Personalized Marketing เทรนด์การตลาดเจาะใจผู้บริโภค

Personalized Marketing เทรนด์การตลาดเจาะใจผู้บริโภค

การตลาดเฉพาะบุคคล เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสมัยนี้ชอบความรู้สึกเป็นคนพิเศษอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากเราไม่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ก็จะทำให้เราต้องไปแข่งขันเรื่องราคาแทน เราจึงต้องหากลยุทธ์ใหม่ ๆ มาใช้อยู่เสมอ เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสมัยนี้ชอบความรู้สึกเป็นคนพิเศษอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ “Personalized Marketing” หรือ “การตลาดเฉพาะบุคคล” จึงเกิดขึ้น

โดยแนวคิดและวิธีการของ Personalized Marketing คือ การที่เรานำเสนอสินค้า บริการ คอนเทนต์ ช่องทางการสื่อสาร และราคา ให้ตรงกับใจของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด โดยที่จะไม่เสนอแบบเดียวกันให้กับทุกคน แต่จะเจาะจงไปที่ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคนแทน โดยดูจากพฤติกรรมของผู้บริโภค

ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า กลยุทธ์แบบ Personalized Marketing สามารถเพิ่มกำไรให้กับแบรนด์ได้ เพราะผู้บริโภคมักจะชอบแบรนด์ที่รู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภครู้สึกพิเศษ ผู้บริโภคหลายคนมักจะไม่ชอบเวลาที่ข้อมูล สินค้า และบริการในเว็บไซต์ไม่ตอบโจทย์ เพราะเหตุนี้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ถึงต้องมีระบบ AI และ Machine Learning ที่สามารถเก็บข้อมูลและประมวลผลได้ถูกต้อง เพื่อที่จะแสดงผลข้อมูลให้ตรงกับผู้บริโภคแต่ละคนมากที่สุด

มาถึงจุดนี้ หลายคนอาจจะสับสนระหว่าง Personalization กับ Customization เพราะคิดว่าคือสิ่งเดียวกัน แต่สองอย่างนี้ต่างกัน เพราะ Customization คือ การที่ลูกค้าสามารถปรับแต่งสินค้าและบริการได้เอง แต่ Personalization คือ การที่แบรนด์เสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจลูกค้าเลย โดยดูจากข้อมูลที่ผ่านมา เช่น การกดถูกใจสินค้า การกด Add to Cart และประวัติการซื้อ

ตัวอย่างของการทำ Personalized Marketing เช่น เวลาที่ผู้บริโภคเข้าไปในเว็บไซต์ E-Commerce ทั้งหลาย แต่ละเว็บไซต์จะมี Technology และเครื่องมือที่จะแบ่งกลุ่มลูกค้าตามความสนใจ และการดูรายการสินค้าต่าง ๆ แล้วก็จะจดจำพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มไว้ จากนั้นเมื่อผู้บริโภคเข้าไปยังเว็บไซต์อีกครั้งก็จะเจอรายการสินค้าแนะนำที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่เคยดูไว้หรือเคยซื้อไปแล้ว ซึ่งผู้บริโภคแต่ละคนจะเห็นสินค้าต่างกัน

โดยที่การแสดงรายการสินค้านั้นจะคล้าย ๆ การทำโฆษณา Remarketing ที่ติดตามลูกค้าที่เข้าไปชมเว็บไซต์ และรายการสินค้าของเราแต่ยังไม่ได้ทำการสั่งซื้อ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ โดยการตลาดแบบ Personalized Marketing จะช่วยปิดการขายได้เร็วขึ้น เพราะแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของผู้บริโภคแต่คน จึงเป็นการขายของบนพื้นฐานความต้องการของผู้บริโภค

เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะทำ Personalized Marketing เราต้องมั่นใจว่าเว็บไซต์เรามีระบบ Algorithms ที่แม่นยำ เพื่อที่จะนำเสนอสินค้า และบริการได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค หรือการส่งอีเมลล์และ Notification ไปบอกผู้บริโภคว่าสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการกำลังลดราคาอยู่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ดีให้และความประทับใจให้กับผู้บริโภค
เมื่อเราทำ Personalized Marketing เรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เราควรมีการวัดผล เช่น มีผู้บริโภคเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และใช้เวลากับเว็บไซต์เรานานขึ้นหรือไม่ และยอดขายของเราเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยใช้เครื่องมืออย่าง Analytics เพื่อดูผลตอบรับ และแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาต่อไป


ที่มา: businesslinx