ปัจจัยเสี่ยงและการบริหารจัดการความเสี่ยง (ตอนที่ 4)

ปัจจัยเสี่ยงและการบริหารจัดการความเสี่ยง (ตอนที่ 4)

การวัดความสามารถที่จะดำเนินการให้วัตถุประสงค์ของงานประสบความสำเร็จ
ภายใต้การตัดสินใจ งบประมาณ กำหนดเวลา และข้อจำกัดด้านเทคนิคที่เผชิญอยู่

โดย ธีรพงศ์ ประดิษฐ์กุล

ก่อนอื่นขอสวัสดีต้อนรับปีใหม่ สำหรับเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน 2020 ขอให้กิจการการงานของสมาชิกผู้อ่านทุกท่านได้รับแต่สิ่งที่ดี ทำมาค้าขายเจริญก้าวหน้า และขอให้ธุรกิจของท่านยั่งยืนสืบไปครับ

ในวารสารสมาคมการพิมพ์ไทยฉบับนี้ ผมจะมากล่าวถึงความเสี่ยงและประเภทความเสี่ยงที่ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ต้องพบเจอ และจะหาทางออกได้อย่างไร ผู้เขียนเองต้องขอออกตัวก่อนว่าสิ่งที่ได้เขียนนี้เป็นปัจจัยพื้นฐาน ในบางธุรกิจอาจจะพบเจอปัญหาและความเสี่ยงมากกว่านี้ และอาจจะมีวิธีแก้ได้ดี แต่ผมจะขอเขียนให้สมาชิกผู้อ่านได้เตรียมพร้อม และแก้ไขได้ในระดับต้น เป็นปัญหาพื้นฐาน แต่ก็ไม่สามารถละเลยได้

ความหมายของการบริหารความเสี่ยง

ความเสี่ยง (Risk) คือ การวัดความสามารถ ที่จะดำเนินการให้วัตถุประสงค์ของงานประสบความสำเร็จ ภายใต้การตัดสินใจ งบประมาณ กำหนดเวลา และข้อจำกัดด้านเทคนิคที่เผชิญอยู่ อย่างเช่น การจัดทำโครงการเป็นชุดของกิจกรรมที่จะดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอนาคต โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ ภายใต้กรอบเวลาอันจำกัด ซึ่งเป็นกำหนดการปฏิบัติการในอนาคต ความเสี่ยงจึงอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอน และความจำกัดของทรัพยากรโครงการ ผู้บริหารโครงการจึงต้องจัดการความเสี่ยงของโครงการ เพื่อให้ปัญหาของโครงการลดน้อยลง และสามารถดำเนินการให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ การจัดการความเสี่ยง หรือ การบริหารความเสี่ยง (Risk management) คือ การจัดการความเสี่ยง ทั้งในกระบวนการในการระบุ วิเคราะห์ (Risk analysis) ประเมิน (Risk assessment) ดูแล ตรวจสอบ และควบคุมความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับกิจกรรม หน้าที่และกระบวนการทำงาน เพื่อให้องค์กรลดความเสียหายจากความเสี่ยงมากที่สุด อันเนื่องมาจากภัยที่องค์กรต้องเผชิญในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือเรียกว่า อุบัติภัย (Accident)

ความเสี่ยงทางธุรกิจ

ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเมื่อโลกอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาท ก็ทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือก็จะลดน้อยถอยลงไป หลายธุรกิจต้องลดขนาด หรือต้องปิดตัวลง ผมเองก็เคยอยู่ในธุรกิจแบบนี้ แน่นอนที่สุดผู้ที่เห็นถึงทางรอดก็จะหาวิธีเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด จึงหนีมาทำธุรกิจสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์กันมากขึ้น สิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของธุรกิจ

ความเสี่ยงด้านการตลาด

กลไกลทางการตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลง เปรียบได้เหมือนเมื่อธุรกิจหนึ่งมีความนิยมก้าวหน้า หลายคนมองเห็นช่องทางนี้ว่ามีโอกาสก็จะหันมาทำ และทำให้ทุกคนเข้ามาในธุรกิจนี้แต่ไม่ได้คิดว่าคนจำนวนมากก็มองเช่นเราเหมือนกัน เมื่อมีคนจำนวนมากเข้ามาก็เกิดส่วนแบ่งทางการตลาด เมื่อมีคนจำนวนมากแต่ผู้ผลิตบริโภคมีจำกัดก็เกิดภาวะวิกฤติได้

การจัดการความเสี่ยงด้านการตลาด

ให้เราสำรวจตัวเองก่อนที่จะเข้าสู่ธุรกิจที่เราจะก้าวครั้งใหม่นี้ว่า เรามีจุดเด่น จุดด้อย และโอกาสเติบโตทางธุรกิจเรามีเพียงไร และเราจะต้องพบเจอกับความเสี่ยงด้านในบ้าง การวิเคราะห์ความเสี่ยงเรื่องการตลาดเป็นการวิเคราะห์ที่นับว่าสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่ว่าเราต้องดูภายในของเรา แต่ต้องดูศักยภาพคู่แข่งของเราด้วย ส่วนมากผลกระทบที่มาจากภายนอกก็มีผลกับการทำธุรกิจของเราไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (โดยเฉพาะสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ในกลไกลการตลาด) เราต้องหาตัวเองให้เจอว่าเรามีจุดเด่นข้อได้เปรียบเรื่องที่จะทำนี้มากน้อยกว่าคู่แข่งในตลาดอย่างไร

ความเสี่ยงทางด้านวัตถุดิบ

ขาดแคลนวัสดุและวัตถุดิบ เมื่อวัสดุที่ต้องใช้ขาดแคลนก็ภาวะราคาสูง เพราะการตั้งราคาเกิดจากตลาดเป็นของผู้ขาย จนทำให้ผู้ผลิตต้องแบกต้นทุนที่สูงขึ้น และผู้ผลิตรายย่อยจะสู้รายใหญ่ที่มีเงินทุนจำนวนมากที่มีศักยภาพที่แข็งแกร่งมิได้เลย ที่สุดแล้วก็เกิดวิกฤติในกลุ่มผู้ผลิตขนาดเล็กได้

การจัดการความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ

วัตถุดิบที่สำคัญของการทำการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ เช่น กระดาษ หมึก เคมี วัสดุอื่น เช่น พลาสติก เหล็ก เป็นต้น เราต้องมั่นใจว่าวัตถุดิบเหล่านี้ จะมีอยู่และหาซื้อได้ ส่วนผู้กำหนดราคาจะเป็นใครนั้น ก็อยู่ที่กลไกลการตลาดที่ต้องยอมรับว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา กระดาษ หรือ พลาสติก ผู้กำหนดราคามักจะเป็นผู้ขายเราแทบจะต่อรองราคามิได้เลย สาเหตุก็มาจากตลาดการตั้งราคาเป็นของผู้ขาย ดังนั้นธุรกิจใหญ่ๆ ถึงพยายามนำเข้าวัตถุหลักด้วยตัวเอง และเราลองถามตัวเองว่าเรามีอำนาจต่อรองได้ถึงขนาดนั้นหรือไม่ เพราะวัสดุหลักที่นำมาใช่ส่วนใหญ่ก็มาจากกระดาษ หรือ พลาสติกนี้เอง ดังนั้นเราควรจะหาธุรกิจคู่ค้าที่ขายวัตถุดิบดังที่กล่าวมาแล้วเพื่อเป็นพันธมิตรทางการค้า เพื่อให้เกิดเครือข่ายและท้ายที่สุดก็จะสามารถได้ราคาที่สามารถจะแข่งขันได้

ความเสี่ยงจากการผลิต

เคยสำรวจตัวเองหรือไม่ว่า สินค้าที่เราผลิตนี้มีความบกพร่องจากการผลิตมากน้อยเพียงไร เราวิเคราะห์ประเด็นออกมาได้หรือไม่ว่าเราผลิตเสียหายหรือพลาดที่เกิดจากเครื่องจักร บุคลากร หรือ ระบบการผลิตความซับซ้อนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายๆ โรงพิมพ์ต้องพบกับการสูญเสียรายได้ เนื่องจากงานแก้ งานซ่อมเป็นจำนวนมาก หรือ ความเสี่ยงด้านการผลิตนี้อาจจะเกิดจากวัตถุดิบที่ทำให้เกิดปัญหานี้ได้

การจัดการความเสี่ยงจากการผลิต

หลายโรงพิมพ์ได้ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์งานว่าเกิดอะไรขึ้น การตั้งทีมตรวจสอบวิเคราะห์หาสาเหตุนี้เป็นเรื่องที่ดีเป็นการเอาใจใส่งาน และเมื่อผู้ซื้อได้ทราบว่าเรามีทีมวิเคราะห์ปัญหาเช่นนี้ก็จะสร้างความเชื่อมั่น นอกเหนือจากที่เราได้ลดอัตราสูญเสียได้อีกด้วย การจัดการให้เครื่องจักรนั้นทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะกระทำ เพราะเครื่องพิมพ์และเครื่องจักรจำนวนมากมักจะขาดการเอาใจใส่ดูแล จนเครื่องไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพทั้งด้านคุณภาพและอัตราสิ้นเปลือง การหาคู่ค้าวัตถุดิบที่หลากหลายก็พอจะช่วยได้ เพื่อต่อรองกับเรื่องคุณภาพและราคา อาจจะทำให้การผลิตนั้นทำงานได้ง่ายและมีคุณภาพมากขึ้นได้ด้วย ดังนี้เราจึงควรเพิ่มโอกาสการต่อรองโดยหาผู้ค้ารายใหม่ๆ อยู่เสมอ

ความเสี่ยงจากสินค้าคงคลัง

หากมองเรื่องสินค้าคงคลังเราคงมองได้สองแบบใหญ่ๆ คือ สินค้าก่อนผลิตได้แก้วัตถุดิบที่อยู่ในสโตร์ และสินค้ารอส่งที่อยู่ในแวร์เฮาท์รอจัดส่ง สินค้าที่เป็นวัตถุดิบเราจะพบว่าเกิดจากการสั่งเข้ามาในอดีตและไม่ได้ใช้หรือเหลือใช้ทำให้เงินจำนวนมากมาทิ้งเสียเปล่า ถึงแม้ว่าเราจะนำมาใช้ในโอกาสต่อไปแต่เราก็เสียโอกาสที่เราต้องจ่ายเงินล่วงหน้าและเสียโอกาสเรื่องดอกเบี้ย และสินค้าที่รอส่งก็เช่นกัน เมื่อเราผลิตแล้วก็ควรจะดำเนินการส่งทันที เราจึงต้องหาวิธีการผลิตที่ให้พอเหมาะกับเวลา แต่ก็มีไม่น้อยที่ผู้สั่งจ้างผลิตมักจะให้เราเป็นสต๊อกสินค้าและให้เปิดการส่งเป็นงวดๆ ผลเสียที่เกิดขึ้นก็คือ เราต้องเสียพื้นที่ เสียต้นทุนที่ต้องผลิตเก็บไว้ให้ และเสียโอกาสที่ได้ราคาต่อชิ้นน้อยลงเพราะสั่งจำนวนมากแต่ส่งของทีละน้อย

การจัดการความเสี่ยงจากสินค้าคงคลัง

หากเป็นสินค้าคงคลังก่อนการผลิต สามารถที่จะจัดระเบียบทั้งสโตร์ การสั่งสินค้าเข้า การทำรายงานสโตร์กับของเหลือที่มีอยู่ ของเก่าค้างสต๊อกที่เหลือใช้ เช่น หมึก กระดาษ ผ้ายาง เคมีต่างๆ ต้องพยายามนำมาใช้ จัดระบบให้มีการใช้และเบิกแล้วมาก่อนเบิกก่อนเพื่อป้องกันสินค้าหมดอายุ แบบ First In First Out ส่วนสินค้ารอส่งก็สามารถให้ฝ่ายแวร์เฮ้าท์และฝ่ายการตลาดช่วยจัดการต่อรองพูดคุยกับลูกค้าได้เพื่อการส่งตามกำหนดเวลา หรือเร็วกว่ากำหนดเวลาก็จะช่วยได้ การมีเพื่อและมีสายสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่ากับผู้ขายวัตถุดิบ หรือลูกค้าของเราก็ถือว่าเป็นเรื่องดี

ความเสี่ยงจากเทคโนโลยี

เราได้เห็นเครื่องมือ เครื่องจักร ระบบ Automation มากมายที่เริ่มเข้ามาสู้การผลิต รวมทั้งระบบ 5G ที่จะเข้ามาเร็วๆ นี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาก และรวดเร็วพอๆ กับความต้องการของผู้บริโภค การลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมก็รวดเร็วพอกัน การเปลี่ยนแปลงการใช้วัสดุผลิตก็มีการเปลี่ยนจนผู้ลงทุนต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อความนิยมใช้และภาวะแวดล้อมด้านมลพิษ อย่างที่เราเห็นว่าถุงพลาสติกก็จะเป็นสิ่งต้องห้ามที่เราจะต้องเลิกใช้สักวันหนึ่ง และอีกอย่างที่เรามองข้ามไม่ได้คือแรงงานที่จะถูกทดแทนด้วยระบบ Automation หรือระบบเครื่องจักรกลอัจฉริยะมาแทนที่ แล้วเครื่องจักรแบบไหนที่เราต้องนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนและสามารถแข่งขันได้ในการผลิต

การจัดการความเสี่ยงจากเทคโนโลยี

หลายโรงงานได้ติดตามความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจากภาครัฐ ภาคเอกชน ในสื่อโซเชียลต่างๆ เราต้องเปิดหูเปิดตาให้กว้างไกลเพื่อมองสิ่งเหล่านี้ให้ลึก และกว้างไปพร้อมๆ กัน หาทีมพัฒนาการผลิตในแนวอนาคตมีที่ปรึกษา มองรอบด้านทั้งความต้องการผู้บริโภค หรือภาครัฐจะให้การสนับสนุนหรือมีข้อห้ามในทิศทางใด ไม่ว่าวัสดุที่ใช้ผลิต เพื่อสอดคล้องกับเครื่องจักร ระบบที่เราต้องใช้ต่อไป

ความเสี่ยงจากแรงงาน

ขณะนี้เราถือว่าสังคมปัจจุบันเป็นสังคมของคนสูงอายุ จะสังเกตได้ว่าคนสูงอายุมากขึ้นเพราะในอดีตประชากรของไทยไม่ได้ถูกคุมกำเนิดทำให้วัยที่มีอายุตั้งแต่ 40 – 80 ปี มีจำนวนคนวัยนี้มากขึ้น แต่ตรงกันข้ามคนวัย 20 – 40 ปี กลับมีน้อยลงเนื่องจากมีการคุมกำเนินอย่างได้ผลของภาครัฐเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ แรงงานจะน้อยลงและภาคธุรกิจที่ต้องการมากที่สุดคือแรงงานที่มีคุณภาพ ความรับผิดชอบ และทุมเทให้กับองค์กร ซึ่งนับได้ว่าหายากยิ่ง และคนกลุ่มนี้ก็ต้องการรายได้ค่าตอบแทนที่สูง เราไม่สามารถมองแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านได้มากนักเพราะไม่นานถ้าบ้านเมืองของพวกเขาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แน่นอนที่สุดพวกเขาก็ต้องกลับประเทศกำเนิดของพวกเขา ถึงเวลานั้นแรงงานจะขาดแคลน

การจัดการความเสี่ยงจากแรงงาน

หลายบริษัทจะมีฝ่ายพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถในการสรรหาทั้งแรงงานที่ทำงานในระดับล่าง ระดับวิศวกร หรือระดับบริหาร ต้องใช้ทีมพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเพื่อเลือกผู้ร่วมงานที่มีประสิทธิภาพ หากทีมที่เป็นผู้เลือกบุคลากรมาทำงานแต่ไม่มีประสิทธิภาพจะสามารถเลือกหรือพัฒนาทีมงานให้มีศักยภาพได้อย่างไร นี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้องค์กรนั้นเติบโตได้ช้า ในหลายบริษัทได้เอาระบบหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์ เพื่อลดเรื่องสวัสดิการ ความขัดแย้ง การลาออกบ่อยครั้ง แต่การลงทุนวิธีนี้เป็นการลงทุนระยะยาวและเป็นการลดต้นทุนที่ต้องอาศัยเวลาของการคุ้มทุนนานพอสมควร นักลงทุนที่มีทุนมากสามารถทำได้ และเราเห็นว่าเวลานี้บริษัทที่ผลิตระบบ Automation นี้ ได้รับความนิยมในระดับสูงเป็นลำดับ

ความเสี่ยงจากการเงินและเครดิต

การเงินเป็นหัวใจหลักอีกอย่างหนึ่งที่หากเราเกิดติดขัดเรื่องสภาพคล่องก็อาจทำให้ธุรกิจชะงักและสูญเสียอำนาจการต่อรอง เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นธุรกิจที่บางสถาบันการเงินนั้นจะพิจารณาธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นพิเศษเนื่องจากความเข้าใจและเหมารวมว่าเป็นธุรกิจที่เสี่ยง แต่มองข้ามการพิมพ์บรรจุภัณฑ์หรือการพิมพ์ที่ป้องกันการปลอมแปลงที่ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง เครดิตซื้อและเครดิตขายก็มีความสำคัญมากเพราะว่าหากเราเป็นธุรกิจที่ไม่มีอำนาจต่อรองแล้ว เราก็จะซื้อสินค้าราคาสูงและมีเครดิตการจ่ายที่สั้น ยิ่งไปกว่านั้นหากเราต้องให้เครดิตลูกค้ายาวนานกว่าเครดิตซื้อยิ่งทำให้เราอยู่ยากขึ้น ยกเว้นเสียแต่ว่าเรามีเงินจำนวนมากที่ใช้ในการหมุนเวียนได้

การจัดการความเสี่ยงจากการเงินและเครดิต

หากเราไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนเครดิต เราสามารถหาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่ให้แนวทาง การจัดระบบ คำแนะนำเกี่ยวกับเครดิตได้ มีหลายสถาบันก็ให้คำปรึกษาได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง เพราะการลดต้นทุนตัดลดค่าใช้จ่ายมิใช่ทางเดียวที่เป็นทางออก การแก้ปัญหาด้านการเงินเราไม่อาจจะแก้ได้ด้วยหลักการเงินการบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องแก้โดยใช้หลักการตลาดเข้ามาร่วมด้วย จึงจะทำให้คลี่คลายปัญหาได้

ความเสี่ยงจะอยู่คู่กับธุรกิจของเราตลอดไป ตราบใดที่เรายังต้องทำงานและหาเงินเพื่อให้บริษัทอยู่ได้ พนักงาน และองค์กรของเราดำเนินธุรกิจอยู่ได้ ดังนั้นความเสี่ยงต่างๆ ที่ได้หยิบยกขึ้นมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างบางประเด็น ความเสี่ยงยังมีที่มาจากอีกหลายปัจจัย ดังนั้นเราจึงต้องวิเคราะห์โดยละเอียด ผู้เขียนเองก็ยังหวังใจว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์จะได้ตั้งกลุ่มหรือทีมบริหาร เพื่อเตรียมรองรับความเสี่ยงอันอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เครดิตภาพประกอบ
• https://www.industore.co.uk/wp-content/uploads/2019/08/Industore-Hot-Spot-Lean-Lift.jpg
• https://pbs.twimg.com/media/Dedvtq-XUAA4RAa.jpg
• https://www.kardex-remstar.ch/fileadmin/_processed_/a/a/csm_Energieffizienz-Produkte_609db9b806.jpg?&type=67