ปรับตัว “ธุรกิจโรงพิมพ์” ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด
เศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง หนึ่งธุรกิจที่เริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้นคือ ธุรกิจโรงพิมพ์
เศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง และมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งธุรกิจที่เริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้นคือ ธุรกิจโรงพิมพ์ และในปัจจุบันธุรกิจโรงพิมพ์แบบดั้งเดิมเริ่มอยู่รอดได้ยากจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
ในยุคที่ผู้บริโภคมีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจการทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ อย่างที่เคยทำมาในอดีตอาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันมากนักซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ทั้งนี้ ธุรกิจโรงพิมพ์ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานแต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ธุรกิจโรงพิมพ์แบบดั้งเดิมเริ่มจะอยู่รอดยากขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวตามปัจจัยเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกที่ยังไม่สดใสมากนักทำให้ธุรกิจโรงพิมพ์ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของธุรกิจการพิมพ์ได้รับผลกระทบตามไปด้วย นอกจากนี้ จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือลูกค้าต้องการอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม อาทิ ความรวดเร็วในการรับบริการความหลากหลายของสินค้าหรือแม้กระทั่งกระแสความนิยมของสื่อออนไลน์ที่เพิ่มบทบาทอย่างรวดเร็วจนส่งผลให้มีการเพิ่มการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ทดแทนสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้นตามลำดับ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าในระยะต่อไปผู้ประกอบการในธุรกิจโรงพิมพ์ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงในตลาด เพื่อสร้างความอยู่รอดในอนาคต
ในการดำเนินธุรกิจโรงพิมพ์นอกเหนือจากเงินทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเป็นลำดับต้นๆ แล้ว ยังจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการที่เข้ามาสนับสนุนและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จและอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
1. ผู้ประกอบการควรเลือกให้บริการชิ้นงานที่ทางโรงพิมพ์มีความถนัดมากที่สุด
อาทิ งานโบรชัวร์ งานพิมพ์แพคเกจจิ้ง ปฏิทิน แคตตาล็อก หนังสือ วารสารกระดาษห่อของขวัญ เพราะการจะรับงานพิมพ์ได้ครบ จำเป็นต้องใช้เครื่องพิมพ์เครื่องจักรจำนวนมาก ส่งผลให้มีต้นทุนดำเนินการสูง
2. การเลือกทำเลที่ตั้ง
การเลือกทำเลที่ตั้งที่สะดวกสำหรับการเดินทางติดต่อกับลูกค้าหรือใกล้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อาทิพื้นที่ซึ่งมีการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่งมีกำลังซื้อรวมทั้งมีธุรกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากจึงเป็นทำเลที่มีศักยภาพมีความต้องการงานด้านสิ่งพิมพ์สูงโดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่ใช้ในธุรกิจต่างๆ เช่น งานบิล ใบเสร็จ ใบกำกับภาษีฟอร์มใบส่งสินค้า หัวจดหมาย ซองจดหมาย ซองเอกสารรวมไปถึงงานสิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในขณะเดียวกันพื้นที่ในต่างจังหวัดที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกลุ่ม CLMV กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ก็ถือเป็นแหล่งทำเลที่น่าลงทุนสำหรับธุรกิจสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้เพื่อรองรับงานพิมพ์จากประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มมีเพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะที่ประเทศเหล่านี้ยังขาดแคลนเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัยรองรับ
3. ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพงานพิมพ์
สิ่งพิมพ์เป็นงานที่มีการแข่งขันสูงลูกค้ามีความต้องการงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพชิ้นงานตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการพิมพ์ ระหว่างการพิมพ์ และหลังงานพิมพ์เพื่อให้งานเป็นที่พึงพอใจของลูกค้าและเกิดการบอกต่อหรือใช้บริการซ้ำ
4. การบริหารวัตถุดิบ
การบริหารวัตถุดิบต้องมีประสิทธิภาพ:ในการดำเนินธุรกิจสิ่งพิมพ์ จะพบว่า ต้นทุนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 40-50 จะเป็นกระดาษ ซึ่งราคาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจราคาซื้อขายในตลาดโลก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นการบริหารและสั่งซื้อสินค้าให้ได้รับราคาที่เหมาะสมจากแหล่งผลิตรวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรเพื่อลดการสูญเสียกระดาษในกระบวนการผลิตให้เกิดน้อยที่สุด จะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับลดต้นทุนลงได้
5. วางแผนการบริหารบุคลากร
วางแผนการบริหารบุคลากรให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงานฝีมือปัจจุบันธุรกิจสิ่งพิมพ์มีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หรือเปลี่ยนงานบ่อยโดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ช่างเทคนิค พนักงานเรียงพิมพ์คอมพิวเตอร์พนักงานอาร์ตเวิร์กรวมถึงพนักงานที่มีความรู้ทางด้านเครื่องพิมพ์ที่มีความทันสมัยทำให้เกิดปัญหาการแย่งแรงงานฝีมือในธุรกิจการพิมพ์ ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจผู้ประกอบการอาจใช้วิธีแก้ไขปัญหา โดยหันมาใช้เครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ๆ ที่ช่วยลดการใช้แรงงานฝีมือลง ในขณะเดียวกันยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานเดียวกันได้อีกทางหนึ่ง
6. การเลือกเทคโนโลยีและอุปกรณ์การพิมพ์
เลือกเทคโนโลยีและอุปกรณ์การพิมพ์ที่ทันสมัยที่จะเข้ามาช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์มีความก้าวหน้าและมีความทันสมัยกว่าแต่ก่อนมากโดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอลที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานควบคุมคุณภาพของงานพิมพ์ รวมทั้งลดจำนวนช่างเทคนิคที่ขาดแคลนลง ซึ่งเครื่องพิมพ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการส่งมอบงานที่รวดเร็วแต่ยังตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการโรงพิมพ์ทางด้านการลดบุคลากร
7. การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ
ปรับปรุงคุณภาพการให้บริการเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ แม้ว่าโรงพิมพ์ในปัจจุบันจะมีจำนวนมาก ตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง จนถึงใหญ่มาก แต่การพิจารณาเลือกใช้บริการโรงพิมพ์ของผู้บริโภคยุคใหม่จะครอบคลุมประเด็นหลักๆ 4 ประการ ได้แก่
- คุณภาพของงาน หากคุณภาพของผลงานที่ส่งต่อให้ลูกค้าไม่ได้มาตรฐานย่อมส่งผลเสียต่อยอดขายอย่างแน่นอน และในทางตรงกันข้ามหากคุณภาพของผลงานออกมาดี ภาพลักษณ์ของโรงพิมพ์ก็จะดีตามไปด้วย
- การบริการ ควรให้ความสำคัญต่องานพิมพ์ไม่ว่าจะปริมาณมากหรือน้อย ถือเป็นการบริการที่ดี และสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะนำพาให้เกิดการกลับมาใช้บริการอีก
- การส่งมอบ การส่งมอบงานพิมพ์ ความตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นโรงพิมพ์จึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า ว่างานถึงมือทันกำหนดอย่างแน่นอน
- ราคา ลูกค้าทั่วไปจะคำนึงถึงเรื่องราคาเป็นปัจจัยแรก ทำให้ธุรกิจโรงพิมพ์มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการจึงควรหาช่องทางในการประหยัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เช่น วิธีการลดการสูญเสียกระดาษในกระบวนการพิมพ์ให้ได้น้อยที่สุด