สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต
การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต (4)
ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
[email protected]
สิ่งที่สำคัญในการควบคุมคุณภาพการพิมพ์ออฟเซต คือ การเข้าใจเรื่องของการควบคุมค่าความเข้มสีในการพิมพ์ และการควบคุมการเกิดเม็ดสกรีนบวม เม็ดสกรีนบวมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการพิมพ์งานออฟเซตและเป็นค่าที่สามารถบอกถึงลักษณะของเครื่องพิมพ์ออฟเซต แรงกดต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิมพ์ รวมถึงคุณลักษณะทางการพิมพ์ที่ได้จากเครื่องพิมพ์แต่ละเครื่อง
ค่าเม็ดสกรีนบวม (Dot gain)
โทนของภาพพิมพ์ในการพิมพ์งานด้วยการพิมพ์ออฟเซต จะมาจากการเรียงตัวของเม็ดสกรีนที่มีขนาดใหญ่หรือเล็ก ตามน้ำหนักสีของภาพ หากเม็ดสกรีนมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีขนาดเล็กลงหรือมีขนาดใหญ่ขึ้น จะส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสีของงานพิมพ์ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้น คือ เม็ดสกรีนบวม เป็นลักษณะปกติของการพิมพ์ออฟเซต เนื่องจากการพิมพ์ออฟเซต เป็นการถ่ายทอดภาพจากโมเพลท ลงสู่โมผ้ายาง และสู่วัสดุใช้พิมพ์ การถ่ายทอดภาพจากกระบวนการดังกล่าว จะมีการใช้แรงกดและส่งผลโดยตรงต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวม แต่หากมีการปรับตั้งแรงกดที่ไม่ถูกต้องระหว่างโมเพลทลงสู่โมผ้ายาง หรือโมผ้ายางลงสู่วัสดุใช่พิมพ์ จะทำให้เกิดการบวมตัวของเม็ดสกรีนที่มากเกินไป และทำให้เกิดปัญหาในการพิมพ์งาน
การเปลี่ยนแปลงของเม็ดสกรีน
จากรูปจะสามารถสังเกตได้ว่าเม็ดสกรีนมีการเปลี่ยนแปลงในการพิมพ์โดยเกิดจากแรงกดจากการถ่ายทอดภาพจากแม่พิมพ์ลงสู่ผ้ายาง และจากผ้ายางลงสู่กระดาษ ทำให้เม็ดสกรีนมีขนาดใหญ่ขึ้น หากเปรียบเทียบกับเม็ดสกรีนที่อยู่บนแม่พิมพ์
การวัดการเกิดเม็ดสกรีนบวม
จากภาพจะแสดงให้เห็นถึงการบวมตัวของเม็ดสกรีนในช่วงเปอร์เซนต์สกรีนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เม็ดสกรีนที่ 20% บนเพลท เมื่อทำการพิมพ์ จะได้ขนาดเม็ดสกรีนที่ 30% หมายความว่า เกิดเม็ดสกรีนบวมที่ 10% ในขณะที่เม็ดสกรีนที่ 40% บนเพลท เมื่อทำการพิมพ์ จะได้ขนาดเม็ดสกรีนที่ 55% หมายความว่าเกิดเม็ดสกรีนบวมที่ 15% จากกราฟด้านขวาจะแสดงให้เห็นว่า การเกิดเม็ดสกรีนบวมจะมีการบวมตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงเปอร์เซนต์สกรีนที่ 45 – 55% และจะค่อยๆ ลดลงตามเปอร์เซนต์สกรีนที่เพิ่มขึ้น
ในการบอกค่าเม็ดสกรีนบวมของงานพิมพ์แต่ละงาน จะกำหนดจากจุดที่เกิดการบวมตัวสูงที่สุดในการพิมพ์งานของแต่ละสี จากตัวอย่างจะสามารถสังเกตได้ว่า ที่เปอร์เซนต์สกรีนที่ 50% จะเกิดการบวมตัวของเม็ดสกรีนมากที่สุดในแต่ละสี (CMY และ K) โดยสี Cyan มีการบวมตัวที่ 14% สี Magenta 12% สี Yellow ที่ 10% และสี Black ที่ 18% ตามมาตรฐานที่กำหนดโดยทั่วไป จะกำหนดให้การเกิดเม็ดสกรีนบวมของสี CMY ไม่ควรเกิน 14-16% และสีดำ ไม่เกิน 18-20%
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวม
การเกิดเม็ดสกรีนบวม จะมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ส่งผลต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวม หากเราควบคุมปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ จะทำให้เราสามารถควบคุมการเกิดเม็ดสกรีนบวมได้ และไม่ทำให้เม็ดสกรีนบวมนั้นเป็นปัญหาทางการพิมพ์ ปัจจัยต่างๆ จะประกอบด้วย
1. ค่าความดำหรือค่าความเข้มสีทางการพิมพ์ ค่าความดำเป็นปัจจัยแรกที่ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวม ค่าความดำที่สูงหมายถึง ความหนาของชั้นหมึกพิมพ์ที่สูงมากขึ้น จากภาพที่ 5 เมื่อเราพิมพ์งานด้วยความหนาของชั้นหมึกพิมพ์ที่หนา เมื่อเกิดการกดพิมพ์จากโมเพลทลงสู่โมผ้ายาง และจากผ้ายางลงสู่กระดาษ จะทำให้หมึกพิมพ์ที่มีความหนามาก จะกระจายตัวออกด้านข้าง ทำให้เกิดการบวมตัวของเม็ดสกรีนที่มากขึ้นนั้นเอง ดังนั้น ในการพิมพ์งานจึงมีความจำเป็นที่ต้องควบคุมค่าความดำให้ค่าที่ใกล้เคียงกันในระหว่างการพิมพ์งาน จะทำให้การเกิดเม็ดสกรีนบวมมีค่าที่ใกล้เคียงกัน
2. แรงกดในการพิมพ์ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ แรงกดในการพิมพ์งาน แรงกดในการพิมพ์ออฟเซต ระหว่างโมเพลทลงสู่โมผ้ายางจะเกิดจากการรองหนุนโมเพลทและโมผ้ายาง แรงกดมาตรฐานในการพิมพ์ออฟเซต จะมีค่าเท่ากับ 0.10 โดยหากมีการรองหนุนที่ไม่ตรงตามคู่มือการใช้งาน จะทำให้แรงกดระหว่างโมแม่พิมพ์กับโมผ้ายางไม่ได้ตามมาตรฐาน และทำให้ส่งผลต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวม ในขณะเดียวกัน แรงกดระหว่างผ้ายางลงสู่วัสดุใช้พิมพ์ จะเกิดจากการปรับตั้งแรงกดในการพิมพ์งาน โดยจะปรับตั้งตามความหนาของวัสดุที่ใช้พิมพ์ โดยระบบของเครื่องพิมพ์ในปัจจุบัน หากมีการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ช่างพิมพ์สามารถป้อนค่าความหนาของวัสดุใช้พิมพ์ลงสู่คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นเครื่องพิมพ์จะทำการระยะแรงกดระหว่างผ้ายางและวัสดุใช้พิมพ์โดยอัตโนมัติ
3. ประเภทของกระดาษ กระดาษที่ใช้ในการพิมพ์งานออฟเซตจะสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทด้วยกัน คือ กระดาษเคลือบผิว และกระดาษไม่เคลือบผิว จากภาพที่ 6 จะแสดงให้เห็นว่า การพิมพ์งานด้วยความหนาของหมึกพิมพ์ที่เท่ากัน แต่ลงบนกระดาษที่แตกต่างกัน จะทำให้ได้ค่าความดำที่แตกต่างกัน ทั้งนี้จะเกิดจากลักษณะการซึมตัวของหมึกพิมพ์ที่ลงสู่กระดาษที่แตกต่างกันนั้นเอง โดยกระดาษที่ไม่เคลือบผิว จะทำให้หมึกพิมพ์สามารถซึมตัวได้โดยง่าย และทำให้มีการกระจายตัวของหมึกพิมพ์ที่มากกว่า ทำให้เกิดการบวมตัวของเม็ดสกรีนที่มากกว่านั้นเอง กระดาษที่แตกต่างกัน จึงถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวมในการพิมพ์ออฟเซต
4. ความละเอียดสกรีนที่ใช้ในการพิมพ์ ความละเอียดสกรีน หมายถึง จำนวนเส้นสกรีน ในพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตร หรือ 1 ตารางนิ้ว โดยในรูปที่ 7 แสดงให้เห็นว่า ในเปอร์เซนต์เม็ดสกรีนที่ 50% หากใช้ความละเอียดสกรีนที่แตกต่างกัน เม็ดสกรีนที่ในพื้นที่เดียวกัน จะมีขนาดที่แตกต่างกัน ภาพที่มีความละเอียดสกรีนสูง จะทำให้ภาพนั้นคมชัดมากขึ้น เนื่องจากขนาดเม็ดสกรีนจะมีขนาดเล็ก ทำให้เก็บรายละเอียดของภาพได้มาก การเลือกความละเอียดต้องเลือกให้เหมาะสมกับระบบการพิมพ์และวัสดุที่นำมาพิมพ์
ความละเอียดสกรีนจะส่งผลต่อการเกิดเม็ดสกรีนบวม โดยหากใช้ความละเอียดสกรีนที่สูง จะทำให้การบวมตัวของเม็ดสกรีนมีค่าที่สูงมากขึ้น สาเหตุจะมาจากการที่เม็ดสกรีนที่มีขนาดเล็กทำให้มีจำนวนเม็ดสกรีนที่เพิ่มมากขึ้น หากเปรียบเทียบในเปอร์เซนต์เม็ดสกรีนที่เท่ากัน ทำให้การบวมตัวของเม็ดสกรีนสูงขึ้นด้วยนั้นเอง
5. ความเหนียวของหมึกพิมพ์ ความเหนียวของหมึกพิมพ์ออฟเซตเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการเกิดเม็ดสกรีนบวม เนื่องจากหากหมึกพิมพ์ออฟเซตมีความเหนียวที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้หมึกพิมพ์ที่ถูกกดตอนถ่ายทอดภาพจากโมแม่พิมพ์ลงสู่โมผ้ายาง และจากผ้ายางลงสู่วัสดุพิมพ์ เกิดการกระจายตัวไปได้มากขึ้น ทำให้เกิดเม็ดสกรีนบวมที่มากขึ้นนั้นเอง