ธนพจน์ ศักดิ์นวสกุล (เอ) บริษัท สมศักดิ์ พริ้นติ้ง จำกัด

ธนพจน์ ศักดิ์นวสกุล (เอ)
บริษัท สมศักดิ์ พริ้นติ้ง จำกัด

ธนพจน์ ศักดิ์นวสกุล หรือเอ เป็นบุตรชายคนเดียวของ คุณสมศักดิ์ ศักดิ์นวสกุล และคุณสุภาพร เรืองจรูญสุข จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียน สามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี – คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาโท - คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ความเป็นมาของบริษัท

เริ่มต้นจากคุณพ่อเคยทำงานเป็นช่างพิมพ์มาก่อน ต่อมาในปี 2535 จึงได้ก่อตั้งธุรกิจโรงพิมพ์ ชื่อ สมศักดิ์ การพิมพ์ รับผลิตงานพิมพ์ Commercial และ Packaging เป็นหลัก หลังจากที่ผมเข้ามาบริหารงานต่อจากคุณพ่อ ในปี 2560 จึงได้เปลี่ยนเป็น บริษัท สมศักดิ์ พริ้นติ้ง จำกัด แต่ยังคงยึดหลักตามสโลแกน “งานสวย สีสดใส รวดเร็วทันใจ เลือกใช้ สมศักดิ์ พริ้นติ้ง”

จุดเริ่มต้นของการทำงาน และหน้าที่รับผิดชอบ

ก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานที่บริษัทฯ ผมได้เริ่มทำงานเป็นวิศวกรอุตสาหการ ที่บริษัท เบนซ์มาร์ค อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หลังจากทำงานได้ประมาณ 1 ปี ได้ออกมาศึกษาต่อปริญญาโท และทำงานทางด้านวิทยากรเกี่ยวกับระบบการผลิต ที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย - ญี่ปุ่น) ไปด้วย ซึ่งในช่วงนั้น ผู้จัดการ โรงพิมพ์คนเก่าลาออก จึงมีโอกาสได้เริ่มเข้ามาศึกษางานที่โรงพิมพ์บ้าง แต่ยังไม่ได้เข้ามาทำเต็มตัว หลังจากเรียนจบ จึงเริ่มเข้ามาทำงานโรงพิมพ์อย่างจริงจัง โดยหน้าที่รับผิดชอบในตอนนั้นคือ การปรับระบบวิธีการทำงานของพนักงาน ปรับระบบวิธีการคิดราคางานพิมพ์ใหม่ทั้งหมด รวมถึงการติดต่อประสานงานกับลูกค้า จนปัจจุบัน รับผิดชอบดูแลภาพรวมทั้งหมดในบริษัทฯ

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงาน / แนวทางในการแก้ไข

สำหรับเป็นปัญหาภายในองค์กร ในช่วงที่เข้ามาทำงานใหม่ ๆ ปัญหาและอุปสรรคแรกที่พบคือ เรื่องพนักงานที่เคยทำงานตั้งแต่สมัยคุณพ่อยังบริหารงานอยู่ บางคนก็จะเห็นผมตั้งแต่ยังเรียนมัธยม เขาจะมองว่าเรายังเด็ก จะบริหารงานได้จริงหรือ อยู่ดี ๆ มาปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่เคยชินและทำมานานแล้ว วิธีแก้ปัญหาตรงจุดนี้ คือ การพยายามพูดคุยกับพนักงานให้มากขึ้น เพื่อให้สนิทกันมากขึ้น เข้าไปศึกษาวิธีการทำงานของพนักงานแต่ละแผนก แสดงให้พนักงานเห็นว่า ถ้าปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน จะส่งผลดีกับตัวพนักงานยังไงบ้าง ให้ความรู้เรื่องงานพิมพ์ และให้พนักงานแสดงความคิดเห็นในการปรับปรุง มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมขอพนักงานในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

เป้าหมายการทำงานในปัจจุบัน

มุ่งเน้นในเรื่องการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว พัฒนาคุณภาพงานพิมพ์ให้ได้ตามมาตรฐาน พัฒนาบุคลากรภายในโรงพิมพ์โดยการให้ความรู้ เกี่ยวกับเทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกี่ยวกับงานพิมพ์

แนวคิด หรือคติในการทำงาน

ช่วงที่ได้ทำงานเป็นวิทยากร มีพี่ท่านหนึ่งเคยให้คำแนะนำในเรื่องแนวคิดการทำงานไว้ว่า หากเจอปัญหา หรือ อุปสรรค ให้เราคิดว่า ทำได้แก้ไขได้ไว้ก่อน ท่านสอนให้ผมคิดบวก หลังจากนั้นจึงค่อยหาวิธีการ หรือ เครื่องมือ มาช่วยแก้ปัญหา จนปัจจุบันผมก็ยังใช้แนวคิดนี้ ในการทำงาน รวมถึงให้แนวคิดนี้แก้พนักงานในโรงพิมพ์

มุมมองอนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

ในยุคนี้ ก็คงต้องพูดถึง Digital Disruption ที่เข้ามามีบทบาทในหลาย ๆ อุตสาหกรรม อันที่จริงผมคิดว่า Digital เข้ามามีบทบาท ในอุตสาหกรรมการพิมพ์มาหลายปีแล้ว แต่อาจจะยังไม่มากเหมือนในช่วง 2-3 ปีนี้ อย่างสมัยก่อน หากลูกค้าจะส่งงานพิมพ์ ทางโรงพิมพ์ก็ต้องวิ่งเข้าไปรับไฟล์งาน พอ Internet มีการพัฒนาความเร็วมากขึ้น บางโรงพิมพ์ ก็หันมาใช้ Server ในการจัดส่งไฟล์ ลูกค้าสามารถส่งไฟล์ ผ่านทาง Internet ได้เลย หรือส่งไฟล์ให้ซัพพลายเออร์ทำงานต่อได้เลย ทำให้ลดเวลาในการทำงานได้มากขึ้น ในปัจจุบันมีการสร้าง Platform ใหม่ ๆ ในการสั่งบรรจุภัณฑ์ หรืองานพิมพ์ต่างๆ ทำให้ลูกค้าสะดวกมากขึ้น ผมมองว่าถ้าโรงพิมพ์มีการปรับตัว สนใจหาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มอง Digital ให้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ก็สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดีมากขึ้น อุตสาหกรรมการพิมพ์ก็ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

เข้ามาเป็นสมาชิก Young Printer Group ได้อย่างไร

ได้รับการชักชวนจากเพื่อน ๆ ใน YPG พอได้เข้ารวมเป็นสมาชิก ก็ได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทาง YPG จัดขึ้น และในการเลือกตั้งประธาน YPG ผมได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในกรรมการรุ่นปัจจุบัน

หน้าที่และบทบาทในกลุ่ม Young Printer

ได้รับหน้าที่เป็น ปฏิคม คอยประสานงานเรื่องการจัดกิจกรรม สัมมนาต่าง ๆ ให้กับสมาชิกของสมาคม และผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมการพิมพ์

สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกลุ่ม Young Printer

หลังจากที่ได้เข้าร่วมกลุ่ม YPG ทำให้ผมมีเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมและพันธมิตรในเรื่องงานพิมพ์ มากขึ้น ได้รับความรู้และเทคโนโลยีทางด้านงานพิมพ์จากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ทำงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐาน เวลาเกิดปัญหาที่แก้ไขได้ยาก เพื่อน ๆ พี่ ๆ ในสมาคมก็สามารถให้คำปรึกษาได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ มิตรภาพที่ดีมาก ๆ ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกลุ่ม YPG