สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต (1)

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต (1)

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
[email protected]

การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต เป็นสิ่งที่สำคัญในการการผลิตงาน เพื่อให้ได้งานพิมพ์ที่มีคุณภาพที่เหมือนเดิม หรือใกล้เคียงกับต้นฉบับให้มากที่สุด ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการพิมพ์ที่แตกต่างกัน ในบทความนี้จะอธิบายถึง หลักการและปัจจัยต่างๆ ที่เราต้องทำการควบคุม รวมถึงเครื่องมือวัดต่างๆ ที่จำเป็นในการควบคุมคุณภาพ เพื่อทำให้ผู้ผลิตงานพิมพ์ได้มีความรู้ความเข้าใจต่อไป

ความหมายและหลักการของการควบคุมคุณภาพ

การควบคุมคุณภาพ (Quality Control, QC) คือ การควบคุมคุณภาพในการผลิตให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ และสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าสูงสุด ด้วยกระบวนการการตรวจสอบจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะทำการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ผู้ผลิตสามารถทำการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับคุณสมบัติที่ตั้งไว้

เหตุผลที่เราต้องควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ เพราะการผลิตสิ่งพิมพ์ เป็นกระบวนการผลิตที่ต้องมีการทำซ้ำ และมีปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ จากสาเหตุนี้ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพทางการพิมพ์ การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์จึงเป็นกระบวนการที่ใช้ในการตรวจสอบ และควบคุมให้การผลิตสิ่งพิมพ์ให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า

สำหรับการผลิตสิ่งพิมพ์ คุณภาพงานพิมพ์ หมายถึง ความเหมือนของสิ่งพิมพ์ที่ได้จากการวัดหรือเปรียบเทียบกับต้นฉบับ การควบคุมคุณภาพงานพิมพ์ จึงเป็นการควบคุมกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์ให้ได้สิ่งพิมพ์ที่มีคุณภาพตามต้นฉบับที่ต้องการนั้นเอง

ดังนั้นในการควบคุณคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต จึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงคุณภาพงานพิมพ์ที่ลูกค้าต้องการ ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการทำแม่พิมพ์ คุณลักษณะในการพิมพ์ (Print Characteristic) การควบคุมปัจจัยต่างๆ ทางการพิมพ์ รวมถึงเครื่องมือวัด และมาตรฐานทางการพิมพ์ที่กำหนดโดยโรงพิมพ์ หรือมาจากการอ้างอิงมาจากมาตรฐานสากล

เครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต

ในการควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต สิ่งที่สำคัญคือ การใช้เครื่องมือในการควบคุณคุณภาพให้ถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะงานพิมพ์ เครื่องมือที่จำเป็นในการควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต คือ แถบควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ (Colour bar, Control strip) และเครื่องมือวัดค่าความดำและค่าสี (Spectrodensitometer)

แถบควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ (Colour bar, Control strip)

ลักษณะทั่วไปของแถบควบคุมคุณภาพงานพิมพ์จะเป็นไฟล์ดิจิทัล ที่ประกอบด้วยแถบควบคุมต่างๆ ที่พิมพ์ด้วยแม่สีทางการพิมพ์ 4 สี คือ สีน้ำเงินเขียว (cyan) สีม่วงแดง (magenta) สีเหลือง (yellow) และสีดำ (black) โดยปกติแถบควมคุมคุณภาพทางการพิมพ์จะมีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 75 เซนติเมตร การใช้งานแถบควบคุมคุณภาพสามารถใช้งานได้โดยผ่านการวางด้วยโปรแกรมวางหน้า โดยจะวางไว้ตามแนวด้านยาวบริเวณท้ายกระดาษที่พิมพ์โดยมีความยาวตลอดช่วงความยาวกระดาษและแนวนี้จะอยู่ในแนวตามขวางของโมพิมพ์ เนื่องจากต้องการตรวจสอบการปล่อยหมึกในแต่ละบริเวณของโมพิมพ์นั่นเอง

เนื่องจากจุดประสงค์ในการใช้แถบควบคุมคุณภาพงานพิมพ์นั้น ต้องการพิมพ์แถบควบคุมนี้ลงบนกระดาษ เพื่อให้สามารถใช้เครื่องวัดในการวัดค่าต่างๆ เช่น ค่าความดำ ขนาดของเม็ดสกรีนเพื่อตรวจสอบความสม่ำเสมอในการปล่อยหมึก สภาพของการปรับตั้งเครื่องพิมพ์และคุณภาพงานพิมพ์อื่นๆ ได้ แถบควบคุมคุณภาพงานพิมพ์ที่ใช้กันทั่วไปมีหลายประเภท ที่นิยมกันแพร่หลายได้แก่ แถบควบคุมสีของ FOGRA และ URGA เป็นต้น แต่ละแบบมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย การเลือกใช้ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงาน อาทิเช่น งานพิมพ์ 4 สี 6 สี แถบควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ จะมีจำนวนช่องสีที่ไม่เท่ากันนั้นเอง

ส่วนประกอบของแถบควบคุมคุณภาพงานพิมพ์

แถบควบคุมคุณภาพงานพิมพ์โดยทั่วไป แบ่งเป็นช่อง ๆ ตามลักษณะที่พิมพ์ออกมาดังนี้ คือ ช่องพื้นทึบ (solid element) ช่องสกรีน (screen หรือ tints) ช่องพิมพ์พร่า (slur) และการพิมพ์ซ้อน (doubling) ช่องการพิมพ์ทับซ้อนทับสี (trapping หรือ overprint) ช่องเม็ดสกรีนบวม (dot gain) และเครื่องหมายกันเหลื่อม (register mark)

1. ช่องพื้นทึบ
ช่องพื้นทึบจะเป็นช่องสี่เหลี่ยม จะพิมพ์หมึกเต็มพื้นที่ด้วยสีหมึกสีเดียวแต่ละสี คือ เหลือง (Y) ม่วงแดง (M) น้ำเงินเขียว (C) และดำ (K) จะใช้เพื่อวัดความหนาในการปล่อยหมึกพิมพ์ และยังใช้สำหรับตรวจสอบความสม่ำเสมอในการปล่อยหมึกกระจายตามแนวกว้างของกระดาษหรือโมพิมพ์ ปกติแถบควบคุมคุณภาพแบบต่างๆ ไม่ว่าแบบใดมักจะมีช่องพื้นทึบของแต่ละสีนี้ ห่างกันเป็นระยะๆ ในช่วงประมาณ 2 ถึง 3 นิ้ว ตลอดช่วงความยาวของแถบควบคุมคุณภาพ

2. ช่องสกรีน
ช่องสกรีนเป็นช่องที่ใช้สำหรับตรวจสอบการเกิดเม็ดสกรีนบวม (dot gain) และความเปรียบต่างการพิมพ์ (print contrast) ที่นิยมใช้กันอยู่ มี 2 แบบ ดังนี้
1) แบบ 3 ช่อง จะมีเม็ดสกรีน 3 ขนาด คือ 25 เปอร์เซ็นต์ 50 เปอร์เซ็นต์ และ 75 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้วัดทั้ง 3 ช่องของภาพ คือ ส่วนสว่าง (high light) ส่วนน้ำหนักสีกลาง (middle tone) และส่วนเงา (shadow) ของภาพ จะพิมพ์ด้วยสีเดี่ยวแต่ละสีคือ C M Y K
2) แบบ 2 ช่อง จะมีเม็ดสกรีน 2 ขนาด คือ 40 เปอร์เซ็นต์ และ 80 เปอร์เซ็นต์ จะพิมพ์ด้วยสีเดี่ยวแต่ละสี คือ C M Y K จะเน้นการวัด 2 ช่อง คือ ส่วนน้ำหนักสีกลางของภาพและส่วนเงา

3. ช่องการพิมพ์ซ้อนทับสี
ช่องการพิมพ์ซ้อนทับสี มีลักษณะเป็นช่องสี่เหลี่ยมพื้นทึบ ซึ่งพิมพ์ด้วยหมึก 2 สีซ้อนทับกันทีละคู่จึงเกิดเป็นสีแดง (R) เขียว (G) และน้ำเงิน (B) ใช้สำหรับวัดค่าของการพิมพ์ซ้อนทับสี โดยใช้ในการตรวจสอบสีบนพิมพ์ทับสีข้างล่างได้สมบูรณ์เพียงใด มีปัญหาหมึกถอนผิวหมึกที่พิมพ์ไปก่อนหรือไม่

4. ช่องสมดุลสีเทา
ในแถบประกอบด้วยเปอร์เซ็นต์ของหมึกพิมพ์ 3 สีที่พิมพ์แล้วรวมกันได้สีเทา เปรียบเทียบกับสีดำที่ 40% ใช้ในการตรวจสอบการสร้างสีเทาของหมึกพิมพ์ 3 สี หากมีการปล่อยหมึกพิมพ์สีใดมากเกินไป แถบจะแสดงสีไปทางสีนั้นๆ

5. ช่องการพิมพ์พร่าและการพิมพ์ทับซ้อน
ช่องวัดการพิมพ์พร่าและการพิมพ์ซ้อนเป็นช่องที่ใช้สำหรับตรวจสอบว่าการพิมพ์เกิดปัญหาเงาซ้อน เงาเหลื่อมหรือไม่ ลักษณะของช่องวัดการพิมพ์พร่าและการพิมพ์ซ้อนที่นิยมใช้กันจะมีลักษณะเป็นเส้นตรงที่เอียงในแนวต่าง ๆ กัน 3 แนว คือ แนวนอน แนวตั้ง และแนว 45 องศา ความละเอียดของเส้น คือ 120 เส้นต่อนิ้ว เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วมองห่างจากภาพประมาณ 10 นิ้ว แล้วหากเห็นว่าความเข้มของช่องนี้เท่ากันสม่ำเสมอ แสดงว่าไม่มีปัญหาการพิมพ์พร่าและการพิมพ์ทับซ้อน

ความสำคัญของแถบควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์

แถบควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปในการควบคุณคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต จากภาพที่ 7 แสดงงานพิมพ์ที่มีแถบควบคุมคุณภาพการพิมพ์และไม่มีแถบคุณภาพทางการพิมพ์การที่พิมพ์แถบควบคุมฯ บริเวณท้ายกระดาษ อาจจะทำให้สิ้นเปลืองกระดาษที่ต้องใช้ ส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตสิ่งพิมพ์ อย่างไรก็ตามข้อดีสำหรับการพิมพ์แถบควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ คือ การที่ช่างพิมพ์สามารถตรวจสอบคุณภาพของงานพิมพ์ในระหว่างการพิมพ์งานได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถตรวจได้ด้วยสายตา หรือการใช้เครื่องมือวัด และสามารถใช้ในการหาคุณลักษณะของเครื่องพิมพ์ (Print Characteristic) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของขั้นตอนการทำระบบการจัดการ