งานแถลงข่าว “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019”
สุดยอดมหกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย
สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ร่วมกับเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมจัดงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” สุดยอดมหกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากบริษัทชั้นนำกว่า 300 แห่งทั่วโลก เพื่อเร่งการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง และผลักดันขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดสากล
มร.เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ร่วมกับสมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย เตรียมจัดงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” สุดยอดมหกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย ระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา เพื่อเร่งการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะช่วยผลักดันขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดสากล โดยภายในงานรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์แนวทางการผลิตแห่งอนาคตจากกว่า 300 บริษัทชั้นนำ 25 ประเทศทั่วโลก อาทิ เอชพี (HP) ไฮเดลเบิร์ก (Heidelberg) โคนิก้า มินอลต้า (Konica Minolta) ฟูจิฟิล์ม (Fujifilm) ริโก้ (Ricoh) เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCG Packaging) แคนนอน (Canon) ฯลฯ ซึ่งแต่ละบริษัทเตรียมขนทัพนวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อการผลิต การพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ใหม่ล่าสุด มาเปิดตัวพร้อมกันภายในงาน
อีกหนึ่งจุดเด่นของงาน ได้แก่ บริการจับคู่การเจรจาธุรกิจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับผู้ผลิต ลูกค้า และพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยพัฒนาโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ ตลอดจนยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ภายในงาน ยังรวบรวมงานประชุมและสัมมนา จากผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรม และผู้ผลิตนวัตกรรมชั้นนำ ซึ่งจะมาแลกเปลี่ยนมุมมอง และอัปเดตกระแสของตลาดที่เกี่ยวข้องกับงานพิมพ์และงานบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเหมาะกับทั้งผู้ประกอบการ นักออกแบบ นักการตลาด รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องการติดตามความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม จากสถิติผู้ลงลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้า พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 63% จากปี 2560 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาค อาทิ พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมสูงถึง 17,000 คน ในปีนี้ และเชื่อว่า แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมไทยให้เท่าทันโลก สร้างผลลัพธ์การผลิตที่น่าดึงดูดและยั่งยืนในตลาดโลก รวมถึงพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก มร.เกอร์นอท กล่าวสรุป
ด้านคุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า ตัวเลขมูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ไทยในปี 2561 มีมูลค่าร่วม 3 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ราว 40% หรือ 1.2 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสำหรับ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ หนังสือ หนังสือพิมพ์ วัสดุการพิมพ์ทั่วไป และตลาดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ขณะที่ประเทศไทยยังสามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ในฐานะศูนย์กลางการผลิตด้านการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรการผลิต การส่งเสริมโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจากทางภาครัฐ รวมถึงความพร้อมด้านแรงงาน ร่วมไปกับนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐ อาทิ มาตรการจูงใจทางภาษีอากร และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร สำหรับโครงการที่ตรงตามวัตถุประสงค์การพัฒนาประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
คุณมานิตย์ กมลสุวรรณ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่าอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์มีกำลังการผลิตในประเทศสูงถึง 5.83 ล้านตันในปีที่ผ่านมา และจะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีราว 10 – 20% โดยคาดว่าตลาดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ทั่วโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 8.87 ล้านล้านบาท ในปี 2563 ขณะที่ตลาดในภูมิภาคเอเชียเองมีจะมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ขยายถึงราว 40% จากสัดส่วนทั่วโลก ในปี 2565 ซึ่งสะท้อนโอกาสก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ไทยที่ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิต รองรับการเติบโตดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากอานิสงค์ของดีมานต์การบริโภคในประเทศและการส่งออก ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ดี นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นข้อท้าทายหนึ่งที่สร้างการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมเองต้องปรับทิศทางธุรกิจให้เท่าทันสถานการณ์ตลาด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ผลิตภัณฑ์ที่น่าดึงดูดแก่นักลงทุนทั่วโลก