สมาคมการพิมพ์ไทย สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมพร้อมจัด “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” งานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จากกว่า 300 บริษัท 25 ประเทศชั้นนำทั่วโลก ระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช – นายกสมาคมการพิมพ์ไทย คุณมานิตย์ กมลสุวรรณ – นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และเบียทริซ เจ โฮ ผู้อำนวยการโครงการ “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย (เอ็มดีเอ) ได้นำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม บริษัท คอนติเนนตัล บรรจุภัณฑ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ทั้งสามท่านได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย เผยว่า มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่า 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษเพียงอย่างเดียวสร้างมูลค่าสูงถึง 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนยังให้ความสนใจประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตที่รายล้อมด้วยประชาคมอาเซียน ที่มีจำนวนผู้บริโภคสูงกว่า 600 ล้านคน
อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่พร้อมต่อการผลิตรับดีมานด์ดังกล่าว เช่น นิคมอุตสาหกรรมสินสาครบนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิตในทุกห่วงโซ่อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ ที่มีศักยภาพในการผลิตได้แบบครบวงจร และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ไปพร้อมกัน ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตในไทยสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลาย ได้คุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรม ในราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก
เมื่อพูดถึงโอกาสการเติบโต และการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์ และกระดาษในประเทศ สมาคมการพิมพ์สนับสนุนให้โรงงานและผู้ประกอบการตอบรับเทรนด์การผลิตที่น่าสนใจ อย่าง การผลิตคุณภาพสูง การพิมพ์การสร้างมูลค่าเพิ่ม (High Value Added) การพิมพ์ Hybrid บนหลากหลายวัสดุ ระบบการสั่งการอัตโนมัติ และโรงงานอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองแนวคิด “Printing and Packaging 4.0” รวมถึงปรับใช้การพิมพ์ดิจิทัล และกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเองยังมีปัจจัยกระตุ้นการลงทุนจากภายนอกเพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ ทั้งการเป็นประเทศที่สามารถผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษได้ในปริมาณมาก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ความพร้อมด้านแรงงานคุณภาพ ร่วมไปกับนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐ อาทิ มาตรการจูงใจทางภาษีอากร และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร สำหรับโครงการที่ตรงตามวัตถุประสงค์การพัฒนาประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น
ส่วน คุณมานิตย์ กมลสุวรรณ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์มีกำลังการผลิตในประเทศสูงถึง 5.83 ล้านตันในปีที่ผ่านมา โดยแบ่งสัดส่วนวัสดุการผลิตจากกระดาษ ร้อยละ 37.74 แก้ว ร้อยละ 30.05 พลาสติก ร้อยละ 24.34 และโลหะ ร้อยละ 7.87 และคาดว่าสิ้นปี 2562 จะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากนโยบายกระตุ้นการลงทุนจากทางภาครัฐ
คุณมานิตย์ กล่าวเพิ่มว่า ด้านนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต ทำให้ภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ยังเป็นปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากประเทศไทยสามารถเข้าถึงวัตถุดิบการผลิตได้ง่าย และผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออก ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์เพื่อการถนอมคุณภาพ ยืดอายุการเก็บรักษาของอาหาร ควบคู่นโยบายภาครัฐในเรื่องมาตรฐานบรรจุภัณฑ์และฉลาก ทำให้ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำจากในประเทศ มีคุณภาพมตราฐานระดับสากล และมีความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
อย่างไรก็ดี นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นข้อท้าทายหนึ่งที่สร้างการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ไทย โดยคาดว่าในช่วงทศวรรษข้างหน้า อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์จะมีการพัฒนาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล ดังนั้น ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ผลิตในประเทศ ควรปรับทิศทางธุรกิจให้เท่าทันสถานการณ์ตลาดการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ดิจิทัล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ผลิตภัณฑ์ที่น่าดึงดูด ประหยัดต้นทุน สร้างความยั่งยืนในตลาดที่มีการแข่งขันในระดับสูงยิ่งขึ้นไปอีก คุณมานิตย์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน เบียทริซ เจ โฮ ผู้อำนวยการโครงการ “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย (เอ็มดีเอ) กล่าวว่า การพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ได้รับการประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม และยังคงเป็นตลาดที่สร้างมูลค่าทางอุตสาหกรรมได้อย่างมหาศาล ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยี ดังกล่าว ทั่วโลก 3 ปัจจัยระดับมหภาคที่สำคัญ ซึ่งช่วยสนับสนุนสถานการณ์อุตสาหกรรม ดังกล่าว ได้แก่ 1.การขยายตัวของดิจิทัลแพคเกจจิ้งหนุนการเติบโตอุตสาหกรรมการพิมพ์ 2.มีแนวโน้มทิศทางการลงทุนเทคโนโลยีการพิมพ์ 3.โอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมจากเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการปรับแต่งการใช้งานที่หลากหลาย โรงงานและผู้ประกอบการ ได้พัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นในการผลิตตอบโจทย์ตลาดมากยิ่งขึ้น ระยะเวลาการผลิตไวขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงกระบวนการผลิตแบบใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ สถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาพบว่า อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์เองปรับตัวอย่างก้าวกระโดด เช่น การพิมพ์นูนแบบดิจิทัลนับว่าเป็นเทรนด์มาแรงที่เข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ โดยจากข้อมูลการวิจัยตลาดโดยผู้เชี่ยวชาญการตลาดในห่วงโซ่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อย่างแอลพีซี (LPC Inc.) พบว่า การพิมพ์นูนแบบดิจิทัล ได้รับการประยุกต์ใช้ในการพิมพ์ตราฉลากมากขึ้นถึงร้อยละ 11.9 ในปี 2560
จากปัจจัยด้านความทันสมัย การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เฉพาะตัวมากขึ้น และเน้นสะดวกสบายในการใช้งาน และตลาดซื้อขายออนไลน์ที่เติบโตก้าวกระโดด ส่งผลให้อุตสาหกรรมการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ยังคงสดใส และมีมูลค่าการเติบโตอย่างต่อเนื่องแตะ 2.86 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 42 จากรายได้ทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าจะติดอันดับตลาดที่เติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในปี 2563 รวมถึงครองสัดส่วนของตลาดที่มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์มากถึงร้อยละ 40 ในปี 2565
นอกจากนี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ของงานในปี 2019 “Shaping the future of packaging and printing in Asia” งานแสดงสินค้า “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล” นี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากงานมหกรรมสินค้าอุตสาหหรรมการพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ ชื่อดังระดับโลกอย่างดรูป้า และอินเตอร์แพค ซึ่งจัดโดยกลุ่มบริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เยอรมันนี จะมานำเสนอเทคโนโลยี และนวัตกรรม การพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ระดับโลก จากผู้ออกแสดงสินค้าชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 300 แห่ง 25 ประเทศ ในกลุ่มประเทศจากประเทศเยอรมัน ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย จีน รวมถึงแบรนด์ชั้นนำต่างๆ อาทิ HP Heidelberg Konica Minolta Riso Fujifilm Ricoh Bobst KURZ Zund Duplo Sansin Selic Corp PMC เป็นต้น
ทั้งนี้ “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนพาวิเลี่ยนครบวงจร โซนการพิมพ์ฉลาก โซนการขนถ่ายวัสดุและระบบอัตโนมัติ และโซนจัดแสดงต้นแบบผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งวงเสวนาแลกเปลี่ยนทิศทางความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอด 4 วันของการจัดแสดง ผู้เข้าชมจะได้ติดตามข้อมูลที่น่าสนในวงการการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ อาทิ การพิมพ์บรรจุภัณฑ์ การพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก การพิมพ์ดิจิทัล การพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ การพิมพ์ขนาดใหญ่ บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว และระบบโรโบติกส์ ฯลฯ