ระบบอัตโนมัติ สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 2

ระบบอัตโนมัติ สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 2
(Automation for Printing and Packaging Industry)

ระบบการจัดเก็บแบบ ASRS (Automated Storage/Retrieval System)

วิรัช เดชาสิริสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบโรงงานอัตโนมัติและการลดต้นทุนในโรงงานและขบวนการผลิต
[email protected]

ประโยชน์ของระบบการจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติแบบ ASRS

ระบบการจัดเก็บแบบ ASRS ที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ มีหลายแบบเช่น ระบบแบบหมุน แบบโมดูลยกแบบแนวตั้ง และระบบจัดเก็บและเรียกคืนแบบทางเดินคงที่ โดยเนื้อหาของเล่มนี้ จะเน้นอธิบายเฉพาะระบบจัดเก็บและเรียกคืนแบบทางเดินคงที่เท่านั้น เพราะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการทำให้ระบบคลังสินค้าทั้งหมดเป็นระบบอัตโนมัติ

องค์ประกอบพื้นฐานของระบบการจัดเก็บแบบ ASRS มีดังนี้คือ :

  1. เครื่องเก็บและดึงสินค้า (SRM)
  2. ชั้นวางสินค้า (Shelf & Rack)
  3. อุปกรณ์เชื่อมต่อระบบ เช่น สายพานลำเลียงแบบอัตโนมัติ (Automated Conveyor System) ระบบ AGV (Auto Guide Vehicles) และอื่นๆ
  4. ระบบซอฟแวร์ควบคุมคลังสินค้า (WMS,WCS)

ระบบการจัดเก็บแบบ ASRS จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ 2-4 เท่า จากการจัดเก็บแบบเดิมหรือแบบทั่วไป ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้ติดตั้งระบบการจัดเก็บแบบนี้ พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนหน้านี้เลย

สำหรับพื้นที่จัดเก็บ ระบบการจัดเก็บแบบ ASRS จะประหยัดพื้นที่ได้มากกว่าร้อยละ 40-50 % ซึ่งเท่ากับว่าใช้พื้นที่ไปเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นในการจัดเก็บเมื่อเทียบกับการจัดเก็บแบบเดิม ซึ่งพื้นที่ที่ประหยัดได้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ หรือถ้าเป็นการสร้างใหม่ก็จะลงทุนน้อยลงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่จัดเก็บสินค้าหรือวัตถุดิบ

ระบบการจัดเก็บแบบ ASRS เมื่อติดตั้งและถูกใช้งานแล้ว จะช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดแรงงานได้มาก เพราะระบบการทำงานแบบใหม่ จะถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ โดยมีซอฟแวร์ช่วยจัดการระบบ ซอฟแวร์นี้เรียกว่า WMS (Warehouse Management System) การเคลื่อนย้ายสินค้าหรือวัตถุดิบ จะถูกทำด้วยเครื่องจักร หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ ระบบคอนเวเยอร์อัตโนมัติ ระบบ AGV และอื่นๆ ที่กล่าวมานี้ระบบและอุปกรณ์ต่างๆจะทำงานด้วยปลอดภัยสูง มีความรวดเร็วและข้อสำคัญคือมีความถูกต้องสูงมากเมื่อเทียบกับระบบแบบธรรมดาหรือแบบเดิมๆ

ระบบจะจัดการสต็อกที่ดีขึ้น

ระบบซอฟแวร์ (WMS) ที่ใช้งานควบคุมระบบการจัดเก็บแบบ ASRS มีความสามารถและประสิทธิภาพสูงมาก และยังสามารถสื่อสารเชื่อมต่อกับซอฟแวร์ที่บริษัทหรือองค์กรมีใช้อยู่เดิม เช่นระบบ ERP(Enterprise Resource Planning) หรือ MRP (Material Resource Planning) ซึ่งการทำงานจะไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ ซึ่งจะเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก

ระบบจะช่วยนับจำนวนสินค้าหรือวัตถุดิบต่างๆที่ผ่านเข้าออกในคลังสินค้าได้อย่างแม่นยำซึ่งจะช่วยให้ผู้ควบ ผู้ใช้งาน หรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ต้องตรวจนับสต็อกเป็นประจำ และข้อมูลที่ได้นี้ยังสามารถส่งต่อไปให้แผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทราบเพื่อจะได้วางแผนในการขาย การผลิต การจัดซื้อ การซ่อมบำรุงและอื่นๆ ตามที่ผู้ใช้งานต้องการ

และถ้าบริษัทหรือองค์กรมีสินค้าหรือวัตถุดิบที่มีความหลากหลายมากๆ เช่น สินค้าหรือวัตถุดิบที่มีอายุการจัดเก็บ, ต้องการบริเวณที่มีอุณหภูมิคงที่, ต้องการพื้นที่ที่จัดเก็บอยู่ใกล้กับบริเวณที่รับเข้าและนำออก เหล่านี้เป็นต้น ระบบซอฟแวร์ควบคุมจะช่วยให้เราจัดเก็บได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตลอดเวลา โดยผู้ควบคุมสามารถสั่งการทุกอย่างที่คอมพิวเตอร์ควบคุม

เราสามารถสรุปเป็นข้อๆได้ว่า มีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่เราควรมีระบบการจัดเก็บแบบ ASRS สำหรับคลังสินค้าของเราไว้ใช้

  • พื้นที่จัดเก็บและสินค้ามีมาก และต้องการความรวดเร็ว ความถูกต้องแม่นยำในการทำงาน เพื่อจัดการกับสินค้าหรือวัตถุดิบให้อยู่ในสภาวะที่เราเป็นผู้ควบคุมได้ ต้องการดูข้อมูลได้ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์ (Real time Reporting )
  • ถ้าพื้นที่การจัดเก็บในแนวราบไม่พอ และมีพื้นที่ในแนวสูงอยู่ ระบบการจัดเก็บคลังสินค้าแบบ ASRS สามารถสร้างได้สูงมากกว่า 30 เมตร (90 ฟุต) และลึกมากกว่า 50 เมตร (150 ฟุต) ต้องการความแม่นยำ ความปลอดภัย ป้องกันสินค้าเสียหาย ระบบการจัดเก็บแบบ ASRS คือคำตอบที่ใช่สำหรับผู้ประกอบการ
  • ต้องการเก็บสินค้าที่มีอายุการใช้งาน สินค้าที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ สินค้าพิเศษต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บแบบนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานของระบบมีความสะดวกในการสั่งการและเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา

ตามที่กล่าวมาข้างต้น พอจะสรุปถึงประโยชน์ของระบบการจัดเก็บแบบ ASRS ได้ดังนี้

  • เพิ่มปริมาณการจัดเก็บสินค้าหรือวัตถุดิบได้ถึง 30 – 40% เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดเก็บชั้นวางพาเลทแบบดั้งเดิม
  • ลดพื้นที่ของคลังสินค้าได้มากถึง 50% เมื่อเทียบกับการจัดเก็บแบบเดิมๆในจำนวนพาเลทที่เท่ากัน
  • มีความถูกต้องแม่นยำในการควบคุมสินค้าคงคลัง และระบบยังสามารถแสดงข้อมูลได้ทันทีแบบเรียลไทม์ (Real Time Reporting)
  • ระบบสามารถรองรับการทำงานของ SKU (Stock Keeping Unit) ที่เพิ่มมากขึ้นได้ เพราะระบบซอฟแวร์ที่ยืดหยุ่น สามารถแก้ไขปรับปรุงและอัพเกรดได้ (Modify and Upgrade)
  • เป็นการจัดเก็บแบบบูรณาการ ระบบสามารถจัดการกับสินค้าในคลังได้ทั้งหมด จากวัตถุดิบ (RM) ไปยังสินค้ารอผลิต (WIP) ไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูป (FG)
  • ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น สามารถรองรับคำสั่งการผลิต คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นได้อย่างดี
  • หมดปัญหากับการเติมสินค้าให้ไม่ทันในส่วนของ Picking เพราะสามารถใช้การเติมสินค้าอัตโนมัติ (Auto Replenishment)
  • การทำงานโดยระบบอัตโนมัติ รวมถึงซอฟแวร์ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงมีการทำงานที่ปราศจากการทำงานที่ติดขัด ผิดจังหวะที่เกิดจากคนทำ
  • ลดทุกอย่าง เช่นลดการสูญเสีย ลดอุบัติเหตุ ลดการผิดพลาด ลดคน ลดค่าใช้จ่ายประจำ
  • เพิ่มทุกอย่างเช่น เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มผลกำไรให้ผู้ประกอบการ

สำหรับระบบการจัดเก็บแบบ ASRS ในประเทศไทยนั้น ระบบชุดแรกถูกติดตั้งใช้งานที่รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง มาเกือบ 30 แล้ว หลังจากนั้นก็มีการติดตั้งมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ระบบนี้น่าจะมีใช้งานอยู่ประมาณ 300 ชุด ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 15 ปีขึ้นไป ระบบและอุปกรณ์จะถูกผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศเกือบร้อยถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังจาก 15 ปีผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนของการนำเข้าและผลิตเองในประเทศจะเป็น 60:40 หรือ 30:70 ซึ่งบริษัทผู้ผลิตในไทยเองก็มีความสามารถมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น สามารถออกแบบเอง ผลิตเอง ติดตั้งเอง โดยมีคุณภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศแต่มีราคาที่ถูกกว่า เพราะประหยัดในเรื่องของ ค่าแรงงาน ค่าขนส่งและภาษีนำเข้า

สำหรับหน่วยงานที่ใช้ระบบการจัดเก็บแบบ ASRS ในประเทศไทย มีใช้อยู่ในทุกวงการธุรกิจ ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชน เช่นการขนส่งและโลจิสติกส์ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ก่อสร้างและตกแต่ง ยาและเวชภัณฑ์ ศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ อีกหลากหลาย

สำหรับในวงการ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ระบบนี้จะใช้จัดเก็บวัตถุดิบต่างๆ เช่น กระดาษ ฟิล์มพลาสติก หมึกพิมพ์และเคมีภัณฑ์ งานรอจัดส่ง ลูกกลิ้ง ลูกกาว เป็นต้น และในปัจจุบันระบบนี้ขายดีมากในวงการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เพราะจะนำไปเก็บลูกโมลด์ (Gravure Roller) สำหรับระบบการพิมพ์แบบกราเวียร์ (Gravure Printing) เพราะลูกโมลด์ของระบบการพิมพ์แบบกราเวียร์นี้จะมีหลากหลายมาก และบางโรงพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ จะมีจำนวนลูกโมลด์มาก และมีราคาค่อนข้างสูง ถ้าจัดเก็บไม่ดีอาจจะชำรุดเสียหาย หรือใช้พื้นที่มาก หรือเรียกใช้ลำบาก

การจัดเก็บลูกโมลด์แบบนี้ จะเกิดปัญหาในการจัดเก็บและการเรียกใช้ ตามภาพด้านซ้าย ลูกโมลด์จะวางซ้อนกัน จะเกิดการชำรุดได้ถ้าห่อไม่ดีหรือวางกระแทกกัน และป้ายบอกมีไม่ครบ อาจเสียเวลาในการจะนำไปใช้งาน สำหรับภาพด้านขวา จะวางเรียงตั้งบนพื้นโรงงาน จะทำให้เปลืองพื้นที่จัดเก็บ ป้ายบอกไม่ชัดเจนจะทำให้เสียเวลาในการหาเพื่อนำไปใช้งาน และอาจเกิดการล้มของลูกโมลด์ทำให้ชำรุดเสียหายได้

ภาพที่ 1 ลูกโมลด์จะถูกวางลงบนพาเลทที่ออกแบบมาเพื่อจัดเก็บลูกโมลด์โดยเฉพาะ วัสดุรองรับลูกโมลด์เป็นยางที่สั่งทำมาเพื่อรองลูกโมลด์เพื่อป้องกันความเสียหาย และลูกโมลด์จะไม่วางซ้อนกัน ที่ลูกโมลด์และพาเลทจะมีบาร์โค๊ดติดอยู่เพื่อสแกนในขณะเรียกใช้และเก็บ สำหรับภาพที่ 2 เป็นที่เก็บลูกโมลด์ พาเลทจะถูกลำเลียงไปที่ ASRS Stacker Crane โดยคอนเวเยอร์ ระบบซอฟแวร์จะสั่งการให้ ASRS Stacker Crane นำพาเลทไปเก็บบน Rack ตามตำแหน่งที่ได้กำหนดไว้แล้ว สำหรับการเรียกเพื่อนำลูกโมลด์ออกไปใช้งาน พนักงานก็ไปกดเรียกที่คีย์บอร์ดพร้อมจอแสดงผลที่ติดตั้งไว้บริเวณหน้าสถานที่เก็บนั้น ทางชุด ASRS Stacker Crane เมื่อได้รับคำสั่ง ก็จะวิ่งไปนำพาเลทที่มีลูกโมลด์ที่ต้องการไปใช้งานมาวางลงบนคอนเวเยอร์ ชุดคอนเวเยอร์จะพาพาเลทพร้อมลูกกลิ้งมาส่งให้บริเวณจุดรับส่ง จากนั้นพนักงานก็จะใช้ Pallet Stacker หรือรถโฟล์คลิฟท์ มายกพาเลทพร้อมลูกกลิ้งไปส่งให้ที่เครื่องพิมพ์ต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง
• ตามประสบการณ์จริงของผู้เขียน
• บริษัท เน็กซเตอร์ จำกัด / www.nextster.ne

เครดิตภาพประกอบ
• http://www.me-jan.com/en/mini-load-cranes
• https://www.mias-group.com/uploads/tx_templavoila/MIAS_Regalbediengeraet_Palette_2013_06.jpg
• https://image.made-in-china.com/202f0j00unGaOENrgscY/Stacker-Crane-for-as-RS-Warehouse.jpg
• https://image.made-in-china.com/2f0j00IgDUHwurYdqp/High-Density-Warehouse-Automatic-Storage-System-with-Shelving-Rack-AS-RS-.jpg
• https://storage.googleapis.com/wzukusers/user-24953759/images/
5806b1236896d8wLOFZ1/Conveyor-System.jpg
• https://numinagroup.com/wp-content/uploads/automated-conveyor-systems.jpg
• https://www.supplychain247.com/images/article/honeywell_fetchrobotics_wide1218.jpg
• https://www.consafelogistics.com/wp-content/uploads/2019/09/wms-wcs.png
• https://www.cflex.com/fileadmin/cflex.com/media/Images/People__Passion__Packaging/Durban/IMG_0636_lr.jpg
• https://www.hsingwei.com/img/upload/Hsing%20Wei%20Machine%20rotogravu.jpg