คุยคนพิมพ์ “วิถี New Normal ของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์”

คุยคนพิมพ์ “วิถี New Normal ของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์”

โดย คุณประสิทธิ์ คล่องงูเหลือม ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์

จากสถานการณ์โควิด-19 การพบปะพูดคุยกันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ดังนั้นช่องทางออนไลน์ จึงเป็นช่องทางที่ช่วยติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายแบบ Real Time อ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานหลักสูตรมีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคุณประสิทธ์ คล่องงูเหลือม ประธานอุตสาหกรรมการพิมพ์ วาระ 2562-2563 จึงได้ริเริ่มการพูดคุยสนทนาผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก และยูทูป โดยการเรียนเชิญคณะมนตรีสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ มาเสวนาเพื่อหาทางรอด พูดคุยถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 รวมไปถึงเรื่องทั่วไปที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

ในฐานะประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ คุณประสิทธิ์ ได้เล่าถึงประวัติของสหพันธ์โดยสังเขป รวมไปถึงแผนกลยุทธ์ที่ตั้งไว้ก่อน และหลังสถานการณ์โควิด-19

สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ เกิดขึ้นจากความต้องการของกลุ่มสมาคมต่าง ๆ ที่ประกอบการเกี่ยวข้องกับการพิมพ์ เพื่อต้องการเข้าไปช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่าง ๆ ระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะซ้ำซ้อนเหลื่อมล้ำกันมาตลอดระหว่างสมาชิกของผู้ประกอบการ และในช่วงเวลาที่ผ่านมา บทบาทของการแก้ปัญหาระหว่างภาครัฐกับเอกชน ส่วนใหญ่รัฐบาลจะยอมรับฟังผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหลัก กลุ่มสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเห็นว่า ควรจะมีการทำงานร่วมกันเป็นแนวทางเดียวกัน และควรนำปัญหาต่าง ๆ นำเสนอผ่านทางกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว ให้เป็นผู้ดำเนินการ ประกอบกับระหว่างนั้นได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งภาคของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย / เอเชียอาคเนย์ การพิมพ์และสิ่งพิมพ์หนังสือก็รวมอยู่ในข่ายที่จะต้องจัดตั้งเป็นภาคีของภูมิภาคด้วย โดยสาขาของอุตสาหกรรมการพิมพ์ได้ถูกจัดให้เป็นแกนนำของการพิมพ์ของประเทศที่จะเข้าไปร่วมจัดตั้งเป็นภาคี (Printing and Publishing Club)

จากสาเหตุดังกล่าว ประกอบกับความต้องการของผู้ประกอบทางด้านการพิมพ์ที่จะร่วมกันแก้ปัญหาของบรรดาสมาชิก จึงได้นำรูปแบบการทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ (ของสภาอุตสาหกรรมฯ) มาศึกษาและปรับโครงสร้างให้เข้ากับการทำงานของกลุ่มการพิมพ์ ดังนั้นในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2536 จึงมีมติจัดตั้งเป็นสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ เป็นแกนกลางประกอบด้วยสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 7 กลุ่ม โดยให้นายกทุกสมาคมทำหน้าที่เป็นมนตรีและทำการเลือกประธานมนตรีและจัดแบ่งการทำงานเป็นรูปแบบองค์กรชัดเจน โดยประธานมนตรีจะมีวาระการทำงานครั้งละ 1 ปี และจะสลับเปลี่ยนหมุนเวียนให้นายกของแต่ละกลุ่มเข้าทำหน้าที่ประธาน

สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ไม่จัดกิจกรรมใด ๆ ที่ซ้ำซ้อนกับสมาชิก แต่สหพันธ์ฯ เองก็ต้องมีงบประมาณที่ใช้ในการบริหาร ดังนั้น สิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก คือ การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับกีฬา แต่สุดท้ายกิจกรรมดังกล่าวก็ต้องล้มเลิกไป และเปลี่ยนแผนมาจัดกิจกรรมที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า คือ การจัดสัมมนา ซึ่งกำหนดไว้ 3 ครั้ง และจัดไปแล้ว 2 ครั้ง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้สัมมนาครั้งที่ 3 ต้องพักไว้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เมื่อเป็นดังนั้น จึงได้มีการหารือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ หรือหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และมีการลงความเห็นว่าใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารกัน จึงเกิดเป็นการถ่ายทอดสด “คุยคนพิมพ์” ผ่านช่องเฟซบุ๊กและยูทูป ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ขึ้นมา

หลังหมดสถานการณ์โควิด-19 เราต้องหารือกันใหม่อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากยังค้างในเรื่องของการจัดสัมมนาครั้งที่ 3 เนื่องจากรับเงินจากผู้สนับสนุนและผู้เข้าร่วมสัมมนามาแล้ว และมีเรื่องหนึ่งที่ได้มีการพูดคุยเพื่อหารือกันในคณะมนตรีสหพันธ์ฯ คือการรวบรวมปัญหา ผลกระทบของทุกสมาคมในสหพันธ์ฯ และนำปัญหาเหล่านั้นเข้าเพื่อขอรับการสนับสนุนพบกับภาครัฐ

การทำงานแบบ Work from Home

การทำงานของคนในอุตสาหกรรมการพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากถูก Disrupt จากเทคโนโลยี ส่งผลให้ต้องมีการปรับตัวกันพอสมควร มีการปรับรูปแบบการทำงาน พยายามลดขนาดของธุรกิจลง ทำงานในลักษณะการทำงานร่วมกัน บริษัทเล็กทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่ แต่คำว่า Work from Home อาจจะมีบ้างในบางธุรกิจที่เป็นโรงพิมพ์ขนาดกลางหรือใหญ่ ที่แยกบางแผนกทำงานที่บ้าน

หลังจากเจอวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า การทำงานในรูปแบบ Work from Home ช่วยได้ในบางแผนก เช่น กราฟิก บัญชี หรือแม้กระทั่งผู้บริหารเอง สามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย หรือระบบดิจิทัลต่าง ๆ นำมาใช้ได้

New Normal กับคนในวงการอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

ด้วยความเปลี่ยนแปลงจากการถูก Disrupt จนตอนนี้เจอสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดคำถามว่า จะต้องทำตัวอย่างไร หรือปรับตัวตามวิถี New Normal อย่างไร คำว่า “New Normal” หากแปลตามตรงจะได้ความหมายว่า ความปกติใหม่ หรือ แต่หากแปลตามความหมาย คือ ฐานการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ให้แตกต่างจากอดีต ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจการพิมพ์ จะต้องทำการ Support ลูกค้าให้ต่างจากการดำเนินชีวิตในอดีต การหาอาชีพที่สอง ซึ่งต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กำลังเติบโต หากมีโอกาสจับธุรกิจก็ไม่ควรทิ้งโอกาส รวมไปถึงการทำงานผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นแต่ก็ไม่ลืมกระแสออฟไลน์

สามารถรับชม “คุยคนพิมพ์” ย้อนหลังได้ที่ Boonliang Keawnapan