มุมมองใหม่ในธุรกิจการพิมพ์ (New Perspective in Printing Business)

มุมมองใหม่ในธุรกิจการพิมพ์ (New Perspective in Printing Business)

คุณหฤษฎ์ หิรัญญาภินันท์ – บริษัท เธราพรินต์ จำกัด
คุณคทาวุธ เอื้อจงประสิทธิ์ – บริษัท อี พี ซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด

การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของ Digital Disruption ที่ต้องอาศัยการปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี หลาย ๆ ที่อาจจะเป็นบริษัทที่บริหารแบบรุ่นต่อรุ่น จากรุ่นปู่ส่งต่อมารุ่นพ่อและส่งต่อมาถึงรุ่นลูก รับต่อกันมาเป็นมรดกตกทอด แต่ก็มีไม่น้อยที่ปรับตัวและผันตัวเองให้ทันเทคโนโลยีโดยการ Start up ธุรกิจใหม่ๆ รวมไปถึงการต่อยอด เพิ่มไลน์ใหม่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม ยกตัวอย่างเช่น 2 นักธุรกิจหนุ่ม คุณหฤษฎ์ หิรัญญาภินันท์ – บริษัท เธราพรินต์ จำกัด และ คุณคทาวุธ เอื้อจงประสิทธิ์ – บริษัท อี พี ซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มาถ่ายทอดเรื่องราวและแนะนำแนวทาง มุมมองใหม่ในธุรกิจการพิมพ์ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เหมาะกับกระแสโลกในปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้มาจากการสัมมนา “มุมมองใหม่ในธุรกิจการพิมพ์ (New Perspective in Printing Business” เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

แนวคิดในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน

คุณหฤษฎ์ ได้เล่าให้ฟังว่า จากเดิมที่ครอบครัวมีธุรกิจด้านการพิมพ์อยู่แล้ว และมีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้งานและมองเห็นว่างานในปัจจุบันมีความแตกต่างจากสมัยก่อนซึ่งมาในรูปแบบ Print on Demand ซึ่งจำนวนผลิตน้อย มากกว่าที่จะผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าไว้ ทำให้เราเสียโอกาสในการรับงานจำนวนน้อย จึงได้หันมาจับงานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับงานในส่วนนี้ แต่ไม่ได้คิดว่าจะต่อยอดจากธุรกิจของครอบครัวเนื่องจากบริษัทของคุณพ่อ (คุณเรืองศักดิ์ หิรัญญาภินันท์ – บริษัท โคแพค จำกัด) เป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่ ในเรื่องของเอกสารหรือการติดต่องานไม่สามารถทำให้เรียบร้อยได้ในเวลาเพียงวันหรือสองวัน จึงได้ตั้งบริษัทแยกออกมา ชื่อ บริษัท เธราพรินต์ จำกัด

ในการบริหารธุรกิจ คุณหฤษฎ์ไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์อะไรที่ตายตัวมากนัก แต่อาศัยการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงจากลูกค้า หมายความว่า ดูแลลูกค้าด้วยตัวเองและเรียนรู้จากลูกค้าไปเรื่อยๆ เก็บสถิติต่างๆ จากลูกค้าเพื่อนำมาหาประโยชน์จากจุดนั้นโดยไม่ทิ้งโอกาสให้สูญเปล่า ยกตัวอย่างเช่น หากมีลูกค้าติดต่อให้ทำงานชิ้นหนึ่งซึ่งบริษัทไม่ได้รับผลิต และมีอีกหลายเจ้าที่ติดต่อเข้ามาในลักษณะเดียวกัน ตรงจุดนี้ต้องคิดแล้วว่าเราจะทิ้งโอกาสตรงจุดนี้ไปอีกหลาย ๆ ครั้ง หรือจะเปิดรับโอกาสนี้

ส่วนคุณคฑาวุธ ได้เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนที่ค่อนข้างโชคดี หลังจากเรียนจบในปีที่เกิดภาวะวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤติที่ถือว่าไม่ได้สาหัสมากนักหากเทียบกับในยุคปัจจุบัน ในอดีตเราเป็นผู้นำเข้าหลักรวมไปถึงค่าแรงยังไม่สูงเท่าตอนนี้ ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าหลายอย่างในโลก แต่ในปัจจุบันหลายๆ อุตสาหกรรมเริ่มกระจายตัวไปตามประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย เมื่อมองถึงจุดนี้ จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะแข่งกับเขาได้อย่างไรเมื่ออุตสาหกรรมหลักๆ ของไทยถูกย้ายไปจนเกือบหมด และหาคำตอบด้วยการทำในเรื่องที่ประเทศเพื่อนบ้านทำตามไม่ได้ จากประสบการณ์การทำงานกล้าการันตีได้เลยว่า สินค้าประเภทฉลาก อย่างเช่น Nike, ADIDAS หรือบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ต่างๆ ประเทศไทยได้รับการยอมรับมากกว่า จึงได้ตั้ง บริษัท Thai KK Tech (บริษัทร่วมลงทุนระหว่าง บริษัท Thai KK จำกัด ผู้ผลิตสติ๊กเกอร์รายใหญ่ในบ้านเรา กับบริษัท อี พี ซี จำกัด ตัวแทนจำหน่ายกระดาษ ชั้นนำจากต่างประเทศ) มีความมุ่งมั่นในการทำฉลากอัจฉริยะ Smart Label เป็นหลัก

มุมมองในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันและอนาคต

คุณหฤษฎ์แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า หลายๆ คนอาจจะมองว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงขาลง แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่สิ่งพิมพ์ประเภท Commercial หรืองานพิมพ์โบรชัวร์ หนังสือเท่านั้น แต่ยังมีงานบางประเภทที่ไม่เคยลดลง เป็นงานที่ให้คุณค่ากับผู้รับ เช่น การ์ดแต่งงาน ที่นับสถิติแล้วจำนวนการผลิตไม่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับสิ่งพิมพ์อื่นๆ เทคนิคการพิมพ์ที่นำมาใช้ในการ์ดแต่งงานมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องการจะสื่อคือ สิ่งที่ผู้จะใช้งานชิ้นนั้นๆ ต้องการคือ ไม่ต้องการงานที่ใช้แล้วทิ้ง แต่ต้องการงานพิมพ์ที่มีคุณค่า ซึ่งการที่จะเราจะสร้างคุณค่าให้กับงานพิมพ์นั้นเราต้องใช้เทคนิคการพิมพ์มากกว่า 1 ระบบ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับงาน จึงอยากให้โรงพิมพ์ไหนๆ ก็ตามที่พิมพ์แค่ระบบเดียวตระหนักว่าอาจจะต้องลำบากในอนาคต แต่หากยังไม่มีความพร้อมที่จะลงทุนเพิ่ม แนะนำว่าให้หา Partner ที่สามารถรองรับในจุดนี้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในอนาคต

ในมุมมองของคุณคฑาวุธมองว่า หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าธุรกิจการพิมพ์ในปัจจุบันเป็นช่วงขาลง แต่นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่จะมีการเปลี่ยนแปลง การพิมพ์จะเข้าไปซึมซับอยู่ในธุรกิจอื่นๆ ในอนาคตทุกอย่างรอบตัวจะมีการพิมพ์เข้าไปเกี่ยวข้อง เพียงแต่อาจจะมีในรูปแบบต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ดังนั้น จึงไม่ควรเกาะติดลูกค้าเพียงอย่างเดียวแต่ต้องสังเกตทิศทางภาพรวมกระแสของโลก หรือแม้แต่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเองก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรควรตระหนักถึง เนื่องจากกระแสในเรื่องของรักษ์โลก การลดใช้พลาสติก หรือการใช้สิ่งของที่ส่งเสริมสุขภาพ จึงควรมองถึงโอกาสที่จะนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจการพิมพ์ซึ่งมีหลายลู่ทาง ทั้งในปัจจุบันและต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ควรปรับตัวอย่างไรต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

คุณหฤษฎ์ แสดงความเห็นว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันธุรกิจสิ่งพิมพ์มีจำนวนลดลง หมายความว่า ปริมาณการพิมพ์ในแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยลง แต่ในทางกลับกันมีจำนวนครั้งของการพิมพ์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงอยากแนะนำหลักง่ายๆ คือ การเพิ่มฝ่ายขาย ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีเครื่องพิมพ์ 3 เครื่อง อาจจะมีฝ่ายขาย 10 คน เพื่อรองรับปริมาณการพิมพ์ที่มีจำนวนครั้งมากขึ้น หมายถึงการสั่งงานในจำนวนที่บ่อยครั้งขึ้น หากยังมีฝ่ายขายในจำวนที่ไม่เพียงพอกับจำนวนงานที่ต้องรองรับ จะส่งผลให้เสียโอกาสตรงจุดนั้นได้ ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ได้รับกลับมานั้นสามารถชดเชยกับการลงทุนตรงส่วนนี้

ทางด้านคุณคฑาวุธได้กล่าวว่า ไม่ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน เราสามารถรับมือได้ด้วยการเปลี่ยนมุมมอง ทุกวันนี้การลงทุนในประเทศไทยมีช่องทางมากมาย เพียงแต่ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกวันนี้เขาทำอะไรกัน แนวโน้มของธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังเดินไปในทิศทางไหน จะต้องจับตรงนั้นให้ได้แล้วนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับธุรกิจ

การเตรียมตัวรับมือกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ในอนาคต

คุณหฤษฎ์แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปเร็วมาก จนเราไม่สามารถกะเกณฑ์ได้เลยว่า ในอีกปีสองปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง แต่สิ่งที่ควรต้องทำเป็นอันดับแรกคือการรับรู้ข่าวสารให้มากที่สุด เมื่อรับมาแล้วต้องทำการกรองข่าว รับรู้ ตระหนักรู้ วิเคราะห์ และทำวิจัย ในจุดนี้จะช่วยให้เราคัดกรองข้อมูลได้รับรู้ข่าวสารที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรามากที่สุด

ด้านคุณคฑาวุธได้กล่าวว่า ควรทำการศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่าทิศทางของโลกกำลังดำเนินไปในทิศทางใด จะช่วยเสริมสร้างโอกาสทองในการทำธุรกิจการพิมพ์ในอนาคตได้