น (Smart fridge) การตรวจอาการสัตว์ในฟาร์ม (Biochip transponder) เซนเซอร์วัดอุณหภูมิในโรงเรือน / เพาะชำ / เพาะเลี้ยง เป็นต้น ซึ่งจะเร่งให้เกิดการแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมต่อระบบข้อมูล และการปรับตัวในห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ในเกือบทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เป็นต้น

Drone:

อากาศยานไร้คนขับที่ควบคุมได้จากระยะไกล ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดกับเทคโนโลยีอื่นมากขึ้น เช่น เซนเซอร์ ระบบดาวเทียม IoT และ AI ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งการลดการใช้แรงงาน ลดเวลาในการเข้าสำรวจพื้นที่จริงหรือใช้เป็นเครื่องมือประกอบในการประเมินจากภาพที่เห็นเบื้องต้น รวมทั้งเป็นเครื่องทุ่นแรงในการใช้โดรนเพื่อพ่นยากำจัดวัชพืชหรือใส่ปุ๋ย เป็นต้น

Edge computing:

ระบบประมวลผล Big data ที่กำลังเข้ามาลดข้อจำกัดของ Cloud computing โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภคไปสู่การปรับเปลี่ยนสายการผลิตหรือรูปแบบธุรกิจแบบทันเวลา (Real time) เนื่องจากระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้โดยตรงไม่ต้องผ่านศูนย์ข้อมูลกลางของ Cloud ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในธุรกิจที่เน้นสนองพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ (อาทิ สุขภาพ นันทนาการ และโลจิสติกส์)

Artificial intelligence (AI):

การใช้ปัญญาประดิษฐ์ถูกใช้งานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น เช่น Cloud และ IoT เพื่อประมวลผล Big data สำหรับการพัฒนาระบบจดจำและตัดสินใจในธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ ศูนย์บริการ Call-center ภาคการผลิตและบริการที่ขาดแคลนแรงงาน การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาทำงานร่วมกับมนุษย์ (Cobot) เช่น หุ่นยนต์และโดรนที่ใช้ทำงานในไร่นา เป็นต้น โดยผลการศึกษาของ PwC พบว่า ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกส่วนใหญ่ (ประมาณ 60-70%) ได้ประยุกต์ใช้ AI ในสายการผลิต เช่น กลุ่ม Siemens ใช้ AI สำหรับทดสอบคุณภาพการผลิตเชิงวิศวกรรมและคาดการณ์อุปกรณ์ที่ต้องซ่อมบำรุง โดย PwC คาดว่า AI จะสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกได้ราว 15.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2573 ส่วน Emerton data (บริษัทที่ปรึกษาด้าน data science) ได้สำรวจแผนการลงทุนของบริษัทชั้นนำของโลก พบว่ากว่า 85% มีแผนจะนำ AI มาใช้ในกระบวนการผลิต

Blockchain:

ระบบการเก็บและบันทึกข้อมูลแบบกระจายฐานข้อมูล (Distributed ledger technology) แทนการรวมศูนย์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในเครือข่ายแบ่งปันข้อมูลกันได้ แต่จำกัดการเข้าถึงด้วยการเข้ารหัส จึงมีความปลอดภัยสูง สร้างโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างกันโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง (Peer-to-peer) โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงินผ่านการใช้เงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนการจัดเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง เช่น ฐานข้อมูลแผนที่พันธุกรรมทางการแพทย์ หรือการยืนยันตัวตนผ่านชีวมิติ การตรวจสอบการซื้อขายและกระบวนย้อนกลับในสินค้าเกษตรที่สร้างความสมมาตรของข้อมูล (Systematic information) ในห่วงโซ่อุปทานที่มีผลให้ต้นทุนสินค้าเกษตรลดลง เป็นต้น

Quantum computing:

การพัฒนาระบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ผ่านอนุภาคย่อยของอะตอมแทนการใช้เลขฐานสอง ซึ่งจะเพิ่มความรวดเร็วและเพิ่มความสามารถการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ โดยมูลค่าตลาดของเครื่องจักรอัจฉริยะบนเทคโนโลยี Quantum มีแนวโน้มจะสูงถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 (Business insights & lifestyle guides, hivelife.com) โดยเน้นในการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ เป็นต้น

3D printing:

เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติควบคุมการออกแบบและผลิตสินค้าด้วยระบบดิจิทัลที่มีต้นทุนต่ำและมีความรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีลักษณะปัจเจกชนนิยม (Individualization) มากขึ้น เทคโนโลยีดังกล่าวอาจเข้ามามีบทบาทในการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการนำวัสดุกลับมาใช้เป็นวัสดุในการพิมพ์ใหม่อีกครั้ง (Recyclebot) อาทิ แฟชั่น การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือ/อุปกรณ์และอะไหล่ และการพิมพ์เนื้อเยื่อขนาดเล็ก

Cultured meat / Plant-based meat: 

เป็นการผลิตเนื้อสัตว์จากสเต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบทั้งเนื้อวัว ไก่ หมู และปลาทูน่า ซึ่งเป็นการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชที่มีรูปลักษณ์ เนื้อสัมผัส และรสชาติเหมือนเนื้อจริง เหล่านี้ มีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพ/มาตรฐานสูงปราศจากสารปฏิชีวนะและฮอร์โมนตกค้าง ขณะเดียวกันก็ยังได้คุณค่าสารอาหารครบถ้วน ช่วยลดความเสี่ยงจากการบริโภคเนื้อสัตว์จริงและการขาดแคลนอาหารกรณีเกิดโรคระบาดในสัตว์หรือภัยธรรมชาติ รวมถึงช่วยตอบโจทย์ในหมู่ผู้บริโภคในกลุ่มคนรักสุขภาพ (Healthy lifestyle) และกลุ่มผู้สูงอายุ (Aging society) ที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ที่มา: https://www.krungsri.com/th/research/industry/Industry-Horizon/industry-summary-outlook-2021-2023