สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต
การสร้างเม็ดสกรีนในการพิมพ์ออฟเซต
ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริหัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี[email protected]
การสร้างภาพในกระบวนการพิมพ์นั้น ในอดีตจะเกิดจากการถ่ายทอดภาพจากต้นฉบับที่มาจากรูปถ่ายหรือฟิล์มสไลด์สีมาสู่กระบวนการสร้างเม็ดสกรีนลงบนแม่พิมพ์ ปัจจุบันต้นฉบับทางการพิมพ์จะมาจากกระบวนการสร้างภาพโดยระบบดิจิทัล ตัวอย่างเช่น ภาพถ่ายจากกล้องถ่ายรูปดิจิทัล การสร้างตัวอักษรและภาพกราฟิคต่างๆ จากโปรแกรม Adobe Photoshop, Adobe Illustrator หรือ Adobe Indesign ทำให้กระบวนการสร้างภาพมีความสมบูรณ์และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้จะอธิบายถึงกระบวนการสร้างเม็ดสกรีนบนแม่พิมพ์ออฟเซตและความสำคัญของการปรู๊ฟสีงานพิมพ์
การสร้างเม็ดสกรีนและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
กระบวนการสร้างเม็ดสกรีน เป็นการสร้างเซลล์ของเม็ดสกรีน (Halftone cell) ที่เกิดจากการรวมกลุ่มจุดภาพที่สร้างด้วยอุปกรณ์ส่งออกเข้าด้วยกัน ซึ่งกระบวนการสร้างเม็ดสกรีนนี้เรียกว่า กระบวนการ
ไดเธอร์ริง (Dithering process) ภาษามาตรฐานที่ใช้กำหนดข้อมูลการสร้างเม็ดสกรีนจากข้อมูลของระดับสีเทา คือ ภาษาโพสต์สคริปต์ (Post Script)
จากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นถึงการสร้างเม็ดสกรีนด้วยระบบดิจิทัล ความละเอียดในการสร้างเม็ดสกรีนจะถูกกำหนดในรูปแบบของจำนวนจุดต่อนิ้ว (Dot per inch, Dpi) ซึ่งความละเอียดในการสร้างเม็ดสกรีนที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อความละเอียดในการสร้างเม็ดสกรีนและระยะเวลาที่ใช้ในการสร้าง ยกตัวอย่างเช่น เม็ดสกรีนที่สร้างด้วยความละเอียด 1200 dpi จะมีความละเอียดในการสร้างเม็ดสกรีนสูงกว่า เม็ดสกรีนที่สร้างด้วยความละเอียด 600 dpi แต่ระยะเวลาในการสร้างจะใช้ระยะเวลานานกว่า
ในการสร้างเม็ดสกรีนบนแม่พิมพ์ออฟเซตนั้น จะต้องมีการแปลงภาษาโพสต์สคริปต์ให้เป็นข้อมูลบิตแมป ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้แปลงข้อมูลของภาษาโพสต์สคริปต์ให้เป็นข้อมูลบิตแมป เรียกว่า ราสเทอร์อิมเมจโพรเซสเซอร์ (Raster Image Processor, RIP) โดยภาษาโพสต์สคริปต์ที่ใช้ต้องมีการกำหนดลักษณะต่างๆ ของเม็ดสกรีนได้ด้วย เช่น รูปแบบเม็ดสกรีน รูปร่างเม็ดสกรีน จำนวนเส้นสกรีนและมุมสกรีน
จากภาพที่ 2 RIP คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการแปลงข้อมูล และเชื่อมต่อไปยังเครื่องดิจิทัลปรู๊ฟและเครื่องทำแม่พิมพ์ (Platesetter) ในระบบ Computer to plate ที่ใช้งานในปัจจุบัน สำหรับอุปกรณ์ RIP จะมีส่วนประกอบจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ ฮาร์ดแวร์ RIP และ ซอฟต์แวร์ RIP โดยในการพิจารณาเลือกฮาร์ดแวร์ RIP จะพิจารณาจากความสามารถในการเก็บข้อมูล ความเร็วในการประมวลผล ส่วนซอฟต์แวร์ RIP จะถูกติดตั้งมาบนฮาร์ดแวร์ RIP ซึ่งบริษัทผู้ขายแต่ละบริษัท จะมีรายละเอียดและความสามารถของซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันไป ลักษณะงานพิมพ์ที่แตกต่างกัน เช่น งานพิมพ์หนังสือ หรืองานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ จะมีการใช้ซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันไป สำหรับการพิมพ์ระบบออฟเซต ลักษณะต่างๆ ของเม็ดสกรีนจะถูกกำหนดในหัวข้อต่อไปนี้
1. รูปแบบเม็ดสกรีน
เป็นลักษณะอย่างแรกที่ต้องถูกกำหนดในการสร้างเม็ดสกรีนบนแม่พิมพ์ออฟเซต ปัจจุบันรูปแบบเม็ดสกรีนหลักที่ใช้งาน จะสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1. เอ เอ็ม สกรีน (Amplitude-Modulated Screening, AM Screening)
2. เอฟ เอ็ม สกรีน (Frequency-Modulated Screening, FM Screening)
จากภาพที่ 3 a แสดงลักษณะของเม็ดสกรีนแบบ AM ซึ่งเป็นลักษณะเม็ดสกรีนที่ใช้ในการสร้างเม็ดสกรีนโดยทั่วไปสำหรับการพิมพ์ออฟเซต ขนาดของเม็ดสกรีนแบบ AM จะมีขนาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามน้ำหนักสีของภาพ เช่น บริเวณน้ำหนักสีเข้มของภาพ เม็ดสกรีนจะมีขนาดใหญ่ บริเวณน้ำหนักสีอ่อนของภาพ เม็ดสกรีนจะมีขนาดเล็ก ดังนั้นพื้นที่เม็ดสกรีน 40 เปอร์เซนต์ จะมีขนาดเม็ดสกรีนที่ใหญ่กว่าพื้นที่เม็ดสกรีน 10 เปอร์เซนต์ และจากภาพ 3 a หากพิจารณาระยะห่างระหว่างเม็ดสกรีนแบบ AM จะพบว่า ระยะห่างของเม็ดสกรีนแบบ AM จะมีระยะห่างระหว่างเม็ดสกรีนที่เท่ากัน และมีการเรียงตัวกันเป็นเส้นตรงที่ชัดเจน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความละเอียดของภาพพิมพ์ต่อไป
สำหรับภาพที่ 3 b แสดงลักษณะของเม็ดสกรีนแบบ FM ขนาดเม็ดสกรีนแบบ FM จะมีขนาดที่เท่ากัน น้ำหนักสีของภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจะเกิดจากจำนวนเม็ดสกรีนที่แตกต่างกัน เช่น บริเวณน้ำหนักสีอ่อน จำนวนเม็ดสกรีนจะมีจำนวนน้อยกว่าบริเวณน้ำหนักสีเข้ม ดังนั้นพื้นที่เม็ดสกรีน 40 เปอร์เซนต์ จะมีจำนวนเม็ดสกรีนมากกว่าจำนวนเม็ดสกรีนในพื้นที่เม็ดสกรีน 10 เปอร์เซนต์ สำหรับระยะห่างของเม็ดสกรีนแบบ FM จะมีระยะห่างระหว่างเม็ดสกรีนที่ไม่เท่ากัน บริเวณน้ำหนักสีเข้มของภาพจะมีระยะห่างของเม็ดสกรีนที่น้อยกว่าระยะห่างของเม็ดสกรีนในบริเวณน้ำหนักสีอ่อนของภาพ
2. ความละเอียดสกรีน
ความละเอียดสกรีน (Screen ruling) หมายถึง จำนวนเส้นสกรีน ในพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตร หรือ 1 ตารางนิ้ว ความละเอียดสกรีนนี้เป็นความละเอียดที่ต้องถูกกำหนดในการใช้งานเม็ดสกรีนแบบ AM ภาพที่มีความละเอียดสกรีนสูง จะทำให้ภาพนั้นคมชัดมากขึ้น เนื่องจากขนาดเม็ดสกรีนจะมีขนาดเล็ก ทำให้เก็บรายละเอียดของภาพได้มาก การเลือกความละเอียดต้องเหมาะสมกับระบบการพิมพ์ และวัสดุที่นำมาพิมพ์ ความละเอียดสกรีนในประเทศไทยนิยมใช้จะมีหน่วยเป็นจำนวนเส้นต่อนิ้ว (LPI)
การเลือกใช้ความละเอียดสกรีนต้องพิจารณาสองปัจจัยหลักด้วยกัน คือ ระบบการพิมพ์และวัสดุที่นำมาใช้พิมพ์ โดยทั่วไปความละเอียดสกรีนที่เหมาะสมกับระบบการพิมพ์จะแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ความละเอียดสกรีนที่เหมาะสมกับระบบการพิมพ์
สำหรับความละเอียดสกรีนที่เหมาะสมกับวัสดุต่างๆ โดยปกติวัสดุที่มีพื้นผิวที่เรียบจะสามารถเลือกใช้ความละเอียดสกรีนที่สูงกว่าวัสดุที่มีผิวหยาบ ดังแสดงในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ความละเอียดสกรีนที่เหมาะสมกับกระดาษชนิดต่างๆ
สำหรับการพิมพ์ด้วยเม็ดสกรีนแบบ FM ความละเอียดของภาพพิมพ์จะถูกกำหนดด้วยขนาดของเม็ดสกรีน ปัจจุบันในประเทศไทยจะสามารถทำแม่พิมพ์และพิมพ์ได้อยู่ขนาดเม็ดสกรีนประมาณ 20 – 30 ไมครอน โดยขนาดเม็ดสกรีนเปรียบเทียบกับช่วงโทนสีกลางของภาพ (Midtone) ที่ผลิตด้วยเม็ดสกรีนแบบ AM แสดงในตารางที่ 3
ตารางที่ 3 ขนาดเม็ดสกรีนแบบ FM เปรียบเทียบกับเม็ดสกรีนแบบ AM ในความละเอียดสกรีนที่ต่างกัน
3. มุมสกรีน
ในระบบสกรีนแบบ AM Screening การแยกสีต้องมีมุมสกรีนของแต่ละสีที่ต่างกัน 30 องศา จึงจะไม่เกิดลายตาเสื่อเกิดขึ้น หรือเกิดน้อยที่สุด ยกเว้นแต่มุมสกรีนของสีเหลือง เนื่องจากเป็นสีที่มีความสว่างสีสูง
4. รูปร่างเม็ดสกรีน
รูปร่างเม็ดสกรีน (Dot shape) สามารถเลือกใช้ได้ดังนี้
1. สกรีนเม็ดสี่เหลี่ยม (Square dot) เป็นสกรีนที่มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยม จะมีมุมเชื่อมต่อกันทั้ง 4 มุมพร้อมๆ กันที่พื้นที่สกรีน 50% เหมาะสำหรับภาพที่ต้องการความคมชัดสูงและความเปรียบต่างสูง แต่ช่วงน้ำหนักสีกลางอาจเกิดน้ำหนักสีโดดได้ (Tone jump)
2. สกรีนลูกโซ่หรือวงรี (Chain dot, elliptical dot) ลักษณะเม็ดสกรีนมีลักษณะเป็นลูกโซ่หรือรูปไข่ เหมาะกับภาพที่ต้องการความนุ่มนวล เช่น ภาพบุคคล ภาพที่มีน้ำหนักสีค่อนข้างต่อเนื่องกันมาก
3. สกรีนเม็ดกลม (Round dot) สกรีนมีรูปร่างวงกลม ให้โทนภาพค่อนข้างโปร่งในบริเวณส่วนสว่าง เหมาะกับภาพที่มีโทนสว่างไม่มาก ไม่ต้องการรายละเอียดในบริเวณเงามืด เช่น ภาพทิวทัศน์