คุณสมเพ็ชร เจียรมณีทวีสิน
บริษัท อิมเมจ ควอลิตี้ แล็บ จำกัด หรือ IQ LAB
การบริหารธุรกิจแบบ New Normal “ปรับตัวก่อนจะโดน Disrupt”
ในภาวะที่ COVID-19 กำลังระบาดหนัก ส่งผลกับเศรษฐกิจในทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย หลาย ๆ เศรษฐกิจชะลอตัว หรือแม้กระทั่งปิดตัวไป การจะทำให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ต้องอาศัยการปรับตัว เพื่อตอบรับวิถีชีวิตแบบ New Normal ที่การใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไป
บริษัท อิมเมจ ควอลิตี้ แล็บ จำกัด หรือ IQ LAB ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยกลุ่มผู้มีประสบการณ์ด้านแวดวงภาพถ่าย และงานพิมพ์ ที่ได้จบการศึกษาโดยตรงจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่าย และเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
IQ LAB เป็นผู้นำ และเป็นผู้บุกเบิกในยุคดิจิทัลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยติดตั้งเครื่องมือดิจิทัลสมบูรณ์แบบทั้งระบบตั้งแต่ สแกนเนอร์แบบ ดรัมสแกน คอมพิวเตอร์ระดับเวิร์คสเตชั่น จนถึงเครื่องยิงฟิล์มสไลด์ นอกจากนี้ ยังเป็นแล็บแรกของไทยที่ลงทุน ระบบการจัดการสี หรือ Color Management System (CMS) ที่สามารถควบคุมสีของไฟล์ภาพดิจิทัลสู่งานภาพพิมพ์ทุกชนิด
ในปี พ.ศ. 2547 IQ LAB ได้นำเข้าอุปกรณ์ดิสเพลย์คุณภาพสูงซึ่งสามารถนำมาจัดเป็นบู้ทแสดงสินค้า หรือบอร์ดนิทรรศการขนาดใหญ่ แบบ pop-up ได้โดยใช้เวลาติดตั้งเพียงไม่กี่นาที ในปลายปีเดียวกัน ทางบริษัทได้ลงทุนเครื่องพิมพ์ดิจิทัลออฟเซ็ตที่สามารถผลิตงานพิมพ์ออฟเซ็ต จากไฟล์ดิจิทัลได้โดยตรง ซึ่งประหยัดเวลาและต้นทุนการทำแม่พิมพ์ จึงเหมาะกับงาน Photobooks สมุดภาพส่วนตัว ปฏิทินส่วนตัว ใบปลิว แค๊ตตาล๊อค เมนูอาหาร ไปจนถึง การ์ดแต่งงาน และนามบัตรทั่วไป
ปี พ.ศ. 2550 เป็นยุคที่กล้องดิจิทัลมีบทบาทอย่างสูงทั่วโลก IQ LAB ได้บุกเบิก นวัตกรรมใหม่ โฟโต้บุ้ค หนังสือภาพส่วนตัว พร้อมซอฟท์แวร์ IQ Photobook Pro ซอฟท์แวร์แจกฟรีสำหรับออกแบบโฟโต้บุ้ค ทำให้การทำสมุดภาพส่วนตัวมีความสนุกสนาน รวดเร็วและเก็บรวบรวมภาพเป็นหนังสือเล่มในรูปแบบการพิมพ์ด้วยระบบดิจิทัลออฟเซ็ต อีกทั้งยังจัดอบรมการใช้ซอฟท์แวร์ และการทำโฟโต้บุ้ค โดยไม่คิดมูลค่าแก่บุคคลทั่วไป
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา IQ LAB ได้รับรางวัลจากการประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติอย่างต่อเนื่อง จากสมาคมการพิมพ์ไทย ในงานพิมพ์ทุกประเภทของกลุ่มการพิมพ์ดิจิทัล เช่น โฟโต้บุ๊ค ปฏิทิน การ์ดอวยพร เมนูอาหาร โปสเตอร์ ซึ่งมาจากเครื่องพิมพ์ประเภทดิจิทัลออฟเซ็ต ไปจนถึงการพิมพ์อิงค์เจ็ตขนาดใหญ่ และภาพพิมพ์งานศิลป์เสมือนจริง (Fine Art Reproduction) จากงานภาพเขียน Giclee Print / Archival Pigment Ink Print และยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ของการประกวดสิ่งพิมพ์ดิจิทัลจากฟูจิซีร๊อกซ์จาก 14 ประเทศ รวมถึงรางวัลจากการประกวด Asian Print Awards
การปรับตัวในยุค Disruptive Technology
ทิศทางของเทคโนโลยีในปัจจุบันมีผลกระทบกับทุกธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจแล็บสีที่ถูก Disrupt โดยกล้องดิจิทัล ดังนั้น การทำงานในรูปแบบเดิม ๆ อาจไม่ตอบโจทย์ควรหาตลาดใหม่ หาเครื่องมือใหม่เพื่อรองรับงาน ค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก
ผลกระทบจาก COVID-19 และการแก้ไขปัญหา
ทุกวงการได้รับผลกระทบจากตรงนี้ ไม่เว้นแม้แต่บริษัทผู้ผลิตยา หรือธุรกิจท่องเที่ยวที่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในด้านงานพิมพ์ของ IQ LAB เองก็มีผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน จากเดิมที่เคยมีงานป้ายต่าง ๆ ให้กับห้างสรรพสินค้า เมื่อห้างร้านถูกสั่งปิด จึงส่งผลให้งานเงียบหายไป แต่เนื่องจาก IQ LAB มีลูกค้าหลากหลายจึงยังสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้
การบริหารงานและการทำงานของพนักงานยังคงเป็นรูปแบบที่ต้องเข้ามาทำในบริษัท เนื่องจากไม่สามารถทำงานแบบ Work From Home ได้ เพราะต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ในการทำงาน แผนกเดียวที่สามารถทำงานที่บ้านได้มีแค่ตำแหน่งกราฟิก แต่เพราะส่วนมากเป็นงานด่วนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานในออฟฟิศ ในช่วงที่มีงานน้อยนั้น เราจะฝึกให้พนักงานรู้จักการใช้เครื่องมือได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น หนึ่งคนรู้หลายเรื่องและหนึ่งเรื่องรู้หลายคน คล้ายกับการทำ Job Rotation เหตุผลเพราะ IQ LAB นั้นมีพนักงานจำนวนน้อยและไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทุกด้าน ดังนั้น ต้องฝึกฝนให้รู้และเชี่ยวชาญมากขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ไปพร้อม ๆ กัน
การเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันในอนาคต
ใส่ใจลูกค้ามากขึ้น สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้มากขึ้น เข้าใจลูกค้า ธุรกิจสิ่งพิมพ์ควรที่จะเรียนรู้ให้เยอะ เรียนรู้เพื่อจะเอาตัวรอดให้ได้ มองตลาดให้กว้างว่ามีกลุ่มไหนบ้าง นำความชำนาญที่มีอยู่มาสร้างความชำนาญให้มีมากยิ่งขึ้น เช่น IQ LAB ที่มีความชำนาญเรื่องสี ก็จะเน้นในจุดนี้มากเป็นพิเศษ ควรมีการบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อก่อนอาจจะเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นปลาเร็วกินปลาช้า การที่ธุรกิจโดยรวมชะลอตัว ทำให้หันกลับมามองเห็นว่าควรปรับปรุงอย่างไร ได้มีโอกาสพูดคุยกับพนักงาน และปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น