ออฟไลน์ หรือ ออนไลน์ ทางรอด ทางเลือก ของบรรจุภัณฑ์งานพิมพ์

ออฟไลน์ หรือ ออนไลน์ ทางรอด ทางเลือก ของบรรจุภัณฑ์งานพิมพ์

ในการนำมาปรับให้เข้ากับการประกอบธุรกิจ เพื่อรับมือกับผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

โดย คุณจิตร์งาม พราหมณีนิล ผู้บริหาร K-Print

การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด E-Commerce ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อขายสินค้าได้มากขึ้น จากเคยต้องเดินทางไปถึงร้านเพื่อจะได้เลือกซื้อหาสินค้า แต่ทุกวันนี้การเลือกซื้อได้ง่ายมากขึ้น ลูกค้าสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านการเลือกชมและรีวิวสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ ในขณะเดียวกันการซื้อขายออนไลน์ก็ส่งผลกับหลายๆ ธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Disruptive Tecnology ดังนั้น เราต้องนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นแรงกระตุ้นเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ วารสาร Thai Print ฉบับนี้ คุณจิตร์งาม พราหมณีนิล ผู้บริหาร K-Print จะมาแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อเป็นทางเลือก ในการนำมาปรับให้เข้ากับการประกอบธุรกิจเพื่อรับมือกับผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงไปมากหรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างไร

ธุรกิจสิ่งพิมพ์เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับแรงกระแทกจาก Disruptive Technology เราอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย” ทำให้เข้าใจว่า อาจจะถูกทำให้หายไปหรือตายไป แต่อยากให้เข้าใจว่า มันคือการที่ธุรกิจต้องปรับตัวไปตามเทคโนโลยีและปรับตัวไปตามพฤติกรรมของผู้ซื้อหรือผู้บริโภค หลายๆ เทคโนโลยีทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ หากเราปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมใหม่นั้นได้ คำว่า Disrupt จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตื่นตัวมากกว่าที่จะมองว่าจะต้องหนีหรือจะต้องตายไป ออนไลน์ อาจจะไม่ใช่ทางเลือก หรือ ทางรอด แต่สามารถนำมาเป็นจุดแข็งในธุรกิจการพิมพ์ได้

บทบาทของ Digital Marketing

หากจะพูดถึงคำว่า Digital Marketing อาจจะต้องขออธิบายคำว่า Marketing ก่อน หลายครั้งเราอาจจะเข้าใจว่าการที่เรามีพนักงานขาย คือการทำมาร์เก็ตติ้งหรือการทำการตลาดแล้ว แต่ทุกวันนี้การทำการตลาดไม่ใช่แค่การใช้เซลล์หรือพนักงานขายเท่านั้น เพราะเซลล์คือการขาย 1 บุคคลไปยังอีก 1 บุคคล แต่มาร์เก็ตติ้งคือ การขาย 1 หน่วยมุ่งเน้นไปยังหลายคน เพื่อสร้างการรับรู้ “การสร้างการรับรู้” นั้นเริ่มจาก ทำไมลูกค้าต้องซื้อสินค้าของเรา? บวกกับการที่มาร์เก็ตติ้งต้องสร้างประสบการณ์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์สามารถทำสองสิ่งนี้ได้ เมื่อเพิ่มคำว่า Digital เข้ามา เราจะเห็นสิ่งรอบข้างใกล้ตัว เช่น Line Facebook หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ นำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาครอบการตลาด เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า

อาจจะมีคำถามว่า Digital Marketing จะต้องล้ำหน้า ใช้ Robot หรือ AI ขั้นสูงไหม? จุดนั้นอาจจะเป็นแค่เครื่องมือหรือส่วนเสริม แต่ควรเริ่มจากกลยุทธ์และความเข้าใจในตัวลูกค้าเสียก่อน “อย่าเริ่มต้นจากเทคโนโลยีแต่ให้เริ่มต้นจากกลยุทธ์”

Tools หรือเครื่องมือสำหรับการตลาดออนไลน์ตัวใด ที่ตอบโจทย์ให้กับธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มากที่สุด

การเลือกใช้เครื่องมือสำหรับการตลาดไม่ได้มีเพียงแค่ช่องทางเดียว แต่สามารถเลือกใช้ได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับลักษณะการทำการค้า การเข้าหาลูกค้าที่มีแบบ B to B หรือ B to C ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับต้นทาง ที่หมายถึงเว็บไซต์ หรือ Facebook ควรมีการอัพเดท มีการดาวน์โหลดหน้าเว็บได้อย่างรวดเร็วเพื่อดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อ รวมไปถึงสามารถรองรับ Google Business สิ่งสำคัญในการทำเว็บไซต์คือ ข้อมูลสำหรับติดต่อ ซึ่งอาจจะหมายถึงเบอร์โทรศัพท์ หรือ Line ID เพื่อเพิ่มช่องทางหรือเครื่องมือในการติดต่อธุรกิจให้ได้หลายทางมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เราต้องทิ้งรอยเท้าหรือ Foot Print ของธุรกิจของเราในโลกออนไลน์ให้มากที่สุด อาจจะไม่เพียงแค่การขายสินค้าแต่หมายถึงบทความดีๆ มีคุณภาพ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าในอนาคต


การปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีและผู้บริโภคของธุรกิจ Start up

อย่างที่เราทราบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปตามเทคโนโลยี ดังนั้น แค่ใช้เทคโนโลยีหรือโชเซียลมีเดียเป็นยังไม่เพียงพอ แต่ต้องสังเกตพฤติกรรมของลูกค้า อาจจะเก็บโดยวิธีพื้นฐานทั่วไปหรือการใช้ซอร์ฟแวร์สำหรับการจัดเก็บข้อมูลโดยเฉพาะ

ความแตกต่าง จุดอ่อน และจุดแข็งของการตลาดออนไลน์และออฟไลน์

ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไม่มีเส้นแบ่ง แต่เป็น Omni-Channel ซึ่งหมายถึง การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายช่องทาง การเชื่อมโยงช่องทางต่างๆ รวมให้เป็นหนึ่งเดียว โดยผสมผสานช่องทางการสื่อสารเหล่านั้นทั้งออนไลน์ (Online) และการขายหน้าร้าน (Offline) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอย่างชาญฉลาดและไร้รอยต่อ

ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน เพราะเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสร้างการรับรู้ในออนไลน์ได้ และในขณะเดียวกันเราต้องสร้างประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ในออฟไลน์หรือการขายหน้าร้านไปด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้การทำออนไลน์ไม่เพียงแค่เชิงการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำออนไลน์ นำดิจิทัล เปิดรับธุรกิจหรือนำซอร์ฟแวร์ประเภทนี้เข้ามาในธุรกิจ สร้างวัฒนธรรมในองค์กรให้พนักงานเปิดรับเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลให้มากขึ้น ในวันหนึ่งเราอาจจะต้องพิมพ์โบร์ชัวร์ในรูปแบบของ “Personalized Marketing” หรือ “การตลาดเฉพาะบุคคล” 1,000 ราย 1,000 ชิ้น 1,000 คอนเทนต์ก็ได้ โดยที่เราเป็นผู้จัดการให้กับลูกค้าทั้งหมด แต่หากถามว่าเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ดีขึ้นสำหรับธุรกิจสิ่งพิมพ์หรือไม่นั้น ก็ตอบได้ว่าใช่ เพราะทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์เกิดความน่าสนใจมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้เห็นได้ว่าทั้งออนไลน์และออฟไลน์คือเรื่องเดียวกัน ไม่อยากให้มองว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นทางรอดหรือทางเลือก แต่เป็นอาวุธในการแข่งขัน เพราะฉะนั้น เราหลีกไม่ได้ที่จะต้องออนไลน์และออฟไลน์ไปด้วยกัน