ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย หลังโควิด-19

ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย หลังโควิด-19

โดย คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19

หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ นำมาสู่การปลดล็อกต่อเนื่องมาจนขณะนี้อยู่ในระยะที่ 4 เป็นที่เรียบร้อย คำถามคือหลังจากนี้ เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร?

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล – รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ได้ให้เกียรติสัมภาษณ์เพื่อคลายข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าว

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำโดย คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ได้เข้าพบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐช่วยพิจารณา เกี่ยวกับการรีบเร่งดำเนินการฟื้นฟู และเยียวผู้ประกอบการภายหลังวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพคล่อง การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ แม้ว่าภาครัฐจะมีโปรแกรมเงินกู้ออกมาช่วยเหลือโดยการให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ห้าแสนล้านบาทแล้วก็ตาม แต่การเข้าถึงจริงของ SME สามารถขอยื่นกู้ได้ไม่ถึงหนึ่งแสนล้านบาท เนื่องจากติดเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง ดังนั้นจึงได้ขอให้ทางภาครัฐช่วยหากลไกและวิธีการให้เข้าถึงจุดนี้ได้มากยิ่งขึ้น

เรามองว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาส ต้องชมเชยแพทย์และพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงทางด้านการควบคุมโรคระบาด จุดนี้ส่งผลให้ในอนาคตหากมีวัคซีนรักษาโรคแล้ว หลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว หรือเรื่องของสุขภาพจะเติบโต เพราะฉะนั้นจะมีการสนับสนุนในโครงการต่าง ๆ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ หนึ่งในเรื่องที่นำเสนอกับภาครัฐคือ ด้วยการที่ประเทศไทยมีความถนัดและเชี่ยวชาญด้าน Bio Economy หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งหมายถึงอุตสาหกรรมด้านอาหารแปรรูป การเกษตรเที่ยงตรง รวมไปกับถึงการพัฒนาต่อยอดทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มของสินค้าเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค สมุนไพร ไบโอพลาสติก รวมทั้งสิ่งทอ ฯลฯ ซึ่ง ส.อ.ท. ได้เล็งเห็นและนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ได้ทำการรวบรวมเกษตรแปลงใหญ่ รวมสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศซึ่งมีรวมกันประมาณ 2 ล้านไร่ เพื่อทำการเกษตรที่เรียกว่า “เกษตรเที่ยงตรง” คือ การออกแบบว่าแต่ละพื้นที่จะปลูกอะไร การบริหารจัดการเรื่องน้ำอย่างไร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทุกอย่าง รวมไปถึงใช้ปุ๋ยอย่างไรจึงจะปลอดภัยและดีที่สุด

ดรรชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

นับตั้งแต่เกิดภาวะโควิด-19 ระบาด พบว่า ดรรชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมถูกล็อกดาวน์ แต่สถานการณ์ล่าสุดที่ ส.อ.ท. เพิ่งทำการแถลงไป ปรากฏว่าในเดือนพฤษภาคม อุตสาหกรรมขยับดีขึ้นมาจากช่วงเดือนเมษายนที่เป็นช่วงต่ำสุด ชี้ให้เห็นไปในทางเดียวกันว่า หลังจากที่ประเทศไทยทำการคลายล็อก กิจการต่าง ๆ ได้กลับมาทำงานกันอย่างเต็มที่ เศรษฐกิจก็เริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนรักษาโรค ทุกคนก็ยังคงกังวล แต่ภายใต้วิกฤติก็ยังมองเห็นโอกาส และประเทศไทยจะเป็น HUB ของหลาย ๆ อุตสาหกรรม หรือกระทั่งการเป็น Alcohol Hub ของภูมิภาค ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมที่จะผลิตแอลกอฮอล์เพื่อนำไปใช้ในเรื่องการรักษาความสะอาด หรือส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานั้นคือหนึ่งในเรื่องที่นำเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Made in Thailand ให้ภาครัฐและเอกชนใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยให้มากขึ้น
ผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด สิ่งที่ทุกคนคาดการณ์หลังโควิด-19 คือ เรื่องปัญหาสงครามการค้ารอบใหม่ที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2561 เริ่มมีวิกฤตสงครามการค้าและมีผลรุนแรงในปี 2562 ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้รับผลกระทบในเรื่องการส่งออก บรรยากาศด้านการค้าของโลกค่อนข้างซบเซา จนกระทั่งมีข้อยุติของสงครามระหว่างจีนและอเมริกาในช่วงปลายปี 2562 ทำให้ทุกคนมองว่าในปีนี้ GDP ของโลกจะเติบโตขึ้นประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์

แต่พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้การคาดการณ์เปลี่ยนไป ในช่วงของ Trade War มีการย้ายฐานผลิตออกจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่น ๆ รวมทั้งในอาเซียน และหลังโควิด-19 มีการคาดการณ์ว่าจะมีการย้ายฐานผลิตมากขึ้น เนื่องจากอเมริกามีการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนกลับไปยังภูมิลำเนาหรือประเทศเป้าหมายอื่น ๆ และประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้น ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอานิสงค์ในด้านของการลงทุน นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเองก็เชิญชวนให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนด้วยการยื่นข้อเสนอมอบเงินช่วยเหลือสนับสนุนการย้ายฐานผลิต

ถึงแม้ประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์ในเรื่องดังกล่าว แต่ต้องมีการเตรียมตัวเพราะช่วงวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นบทเรียนให้กับทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเอง นั่นคือ Supply chain disruption หรือการขาดช่วงของห่วงโซ่การผลิต ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เราต้องนำเข้าจากประเทศจีนมากมายหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไปด้วย เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรมในกลุ่มฟื้นฟูกำลังถกประเด็น หาวิธีแก้ไขเพื่อให้เกิดแผนที่เรียกว่า Supply Chain Security เพื่อให้แต่ละอุตสาหกรรมสามารถยืนอยู่บนขาตัวเองให้ได้มากที่สุด ผลิตทดแทนการนำเข้าให้มากที่สุด โดยการให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมทำการศึกษาว่าชิ้นส่วนไหนควรผลิตในประเทศได้ แม้ว่าต้นทุนการผลิตอาจจะแพงกว่าการนำเข้า แต่ทาง ส.อ.ท. จะยื่นเรื่องต่อภาครัฐให้การสนับสนุนในเรื่องภาษีเพื่อทำให้สามารถแข่งขันได้ต่อไปในอนาคต

ระยะเวลาการกลับมาฟื้นตัวของอุตสาหกรรม

ในภาวะโควิด-19 หลายอุตสาหกรรมได้ผลในเชิงบวก ส่งออกได้มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบจากยอดขาย Demand ที่ลดลงของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP หากตลาดโลกยังมีปัญหาในเรื่องโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถหาวัคซีนมารักษาได้ และยังคงระบาดหนักในประเทศที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงอย่างสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นในยุโรป สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องทำในช่วงสั้น ๆ นี้คือ การมีสภาพคล่องทางการเงินมาช่วยเหลือ SME และการทำ Local Economy หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและภูมิภาคนี้ เพิ่มกำลังซื้อหรือผลิตสินค้าด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น ส.อ.ท. จึงเล็งเห็นว่าควรสนับสนุนและผลักดันในเรื่องการเกษตร รวมถึงมองว่าระบบโลกาภิวัฒน์จะหดตัวลงเหลือแค่ในระดับภูมิภาค ในทวีปนั้น ๆ หรือแค่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยจะผนวกกับตลาด CLMB หรือเพื่อนบ้านของไทย ให้ความสำคัญจุดนี้ให้มากขึ้น จนกว่าจะมีวัคซีน และจนกว่าเศรษฐกิจของโลกจะค่อย ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

การปรับตัวของผู้ประกอบการ

ขณะนี้ผู้ประกอบการทั้งหลายกำลังผจญกับสิ่งที่ไม่เคยเจอ และไม่คิดว่าจะได้เห็นมาก่อน ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทุกอย่างเป็นไปได้ เหมือนกับว่าโลกกำลังหยุดหมุน ดังนั้น ใน New Normal ที่จะเกิดใหม่ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ ทุกคนจะต้องเร่งในการปรับตัว สิ่งที่ทำง่ายที่สุดในตอนนี้คือ การลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เพื่อรักษาสภาพคล่อง มองหาธุรกิจใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเสริม เช่น หลายคนเคยพึ่งพาแต่การค้าขายออฟไลน์ หรือการค้าขายทั่ว ๆ ไป แต่ทุกวันนี้ดิจิทัลมีประโยชน์และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เราจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมของเราปรับไปขายทางออนไลน์มากขึ้น ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และขอเน้นย้ำว่า “ภายใต้วิกฤติ มีโอกาส” แต่ต้องปรับตัวให้เร็ว ล้มแล้วต้องรีบลุก รีบซ่อมแซมในส่วนที่บาดเจ็บ และพยุงตัวเองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า