มณีรัตน์ สุรศักดิ์กำจร บริษัท เอ็ม.ดี.แมชชีนเนอรี่ แอนด์ ซัพพลาย จำกัด

มณีรัตน์ สุรศักดิ์กำจร
บริษัท เอ็ม.ดี.แมชชีนเนอรี่ แอนด์ ซัพพลาย จำกัด

หากจะนึกถึงสมาชิก Young Printer Group สักหนึ่งคน ที่ไม่ว่าจะมีกิจกรรมไหนก็มักจะเห็นหน้าของเธอทุกครั้ง และทุกครั้งเธอมักทำหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็งและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีอยู่เสมอ คงต้องนึกถึง คุณมณีรัตน์ สุรศักดิ์กำจร หรือ คุณกิ๊ฟ แห่ง เอ็ม.ดี.แมชชีนเนอรี่ฯ ซึ่งได้ให้เกียรติสัมภาษณ์ลงในคอลัมน์ Young Printer Group ในวารสาร Thai Print ฉบับนี้

เริ่มแรกคุณกิ๊ฟเล่าประวัติส่วนตัวให้ฟังว่า “เธอเป็นลูกสาวคนสุดท้องจากพี่น้องสามคนของทางบ้าน จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ก่อนไปต่อมัธยมปลายที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และกลับมาเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (BBA) เอกการตลาด แล้วจึงไปต่อปริญญาโทที่ Imperial College London ประเทศอังกฤษ ในด้าน Strategic Marketing (MSc) หลังจากนั้นได้เข้าทำงานเป็น Online Marketing Analyst ให้คำปรึกษาแก่เว็บไซต์ E-Commerce ของหลายแบรนด์ในประเทศไทย ก่อนกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว”

ในด้านของบริษัท เอ็ม.ดี.แมชชีนเนอรี่ แอนด์ ซัพพลาย จำกัดนั้น ก่อตั้งโดยคุณพ่อ คุณแม่ (คุณสุรพันธ์ และคุณประภา สุรศักดิ์กำจร) ตั้งแต่เมื่อประมาน 35 ปีก่อน โดยคุณพ่อมีประสบการณ์เป็นช่างพิมพ์ออฟเซ็ทโดยตรง บวกกับความสนใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงได้เห็นถึงโอกาสในการนำเสนอสินค้าสู่ตลาดการพิมพ์ออฟเซ็ทของบ้านเราตั้งแต่ในสมัยนั้นเป็นต้นมา โดยได้เริ่มต้นจากการจำหน่ายหมึกพิมพ์ น้ำยา อุปกรณ์ทางการพิมพ์ต่างๆ และได้ขยายงานมาในส่วนเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ทมือสอง และเครื่องหลังพิมพ์ในระยะเวลาต่อมา “โดยครอบครัวเรายึดถือจรรยาบรรณในอาชีพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สินค้าทุกรายการ และขั้นตอนงานบริการของเราจึงถูกส่งมอบด้วยการคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก เรายินดีแบ่งปันข้อมูล พร้อมแนะนำลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการลงทุนในเครื่องจักร หรือการเลือกสรรหมึกพิมพ์ และสินค้ากลุ่ม consumables อย่างมีคุณภาพสม่ำเสมอ”

จุดเริ่มต้นของการทำงาน และหน้าที่รับผิดชอบ

คุณกิ๊ฟกล่าวว่า “เหมือนเป็น Mission และหน้าที่ ที่ตระหนักได้ตั้งแต่เล็กๆว่า เราจะได้กลับมามีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัว ด้วยความคลุกคลีในงานของทางบ้าน เห็นคุณพ่อ คุณแม่ พี่สาวคนโต (พี่นุช) และพี่ชายคนรอง (พี่เพ้ง) ช่วยกันทำงานในบริษัทนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงได้มีโอกาสเข้าเรียนรู้งานในหลายๆโอกาสระหว่างช่วงเวลาที่ว่างจากการเรียน จนเกิดความสนใจและความผูกพันธ์กับสายงานของเรา โดยปัจจุบันกิ๊ฟดูแลภาพรวมของบริษัท ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ในส่วนของหมึกพิมพ์ น้ำยา และ consumables ทางการพิมพ์ต่างๆ โดยความรับผิดชอบหลักจะอยู่ในส่วนการดูแลฝ่ายขาย และจัดซื้อจากต่างประเทศ”

คุณกิ๊ฟเล่าต่อว่า “ความท้าทายมีอยู่ทั้งภายในและภายนอกของบริษัทเรา สำหรับคนที่มารับช่วงต่อ น่าจะมีหลายประเด็นที่คล้ายกัน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการภายในธุรกิจครอบครัว ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ระหว่างพี่น้องครอบครัวเรากันเองเท่านั้น แต่รวมไปถึงนโยบายและทิศทางของบริษัท ที่มีผลต่อผู้มีส่วนร่วมทุกคน พนักงาน ซัพพลายเออร์ และลูกค้า ที่คงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการวางแผนและลงมือปรับปรุงงาน ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีโดยรวมต่อทุกฝ่าย ในส่วนนี้เราเน้นย้ำ ให้ความสำคัญในเรื่องการสื่อสารระหว่างกันภายในองค์กรณ์ ให้ทุกคนได้รับทราบถึงปัญหาที่มีอยู่ รู้จักวิเคราะห์สาเหตุ เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขแบบขยายผลได้”

คุณกิ๊ฟเสริมอีกว่า “ในอีกส่วนความท้าทายจากปัจจัยภายนอก คือสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของตลาดสิ่งพิมพ์เอง ทำให้การตัดสินใจลงทุน หรือเลือกซื้อสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิตทุกอย่าง มีการใช้เวลามากขึ้น เพื่อพิจารณาดูจากผู้ขายที่หลากหลายราย ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากในทุกวันนี้ ทำให้เราต้องมีความมุ่งมั่นในการศึกษาหาความรู้ให้อัพเดทอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเราเอง เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง”

เป้าหมายการทำงานในปัจจุบันและอนาคต

“คงเป็นการเติบโตทางธุรกิจให้ได้อย่างยั่งยืน มากกว่าแค่การสร้างยอดขาย โดยทุกคนรอบตัวจะได้แบ่งปันประโยชน์และคุณค่าร่วมกัน ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมโยงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ซัพพลายเออร์ และพนักงานของเราในทุกส่วน ยกตัวอย่างเช่น สินค้าประเภทที่กิ๊ฟดูแลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นหมึกพิมพ์ น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่างๆ ต้องให้คุณประโยชน์กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืน มากกว่าเป็นการขายสินค้าแบบเป็นครั้งคราวโดยไม่สร้างความแตกต่าง เรื่องการบริการหลังการขาย และ technical support ต่างๆ ก็นับเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพลูกค้าทางด้านการผลิตไปด้วย พอเราเริ่มเน้นย้ำการสร้างคุณค่าจากลูกค้าเป็นหลักแล้ว ส่วนอื่นๆก็จะมุ่งไปในทิศทางเดียวกันอย่างสอดคล้องกัน เช่น การคัดเลือกสินค้า ซัพพลายเออร์ และวัฒนธรรมองค์กรของเราเอง”

แนวคิดหรือทัศนคติเชิงบวก บนพื้นฐานของ Logic เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันตัวเราให้เดินไปข้างหน้าได้ ด้วยความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ บนความเป็นจริงและเป็นกลาง เพราะในแต่ละวันพวกเราทุกคนต้องเจอปัญหาทั้งเล็กใหญ่เข้ามาแทบจะตลอดวัน ก็จะพยายามจัดการและทำงานอย่างมีสติ รู้สึกขอบคุณและพอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ในทุกวันนี้ บวกกับความใส่ใจและสนใจในตัวงาน หรือการที่มี Passion กับมันก็จะทำให้เราเข้าใจและพร้อมรับผิดชอบได้ดีกว่า ที่สำคัญมากๆ คือต้องคอยตรวจสอบผลการทำงาน เพื่อพัฒนาองค์กรและตัวเองอยู่เสมอ”

มุมมองอนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

คุณกิ๊ฟแสดงความเห็นในข้อนี้ว่า “การพิมพ์ในทุกวันนี้เห็นได้ชัดกันอยู่แล้วว่ามีความแตกต่างจากในสมัยก่อนเป็นอย่างมาก ความต้องการสิ่งพิมพ์ในรูปแบบสื่อ ถูกลดบทบาทลงอย่างเห็นได้ชัด งานพิมพ์ประเภทหนังสือดูเหมือนจะมีจำนวนสั่งพิมพ์ที่ลดน้อยลง แต่ทั้งหมดนี้มาจากการปรับเปลี่ยนของพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ Business Model ของโลกเราก็ถูกเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

แบรนด์ต่างๆ เลือกที่จะลงงบประมาณในสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง แต่หันไปจับกลุ่มลูกค้าทางสื่อออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยอดการสั่งพิมพ์หนังสือต่อเล่มลดลง เนื่องจากร้านหนังสือที่มีจำนวนหลายสาขาได้ปิดตัวลง แต่งานหนังสือก็ยังไม่หมดไป การผลิตหนังสือ หรือ content ต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน ทำให้จำนวนหัวเรื่องหนังสือกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ยอดพิมพ์ต่อหัวเรื่องอาจจะจำนวนสั้นลง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์คงเป็นเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องผ่านการปรับตัว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจดำเนินเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในทุก segment ของงานพิมพ์เอง ไม่ว่าจะเป็นงานสื่อ งานหนังสือ งานแพคเกจจิ้ง ก็จะมีบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีได้ หากมีการปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วนี้ได้

จุดสำคัญของการปรับตัวนั้นคงเป็นประเด็นพื้นฐานคล้ายๆ ทุกธุรกิจในสมัยนี้ คือ เน้นเรื่องการสร้างความแตกต่างให้กับงานพิมพ์ของตัวเอง ในแง่ของคุณภาพและดีไซน์ ระยะเวลาการส่งมอบ และต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้เราสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน พร้อมสร้างความแตกต่างอย่างเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจและองค์กรของเราเอง”

เข้ามาเป็นสมาชิก Young Printer Group ได้อย่างไร

“ได้รับอีเมล์จากทางพี่ฝัย สมาคมการพิมพ์ไทย ถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ทางสมาคมฯ ได้จัดขึ้น รวมถึงได้รับการชักชวนเข้าร่วมสัมมนาจากพี่เอ S.O. Full Printing ในช่วงสองปีก่อนค่ะ โดยกิ๊ฟรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ ช่วยโปรโมทกิจกรรมของทาง Young Printer รวมถึงช่วยประสานงานในส่วนต่างๆแล้วแต่กิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น กิจกรรมเยี่ยมชมโรงงานกับทาง CAS Paper + กิจกรรมCSR และกิจกรรมศึกษาดูงานที่ SCG เรื่องแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้นค่ะ การที่ได้เข้าร่วมกลุ่ม YPG ทำให้ได้รู้จักรุ่นพี่ เพื่อน และรุ่นน้องที่น่ารักหลายคนมากๆ ค่ะ เป็นกลุ่มที่มีความอบอุ่น มีน้ำใจแบ่งปันกันในหลายๆ เรื่อง โดยการที่ทุกคนมาจากอุตสาหกรรมเดียวกัน ลักษณะธุรกิจคล้ายๆ กันเลยทำให้มีความเข้าใจกันอยู่มาก นอกจากในแง่ของการทำงานแล้ว ด้วยความที่ Young Printer ก็จะอยู่ในช่วงอายุใกล้เคียงกัน ทำให้เราได้มีโอกาสทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกันเหมือนพี่น้อง เพื่อนสนิท ถือว่าเป็นอีกกลุ่มที่มีความแน่นแฟ้นกันอยู่มากค่ะ” คุณกิ๊ฟกล่าวปิดท้าย