การลดต้นทุนเชิงวิศวกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 4

การลดต้นทุนเชิงวิศวกรรม
สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 4
(Engineering cost reduction For the printing and packaging industry, part 4)

วิรัช เดชาสิริสิงห์
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบโรงงานอัตโนมัติและการลดต้นทุนในโรงงานและขบวนการผลิต
[email protected]

ในเนื้อหาของเล่มที่ 125, 126 และ 127 ได้กล่าวถึงการลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ ในโรงงาน ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อใหญ่ ๆ ในเนื้อหาบรรยายเล่มนี้ จะอธิบายในหัวข้อที่ 2 เพิ่ม ในเรื่องที่เกี่ยวกับการลดต้นทุนด้านอะไหล่ของเครื่องจักร เครื่องพิมพ์

ในเนื้อหาเล่มนี้ จะได้อธิบายการลดต้นทุนเกี่ยวกับอะไหล่และอุปกรณ์ที่ใช้ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ที่มีความสำคัญ ซึ่งมีรายการดังต่อไปนี้

  1. ชุดลูกปืนรองรับ เพลา ลูกกลิ้ง อุปกรณ์หมุน โยก ส่าย และอื่น ๆ ทุกชนิด
  2. ชุดมอเตอร์ไฟฟ้า ทุกชนิด
  3. ชุดเกียร์ ชุดเฟือง ชุดเฟืองโซ่ ระบบส่งกำลัง ทุกชนิด
  4. อุปกรณ์นิวเมติก (Pneumatic systems) อุปกรณ์ไฮโดรลิค (Hydraulic systems)
  5. อุปกรณ์คอนโทรลและควบคุม ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ทุกชนิด เช่น PLC, Power supply, HMI Touch Screen Panel, Inverter,AC/DC Drive controller, Servo controller, All sensor, Machine Controller Board และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

1. ชุดลูกปืนที่อยู่ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์

หัวข้อแรกที่จะได้อธิบายคือ ชุดลูกปืนที่อยู่ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ซึ่งชุดลูกปืนในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1.1 ลูกปืนที่ไม่ต้องใส่หรือเติมหล่อลื่นตลอดอายุการใช้งาน (เป็นลูกปืนที่ใส่สารหล่อลื่นหรือจารบีมาแล้วจากผู้ผลิตและใส่ชุดซีลปิดป้องกันไม่ให้สารหล่อลื่นหรือจารบีไหลออกและชุดซีลยังป้องกันไม่ให้มีน้ำ ฝุ่นผง จากภายนอกเข้าไปในบริเวณเสื้อในและเม็ดลูกปืนด้วย)

รูปแสดงตลับลูกปืนที่ใส่ชุดซีลป้องกันสารหล่อลื่นและจารบีไหลออกและป้องกันฝุ่น น้ำ ไม่ให้ไหลเข้าไปด้านใน

รูปแสดงลักษณะงานที่ใส่ชุดลูกปืนที่ไม่ต้องการใส่สารหล่อลื่นหรือจารบีเพิ่มเติมตลอดอายุการใช้งาน

สำหรับอุปกรณ์ชิ้นส่วนของเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ที่ใส่ลูกปืนประเภทนี้หรือลักษณะงานแบบนี้ ทางช่างที่มีหน้าที่ดูแลรักษา จะต้องคอยตรวจสอบดูเป็นระยะว่าการหมุนของลูกกลิ้งและอุปกรณ์ ยังหมุนได้ดีคล่องตัวหรือไม่ในขณะหยุดเครื่อง โดยใช้มือหมุนดู หรือในขณะที่เครื่องจักรและอุปกรณ์ทำงานอยู่ต้องสังเกตุจากการฟังเสียง ว่ามีเสียงดังไปจากปกติหรือไม่ หรือสังเกตุรอบ ๆ บริเวณที่มีตลับลูกปีนติดตั้งอยู่ว่ามีเศษผงเหล็กหรือผงไหม้ของสารหล่อลื่นหรือจารบีติดอยู่หรือไม่ ถ้าพบเห็น แสดงว่าตลับลูกปืนชุดนั้นชำรุดแล้ว ต้องรีบเปลี่ยนตลับลูกปืนใหม่ทันที เพราะถ้าทิ้งไว้และเดินเครื่องต่อไป จะทำให้เพลาหรือเบ้าของอุปกรณ์หรือลูกกลิ้งที่มีชุดลูกปืนใส่ประกอบอยู่ ชำรุดเสียหายไปด้วย ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมสูง

และในการสังเกตว่าชุดตลับลูกปืนมีเสียงดังหรือชำรุดหรือไม่ นอกจากช่างซ่อมบำรุงแล้ว ต้องอาศัยช่างคุมหรือช่างเดินเครื่องหมั่นคอยสังเกตุแล้วถ้าพบสิ่งผิดปกติให้ติดต่อช่างซ่อมบำรุงมาตรวจสอบซ้ำและทำการเปลี่ยนซ่อมต่อไป

สำหรับการตรวจเช็คหรือฟังเสียงว่าชุดลูกปืนหรือตลับลูกปืน มีเสียงดังผิดปกตินั้น สามารถทำได้ 2 วิธีคือ ฟังด้วยหูของช่างผู้มีประสบการณ์ และใช้ชุดตรวจฟังเสียงซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับชุดฟังเสียงแบบที่หมอใช้ ซึ่งแสดงตามรูปด้านล่าง

รูปแสดงการตรวจเช็คการชำรุดของตลับลูกปืนด้วยการฟังเสียง

และในการตรวจเช็คด้วยการฟังเสียงนี้ เครื่องมือตรวจเช็ครุ่นใหม่ ไม่จำเป็นต้องใส่แบบหูฟัง การแสดงผลของเสียงดังหรือเสียงผิดปกติ จะแสดงออกมาเป็นตัวเลขหรือกราฟเลยตามรูปด้านล่าง

รูปแสดงชุดวัดเสียงดังของลูกปืน ชิ้นส่วนเครื่องจักร หรือเสียงอื่นๆ ในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกิดเสียง เพื่อตรวจเช็คหาเสียงที่ผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับเสียงที่เกิดขึ้นแบบปกติ โดยชุดวัดรุ่นใหม่ไม่ต้องใช้ใส่ที่หูฟัง ค่าที่แสดงออกมาเป็นตัวเลขหรือกราฟ

1.2 ชุดลูกปืนหรือตลับลูกปืนที่ต้องการการหล่อลื่นหรือเติมสารหล่อลื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งชุดลูกปืนแบบนี้ปกติจะเป็นลูกปืนขนาดใหญ่ที่มีราคาแพง เปลี่ยนซ่อมยาก ทำงานหนัก หรือมีจำนวนมากและอยู่หรือถูกติดตั้งในตำแหน่งที่ถ้าจารบีหรือสารหล่อลื่นล้นออกมาก็จะไม่เลอะหรือส่งผลเสียต่อการผลิตงาน (รูปด้านล่างแสดงลูกปืนหรือตลับลูกปืนที่มีซีลข้างเดียวหรือไม่มีเลย เพื่อให้สารหล่อลื่นหรือจารบีไหลหรือแทรกตัวเข้าในรังในและเม็ดลูกปืนได้)

รูปแสดงลูกปืนหรือตลับลูกปืนที่มีซีลข้างเดียวหรือไม่มีเลย เพื่อให้สารหล่อลื่นหรือจารบีไหลหรือแทรกตัวเข้าในรังในและเม็ดลูกปืนได้

ตามคู่มือเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ จะมีบอกชนิดและเบอร์ของสารหล่อลื่นหรือจารบีเอาไว้ และบอกระยะเวลาในการอัดหรือเติมสารหล่อลื่นเข้าไปในชุดลูกปืนด้วย บางเครื่องอาจบอกเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี และบางเครื่องอาจบอกเป็นชั่วโมงการเดินเครื่อง ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ต้องดำเนินการตามคู่มือที่แจ้งใว้ให้ถูกต้องและครบถ้วน

และถ้าในกรณีที่เครื่องจักรหรือเครื่องพิมพ์เป็นเครื่องจักรมือสองหรือเก่ามาก ไม่มีคู่มือการบำรุงรักษาประจำเครื่อง ให้ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ จัดทำตารางการอัดหรือเติมสารหล่อลื่นขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยข้อมูลจากเครื่องจักรที่มีลักษณะหรือตำแหน่งที่ใกล้เคียงกันเป็นไกด์ไลน์

สำหรับเครื่องจักรหรือเครื่องพิมพ์ที่เป็นเครื่องรุ่นเก่าและมีจุดหล่อลื่นที่ต้องเติมสารหล่อลื่นหรืออัดจารบีอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าใช้กระบอกอัดหรือปืนอัดจารบี ต้องใช้เวลานานกว่าจะแล้วเสร็จและต้องใช้บุคคลากรมาก ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถติดตั้งชุด อัดหรือเติมสารหล่อลื่นแบบอัตโนมัติได้ โดยราคาในปัจจุบันก็ไม่แพงมากแล้วและหาซื้อได้ง่าย การติดตั้งก็ไม่ยุ่งยากและทางซัพพลายเออร์ก็สามารถเสนอราคาพร้อมติดตั้งให้กับทางโรงงานได้

รูปแสดงตลับลูกปืนที่ใส่ชุดซีลป้องกันสารหล่อลื่นและจารบีไหลออกและป้องกันฝุ่น น้ำ ไม่ให้ไหลเข้าไปด้านใน

รูปด้านบนแสดงรูปเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ที่มีจุดอัดหรือเติมสารหล่อลื่นอยู่เป็นจำนวนมาก อาจมากเป็นร้อย ๆ จุดหรือมากกว่า ถ้าจะใช้ถังอัดหรือปืนอัดแบบเดิมจากจะใช้บุคลากรและเวลามาก และอาจมีการหลงลืมตำแหน่งหรืออัดไม่ครบได้

ในปัจจุบันเครื่องจักรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ถูกติดตั้งระบบหล่อลื่นแบบอัตโนมัติ อาจเป็นแบบจุดต่อจุด หรือแบบศูนย์รวมก็ได้ ดังแสดงตามรูปด้านล่าง

รูปแสดงระบบหล่อลื่นแบบอัตโนมัติ แบบจุดต่อจุด

การหล่อลื่นแบบอัตโนมัติแบบจุดต่อจุด แบบนี้เป็นที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เหมาะสำหรับชุดลูกปืนที่มีขนาดใหญ่ และต้องการความแน่ใจได้ว่าระบบหล่อลื่นจะเติมสารหรืออัดสารหล่อลื่นเข้าไปภายในเสื้อในและเม็ดลูกปืนอย่างต่อเนื่องอย่างตลอดเวลา ระบบนี้มีแบตเตอรี่ส่งกำลังไฟไปขับปั๊มให้ทำงาน ชุดปั๊มจะปั๊มจารบีจากกระปุกเก็บเข้าไปหล่อลื่นเม็ดและเสื้อในชุดลูกปืน เราสามารถตั้งโปรแกรมได้ว่าจะให้ระบบทำงานอย่างไร เช่นปั๊มทุก ๆ วัน ๆ ละ 3 จังหวะ หรือ (3 Stroke) หรือ ปั๊มทุก ๆ สัปดาห์ ๆ ละ 5 จังหวะ (5 Stroke) เป็นต้น สำหรับปริมาณจารบีต่อจังหวะหรือ Stroke ทางคู่มือของชุดปั๊มจารบีก็จะมีบอกไว้ เราสามารถคำนวณได้ด้วยตนเองว่าจุดที่ต้องการจารบี ต้องการในปริมาณเท่าไรในแต่ละช่วงเวลา และเมื่อตั้งไว้แล้วถ้าไม่ถูกต้องก็สามารถปรับใหม่ได้

สำหรับเครื่องจักรที่มีจุดอัดจารบีอยู่มาก เราสามารถติดตั้งชุด Central Lubrication System ได้ ระบบนี้ระบบเดียวอาจครอบคลุมจุดอัดจารบีตั้งแต้ 2 จุดขึ้นไปจนถึงหลายสิบจุด ขึ้นอยู่กับระยะส่ง จำนวนจุดหล่อลื่น และปริมาณจารบีที่ใช้ในแต่ละจุด

รูปแสดงระบบหล่อลื่นแบบอัตโนมัติ แบบจุดต่อจุด

การหล่อลื่นแบบศูนย์กลางหรือศูนย์รวมแบบนี้ จะช่วยให้ระบบการหล่อลื่นของเครื่องจักร เครื่องพิมพ์มีประสิทธิภาพมาก เพราะผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาเครื่องจักร จะปฏิบัติงานได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น เพียงทำตามคู่มือให้ถูกต้อง เช่น เลือกใช้จารบีให้ถูกต้องตามคู่มือ ระบบจ่ายจารบี พร้อมทำงานตลอดเวลา (ระบบไฟเพื่อขับปั๊ม ใช้ไฟ 24 VDC. หรือ 220 VAC.) ตั้งค่าระบบจ่ายจารบีให้ถูกต้องทั้งระยะเวลาและปริมาณ และตรวจสอบปริมาณจารบีในถังบรรจุอย่าให้ต่ำกว่าระดับที่กำหนด และ ตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ว่าปลายท่อส่งจารบีมีจารบีออกไปถึงและเข้าไปหล่อลื่นเม็ดและเสื้อในลูกปืนทุกชุดตลอดเวลา

ถ้าโรงงานหรือโรงพิมพ์ไหนต้องการติดตั้งระบบหล่อลื่นแบบศูนย์รวมหรือศูนย์กลาง (Central Lubrication System) ในปัจจุบัน สามารถทำได้ง่าย ๆเพราะราคาของอุปกรณ์ของระบบนี้ถูกลงมากและมีให้เลือกหลากหลาย และที่สำคัญทางโรงงานจะให้ช่างของโรงงานติดตั้งเองก็ได้

สรุปได้ว่า การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของลูกปืน เพื่อให้ลูกปืนทำงานได้อย่างยาวนาน ไม่ชำรุดก่อนเวลา ก็คือ ทำระบบหล่อลื่นให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ชนิดและเบอร์ของจารบีถูกต้อง ระยะเวลาการจ่ายจารบีหรือสารหล่อลื่นถูกต้อง ปริมาณการจ่ายจารบีหรือสารหล่อลื่นต้องพอดีหรือเกินได้นิดหน่อย เพราะถ้ามากไปก็จะเปลืองจารบี ถ้าน้อยไปชุดลูกปืนก็จะรับสารหล่อลื่นไม่พอ

และที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คืออุปกรณ์ที่มีลูกปืนสวมใส่อยู่ เช่น หัวเพลาลูกกลิ้ง เพลาส่งกำลัง เสื้อแขนโยก ส่าย หมุน และอื่น ๆ ที่มีชุดลูกปืนประกอบร่วมกัน ถ้าลูกปืนไม่เสียหาย ไม่แตก หรือหลวมคลอน อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาก็จะไม่เสียหายไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหัวเพลาลูกกลิ้งบริเวณที่มีลูกปืนสวมอยู่ มีขนาดโตประมาณ 70 มม. ลูกปืนขาดการหล่อลื่นที่ดี ลูกปืนหมุนฟรีบนเพลาและบดอัดทำให้เพลาชำรุดไปด้วย ต้องหยุดเครื่องเพื่อถอดลูกกลิ้งออกไปซ่อม จะทำให้เดินงานไม่ได้ เสียโอกาสในการรับงานหรือทำงาน เสียค่าซ่อมเพลาลูกกลิ้งหลักหลายพันหรือเป็นหมื่น ต้องซื้อลูกปืนมาเปลี่ยนใหม่ ฉะนั้นระบบหล่อลื่นจึงมีความสำคัญต่อชุดลูกปืนมาก ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลและรักษาจะละเลยไม่ได้

2. ชุดมอเตอร์ไฟฟ้าในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ทุกชนิด

ในส่วนของมอเตอร์ที่เป็นชุดต้นกำลังเพื่อส่งกำลังไปขับชุดเกียร์ เพลา พูลเลย์ เฟือง เฟืองโซ่ ปั๊ม พัดลม และอื่น ๆ ต้องการการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและตามระยะเวลาที่กำหนดเหมือนกับอุปกรณ์ชุดอื่น ๆ เช่นเดียวกัน และลูกปืนบริเวณหัวท้ายมอเตอร์ ก็ต้องมีการดูแลรักษาด้วย

แสดงตำแหน่งชุดลูกปืนหัวท้ายของมอเตอร์

สำหรับชุดมอเตอร์ไฟฟ้า บริเวณเพลาหัวท้ายชุดแกนโรเตอร์ (Rotor) จะมีชุดลูกปืนประกอบติดตั้งอยู่ (ตามรูปที่แสดงด้านบน) และการหล่อลื่นชุดลูกปืนของมอเตอร์ มีอยู่ 3 แบบคือ

1. แบบแรก เป็นมอเตอร์ขนาดที่ไม่ใหญ่มากลูกปืนที่ประกอบในชุดมอเตอร์แบบนี้เป็นลูกปืนที่ถูกอัดจารบีมาเรียบร้อยแล้วและชุดลูกปืนก็ไม่ต้องการการการหล่อลื่นอีก ปกติถ้าเป็นเครื่องจักรใหม่ที่มีมอตอร์ประเภทและขนาดนี้ติดตั้งมา เมื่อเดินเครื่องครบ 1 ปี เราควรตรวจเช็คใน 2 เรื่องหลัก ๆคือ วัดกระแสร์ไฟฟ้าในขณะเดินเครื่องแล้วจดบันทึกค่าไว้ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับค่าของกระแสร์ไฟฟ้าบนเนมเพลทของมอเตอร์ตัวนั้น เพื่อดูว่ากระแสร์ที่วัดได้สูงกว่ากระแสร์บนเนมเพลทมากไหม ปกติถ้าเป็นมอเตอร์ใหม่ ค่าที่วัดได้ควรจะใกล้เคียงกัน อาจจะมากหรือน้อยกว่าค่าบนเนมเพลทก็ได้ ขึ้นอยู่กับโหลดของมอเตอร์ในขณะที่วัดกระแสร์ไฟ เราต้องจดบันทึกข้อมูลของมอเตอร์ที่วัดได้ไว้ เอาไว้เปรียบเทียบกันเมื่ออีก 1 ปีกลับมาวัดใหม่

และหลังจากวัดกระแสร์ไฟแล้ว ต้องวัดการสั่นสะเทือนและเสียงบริเวณชุดลูกปืนของมอเตอร์ด้วย แล้วจดบันทึกไว้ ถ้าเป็นลูกปืน มอเตอร์ใหม่ที่ใช้งานมา 1 ปีก็จะยังไม่มีอะไรมาก และในปีต่อไป ก็วัดใหม่และเอาค่าที่ได้มาเปรียบเทียบกัน ถ้ายังปกติดีก็ยังไม่ต้องทำอะไร

ถ้าเป็นการวัดกระแสร์ไฟ การสั่นสะเทือนและเสียงของมอเตอร์เก่าที่ติดตั้งและถูกใช้งานมานาน ให้วัดกระแสร์ไฟ การสั่นสะเทือนและเสียงลูกปืน ถ้าผลที่ได้ออกมามีกระแสร์สูง สั่นสะเทือนมากและมีเสียงดัง ให้ดำเนินการเปลี่ยนลูกปืนใหม่ และเช็คความเรียบร้อยโดยรวม เมื่อประกอบและเดินเครื่องที่มีโหลด วัดกระแสร์ การสั่นสะเทือนและเสียงใหม่ ถ้าการสั่นสะเทือนและเสียงลดลงมากแสดงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือลูกปืนชำรุด และถ้าวัดกระแสร์แล้วลดลงเช่นเดียวกัน แสดงว่ามีสาเหตุมาจากลูกปืน แต่ถ้ากระแสร์ลดลงน้อยอาจเป็นไปได้ว่าขดลวดของมอเตอร์อาจเสื่อมสภาพ ต้องนำมอเตอร์ไปพันขดลวดใหม่ หรือเดินเครื่องไปก่อนจนกว่าจะมีเวลาหยุดเครื่อง (โดยไม่ให้มีผลเสียต่อการผลิตงาน)

รูปด้านบน แสดงรูปมอเตอร์ไฟฟ้าที่ไม่มีจุดอัดจารบีและสารหล่อลื่น

2. แบบที่สอง มอเตอร์ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งชุดอัดจารบี สำหรับอัดจารบีเข้าชุดลูกปืนทั้งสองชุดทั้งด้านหน้าและหลังของชุดมอเตอร์

รูปบน แสดงมอเตอร์ที่ถูกติดตั้งหัวอัดจารบี สำหรับชุดลูกปืนทั้งด้านหน้าและหลัง

มอเตอร์แบบนี้ทางช่างซ่อมบำรุงที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องอัดจารบีตามระยะเวลาที่กำหนด และปริมาณที่ใช้อัดในแต่ละครั้งต้องพอดีตามคู่มือที่กำหนดด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถ้ามีปริมาณน้อยไปการหล่อลื่นก็อาจไม่เพียงพอ ถ้ามากไปก็สิ้นเปลืองและทำให้จารบีส่วนเกินที่ไหลออกมาเลอะเทอะได้

สำหรับการวัดกระแสไฟ การสั่นสะเทือนและเสียง ก็ทำเช่นเดียวกับวิธีแรก และจดบันทึกไว้เปรียบเทียบค่าต่าง ๆ เช่นเดียวกัน และในปีต่อไปก็เปรียบเทียบค่าเหมือนเดิม ซึ่งถ้าใช้งานไปนานมาก ๆ ขดลวดของมอเตอร์ก็จะเสื่อมสภาพลง ไม่ว่าเราจะดูแลดีอย่างไร เมื่อถึงเวลานั้น ก็ต้องถอดมอเตอร์เอาไปพันขดลวดใหม่

3. แบบที่สาม เป็นมอเตอร์ขนาดใหญ่เหมือนแบบที่สอง แต่เราติดตั้งชุดจ่ายสารหล่อลื่นหรือจารบีแบบอัตโนมัติที่ชุดมอเตอร์ทั้งด้านหน้าและหลัง หรือติดตั้งชุดเดียวแต่ต่อท่อหรือสายแยกเป็นสองทางเพื่อเข้าจุดที่ต้องการหล่อลื่นก็ได้

รูปด้านบน แสดงรูปมอเตอร์ไฟฟ้าที่ไม่มีจุดอัดจารบีและสารหล่อลื่น

วิธีการหล่อลื่นแบบใช้ชุดจ่ายสารหล่อลื่นหรือจารบีแบบนี้ ปัจจุบันนี้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมาก เพราะมีราคาถูกลงมาก และติดตั้งรวมถึงใช้งานง่าย และป้องกันการลืมหล่อลื่นได้เป็นอย่างดี รวมถึงประหยัดแรงงานที่นับวันแพงขึ้นด้วย

สำหรับการวัดกระแสร์ไฟ การสั่นสะเทือนและเสียงดังของลูกปืน ก็ทำเหมือนกับวิธีแรก วัดและจดค่าไว้และเปรียบเทียบกับค่าที่วัดไว้ก่อนหน้าและไว้เทียบกับค่าที่จะวัดได้ในครั้งต่อไป เมื่อทำจนชำนาญแล้วก็จะทราบโดยทันทีว่า ค่าที่วัดได้บอกอะไรได้บ้าง และจะแก้ปัญหาได้อย่างไรเกี่ยวกับชุดลูกปืน และชุดขดลวดของมอเตอร์ไฟฟ้า ถ้าชุดลูกปืนชำรุด ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ปกติจะเปลี่ยนพร้อมกันทั้งสองชุด ถ้าขดลวดของมอเตอร์ไฟฟ้ามีปัญหาหรือเสื่อมสภาพ ก็ต้องพันเปลี่ยนขดลวดใหม่เช่นเดียวกัน

อ่านต่อฉบับหน้า


ข้อมูลอ้างอิง

  • ตามประสบการณ์จริงของผู้เขียน

เครดิตภาพประกอบ

  • https://www.xikebearing.com/
  • https://www.soltecstore.com/articoli-tecnici/209075-RUOTE-BLICKLE-CON-CUSCINETTO-A-RULLINI-p-401-25-90r.html
  • http://www.nitco.co.th/index.php?mo=3&art=42318779
  • https://www.ferroelectronic.cl/estetoscopio-mercanico-profesional-herramienta-automotriz
  • https://www.rulmentisuedia.ro/
  • https://img3.exportersindia.com/product_images/bc-small/2019/12/3698769/bearing-tester-1576149751-5204564.jpeg
  • https://www.kugellager-express.de/
  • https://id.pinterest.com/pin/833517843525221414/
  • https://www.ebay.com/p/1983324059
  • https://miwservices.com/printing-popular-2020/
  • https://g-lube.com/wp-content/uploads/2020/04/Lub5_120_cut_2020-1.jpg
  • http://www.unitrade.co.th/
  • https://qualityway.files.wordpress.com/2018/07/sistemas-automc3a1ticos-de-lubrificac3a7c3a3o.jpg?w=723
  • https://www.igetweb.com/www/lubeandequipment/private_folder/teknosys/022.jpg
  • https://www.instructables.com/Complete-Motor-Guide-for-Robotics/
  • https://taklatrading.com/collections/general-purpose-electric-motors/products/in007341
  • https://edgereliability.com/asset-integrity-management-aim/
  • http://www.testmotors.com/en/predictive-maintenance-course-of-electric-motors/
  • https://www.hascooil.com/product-category/lubricants/grease-metalworking/
  • https://g-lube.com/wp-content/uploads/2019/03/Schunk_2_2.jpg

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า