การบริหารจัดการโรงพิมพ์ ตอนที่ 2 การวางแผนและการควบคุมการผลิต

การบริหารจัดการโรงพิมพ์ ตอนที่ 2 การวางแผนและการควบคุมการผลิต

โดยธีรพงศ์ ประดิษฐ์กุล

การบริหารการผลิต ท่านอาจารย์ชุมพล ศฤงคารศิริ ได้กล่าวคำนิยามของการวางแผนและผลิตไว้ว่า “การผลิตคือกระบวนการที่ทำให้เกิดการสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาจากการใช้ทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตที่มีอยู่” การดำเนินการผลิตจะเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของการกระทำก่อนหลัง กล่าวคือ จากวัตถุดิบที่มีอยู่ ถูกแปลสภาพให้เป็นผลผลิตที่อยู่ในรูปแบบตามต้องการ เพื่อให้การผลิตบรรลุวัตถุประสงค์ จึงจำเป็นต้องมีการจัดการให้อยู่ในรูปของระบบการผลิต สำหรับบางท่านที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการด้านการผลิตนี้ที่ไม่ได้มาจากการการศึกษาด้านการพิมพ์โดยตรง และท่านที่มาจากสายการพิมพ์โดยตรงแต่ไม่ได้ศึกษาการบริหารดังนั้นเป็นการดีที่สุดหากผู้ที่บริหารหรือท่านที่มีหน้าที่บริหารการผลิตในโรงพิมพ์นั้นจะมีความรู้ทั้งด้านการพิมพ์และบริหารไปด้วยกันและถ้ามีความรู้เรื่องการปกครองด้วยแล้วจะมีประสิทธิภาพการบริหารมากยิ่งขึ้น

ในฉบับที่แล้วผมได้กล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการโรงพิมพ์ที่เกี่ยวกับงานบริหารทรัพย์ยากรมนุษย์ และในฉบับนี้ผมจะขอกล่าวในเรื่องการบริหารจัดการโรงพิมพ์ด้านการผลิต เรื่องการวางแผนและการควบคุมการผลิต เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้นำไปปรับใช้ตามสถานการณ์ของโรงพิมพ์ของท่าน ผู้เขียนหวังว่าสิ่งที่ได้นำเสนอไปจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านได้

การผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องคํานึงถึงปัจจัยด้านปริมาณ คุณภาพ เวลา และราคา ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องนํามารวมไว้ในระบบการผลิต โดยมีการวางแผนและควบคุมการผลิตเป็นแกนกลาง กิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ในระบบการผลิตนั้นสามารถจําแนกได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ การวางแผน (planning) การดําเนินงาน (operation)และการควบคุม (control)

  1. การวางแผน เป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ และวางแผนการใช้ทรัพยากรให้ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในแผนการผลิตจะกําหนดเป้าหมายย่อยไว้ในแผนกต่างๆในช่วงเวลาที่กําหนดไว้ก่อนล่วงหน้า และจากเป้าหมายย่อยๆ ที่ถูกกําหนดขึ้นเหล่านี้ ถ้าประสบผลสําเร็จก็จะส่งผลไปยังเป้าหมายการผลิตที่ต้องการ
  2. การดําเนินงานผลิต เป็นขั้นตอนของการดําเนินการผลิต จะเริ่มต้นได้ก็ต่อเมื่อรายละเอียดต่างๆ ในขั้นตอนการวางแผนได้ถูกกําหนดไว้ในแผนการผลิตเรียบร้อยแล้วและเราต้องพยายามดำเนินการให้เป็นไปตามแผนด้วย
  3. การควบคุม เป็นขั้นตอนของการตรวจตราให้คําแนะนําและติดตามผลเกี่ยวกับการดําเนินงานโดยใช้การย้อนกลับของข้อมูล (feedback information) ในทุกๆ ขณะที่งานก้าวหน้าไป ผ่านกลไกการควบคุม(control mechanism) โดยที่กลไกนี้จะทําหน้าที่ปรับปรุงแผนงานการผลิตสิ่งพิมพ์ และเป้าหมายเพื่อให้เป็นที่เชื่อแน่ได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายหลักในการผลิตโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ
    • ปัจจัยการผลิต (Input) ได้แก่ คน ( Man) วัตถุดิบ (Materials) เครื่องจักร (Machines)พลังงาน (Energy) เงิน (Money) ข่าวสารข้อมูล (Information)
    • ส่วนกระบวนการผลิต (Process) ได้แก่ การเตรียมวัตถุดิบต่างๆ การพิมพ์ การขึ้นรูป ตลอดทั้งการบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า
    • ส่วนที่เป็นผลผลิต (Output) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์สําเร็จรูป (Products) ซึ่งผลผลิตจะออกมาในรูปทั้งเป็นสินค้าหรือแม้แต่บริการก็ถือว่าเป็นส่วนของผลผลิตด้วย

เป้าหมายของการวางแผนและการควบคุมการผลิต

  1. เพื่อเปลี่ยนการคาดหมายของการขาย ให้อยู่ในรูปแบบของแผนงานผลิต ฝ่ายขายเมื่อได้รับคำสั่งผลิตจากลูกค้าแล้ว สิ่งที่ฝ่ายขายต้องการมากที่สุดคือ กำหนดวันส่งสินค้า เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ได้ติดต่อ และส่วนมากลูกค้าก็มักจะมีเวลาที่จำกัดเสมอ
  2. เพื่อให้การดำเนินงานในส่วนของงานต่างๆมีการประสานงาน การวางแผนเป็นส่วนที่ทำให้ผู้ที่ต้องดำเนินการผลิตได้รับรู้เวลาที่เขาต้องเริ่มปฏิบัติ เพราะในสายการผลิตส่วนมากจะมีสินค้าสิ่งพิมพ์จำนวนมากหลายรายการอยู่ในส่วนของการผลิตพร้อมๆกัน ดังนั้นการวางแผนจะช่วยให้เกินการประสานงานและทำให้งานราบรื่นได้
  3. เพื่อลดเวลาการผลิตให้กระชับและสั้นลง การวางแผนก็เป็นการลดเวลาการทำงาน หรือเป็นส่วนเร่งงาน และกระชับงานให้พอเหมาะกับเวลา และทันเวลา
  4. เพื่อลดต้นทุนการผลิตและใช้ของที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า การเสียเวลาหรือรอเวลาถือว่าเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่ทำให้สินค้ามีต้นทุนเพิ่มได้ หากมีการวางแผนที่ดี เชื่อได้เลยว่าต้นทุนของโรงพิมพ์เราจะมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้อย่างแน่นอน
  5. เพื่อเป็นการบริหารวัสดุ และเครื่องมือที่ใช้อยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด วัดสุที่เราเตรียมพร้อม หรือแม้แต่เครื่องจักร หรือการจัดจ้างภายนอกต้องมีการบริหารอย่างดี มีหลายโรงพิมพ์ที่ไม่มีการบริหารเวลาผลิต ไม่ได้มีการวางแผนการผลิต มีการถอดงานเข้าออกโดยไม่มีแผนจะทำให้เกิดปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นกับความรู้สึกคนทำงานหรือแม้แต่ความสิ้นเปลืองวัสดุอีกด้วย
  6. เพื่อให้การติดตามงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โรงพิมพ์จะสามารถตรวจสอบงานในสายการผลิตได้ง่าย เพราะจะทราบว่า กำลังผลิตอะไรอยู่ ทีมวางแผนต้องติดตามงานเพื่อนำไปปรับปรุงแผนสม่ำเสมอ

การวางแผนและควบคุมการผลิต มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารงานในโรงพิมพ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากการผลิตเป็นหัวใจสำคัญในองค์กร การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และวัสดุในการควบคุมการผลิตมีความซับซ้อน โดยสามารแบ่งเป็นหน้าที่หลักๆในการวางแผนและควบคุมการผลิตได้ดังนี้

  • การพยากรณ์ความต้องการ (Forecasting)
  • การวางแผนกำลังการผลิตระยะยาว (Long-term Planning)
  • การวางแผนความต้องการระยะสั้น (Short-term Planning)
  • การควบคุมของคงคลัง (Inventory Control)
  • การกำหนดตารางการผลิต, การติดตาม, และการควบคุม (Shop scheduling, Monitoring, and Control)

ในการผลิตของโรงพิมพ์สมัยใหม่ที่ได้เปลี่ยนการบริการและการขายกับลูกค้าของตนนั้นได้เปลี่ยนไปจากเดิมนอกจากที่เราจะต้องให้ความพึงพอใจด้านราคา คุณภาพ และเวลาแล้ว ปัจจุบันเรายังต้องคำนึงถึงการเพิ่มมูลค่าการบริการให้กับลูกค้าของเรา การพยากรณ์การเบิกใช้หรือการเรียกใช้ที่ลูกค้ามักจะคาดหวังให้เรานั้นเป็นผู้สต๊อกสินค้าก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ฝ่ายขายและลูกค้าของเราคาดหวังให้ฝ่ายการผลิตนั้นพยากรณ์ คาดเดา เตรียมวัสดุสำหรับผลิตไว้ด้วย เพราะงานพิมพ์ที่เป็นงานบรรจุภัณฑ์ก็ถือว่าเป็นความต้องการของตลาดที่ดีกว่าการพิมพ์หนังสือหรือนิตยสารซึ่งมีสิ่งทดแทนได้ง่ายกว่า โรงพิมพ์ที่มีเครื่องจักรการผลิตที่เป็นระบบอัตโนมัติ และลงทุนมหาศาลก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องการวางแผนระยะยาวด้วย มีสิ่งพิมพ์ที่ผู้บริโภคต้องการใช้เป็นจำนวนมากทั้งการใช้ภายในประเทศและส่งออกต้องการสินค้าจากเราจึงต้องมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กันไปด้วยกัน การเตรียมวัสดุ การหาที่จัดเก็บก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องจัดทำและบริหารตารางการผลิต มีระบบติดตามและควบคุมดูแลด้านคุณภาพด้วย

หลักการวางแผนการผลิต

  1. ต้องระบุเป้าหมายของผลสำเร็จให้ชัดเจน การวางแผนการผลิตของสิ่งพิมพ์นั้นถือว่าไม่ง่ายเนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่างที่อาจจะทำให้ไม่เป็นไปตามแผนที่คาดการไว้ได้ เช่น กระดาษ หมึกพิเศษ น้ำมันอาบเงา คือวัสดุอาจจะไม่มีใช้ตามที่เราคาดการไว้ เช่นเดียวกันกับการจัดจ้างผลิตจากภายนอกเนื่องจากไม่มีเครื่องจักรเอง ระยะเวลาเหล่านี้อาจจะคาดเคลื่อนได้ตลอดเวลาจึงต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน และควรจะมีแผนสำรองหากสิ่งที่คาดหมายนั้นไม่ตรงตามความคาดหมาย
  2. ระบุและกำหนดหน่วยงานที่รับชิดชอบการจัดการตามที่มอบหมาย มีหลายโรงพิมพ์ที่มักจะเจอกับความไม่เอาใจใส่และไม่รับผิดชอบของพนักงานบางฝ่าย เช่น โรงพิมพ์เร่งการผลิตทุกขั้นตอน จนงานสำเร็จ แต่มาพลาดกับบางแผนกเช่นแผนกจัดส่งสินค้ามีปัญหาไม่สามารถส่งได้ตามกำหนดเวลา ทำให้สินค้าไม่สามารถถึงตรงตามเวลาที่ตกลงไว้กับลูกค้า จะเห็นได้ว่าทีมงานตั้งแต่ต้นจนถึงการจัดส่ง ต้องประสานงาน ประชุมหารือ และทำตามสิ่งที่ตันเองได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด
  3. มีนโยบายผลิตที่ชัดเจน บางโรงพิมพ์จะมีระบบการบริหารจัดการที่เป็นรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคิดระบบขึ้นเอง หรือ แม้แต่ระบบการจัดการที่มีใช้กันทั่วไป ในวิธีการเหล่านี่สำคัญมากคือผู้บริหารต้องมีนโยบายระดับบริษัท และ นโยบายระดับแผนกชัดเจน กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ การทำงาน ขั้นตอนการปฏิบัติการ การทวนสอบ การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพ เหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
  4. ผู้มีหน้าที่จะต้องมีทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การคาดคะเนปัญหาที่อาจจะเกิดขั้นล่วงหน้า และดีที่สุดคือคิดระบบการป้องกันก่อนที่จะมีเหตุ เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับผู้บริหารเนื่องจากการสังเกตุ การวิเคราะห์มิใช่ว่าจะสามารถเรียนกันได้ในชั้นเรียน แต่ต้องเกิดจากตัวบุคคลนั้น ถึงแม้ระบบจะช่วยป้องกันแล้ว แต่ทุกสิ่งอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอโดยไม่เลือกเวลา ปัญหาไม่ว่าเรื่องวัสดุมีเพียงพอหรือไม่ คุณภาพสินค้าไม่ตรงตามความต้องการ กระดาษมีปัญหา เครื่องจักรเสียขณะปฏิบัติงาน พนักงานไม่มาทำงาน เรื่องเช่นนี้เป็นหน้าที่และทักษะการทำงานของผู้บริหารที่ต้องจัดการทั้งสิ้น

การวางแผนการผลิตแบบพอดีกับเวลาและการใช้ (JIT : Just in Time)

หลักการและข้อดีที่การบริหารจัดการโดยการวางแผนและการควบคุมการผลิตแบบ Just in Time มีดังนี้

  1. แนวความคิดของระบบ JIT ไม่ได้มุ่งเน้นแต่การส่งมองสินค้าแบบทันเวลาพอดีเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นถึงการกำจัดความสูญเปล่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของเสีย เวลาสูญเปล่า สินค้าคงคลัง เครื่องจักรเสีย ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบถึงการลดระดับของสินค้าคงคลังซึ่งทำให้การบริหารการดำเนินการ และช่วยให้สามารถมองเห็นปัญหาของการดำเนินการเพื่อที่จะทำการแก้ไขได้ทันท่วงที
  2. ระบบ JIT ทำให้ของคงคลังที่ใช้ระหว่างการผลิตลดลงอย่างมาก ระบบการผลิตแบบนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการผลิตมีเสถียรภาพ วัสดุทุกๆรายการมีคุณภาพได้มาตรฐาน และถูกส่งมาในวันที่ได้ตกลงกันไว้ สถานที่ทำงาน และเครื่องจักร ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ป้องกันแนวโน้มที่จะเกิดการเสียเนื่องจากระบบนี้ไม่สามารถที่จะยอมให้เกิดการขัดจังหวะในการผลิตขึ้นได้ นอกจากนี้ระยะเวลาในการเตรียมการผลิต (Setup time) จะลดลง มีการอบรมพนักงานให้สามารถทำงานได้หลายๆอย่าง สนับสนุนการทำงานเป็นทีมเป็นต้น

ต้นทุนการผลิต

ต้นทุนการผลิต (cost of production) หมายถึงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในปัจจัยการผลิตที่ใช้ในกระบวนการผลิต เนื่องจากปัจจัยการผลิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ปัจจัยคงที่
  2. ปัจจัยผันแปร

ดังนั้นต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในปัจจัยการผลิตจึงแบ่งตามประเภทของปัจจัยการผลิต ออกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. ต้นทุนคงที่ (fixed cost) หมายถึง ค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการผลิตที่เกิดจากการใช้ปัจจัยคงที่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าต้นทุนคงที่เป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายที่ไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณของ ผลผลิต กล่าวคือ ไม่ว่าจะผลิตปริมาณมาก ปริมาณน้อย หรือไม่ผลิตเลย ก็จะเสียค่าใช้จ่ายในจํานวนที่คงที่ ตัวอย่างของต้นทุนคงที่ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อที่ดินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสํานักงานโรงงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ตายตัวไม่เปลี่ยนแปลงตามปริมาณการผลิต
  2. ต้นทุนผันแปร (variable cost) หมายถึง ค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการผลิตที่เกิดจากการใช้ปัจจัยผันแปร หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าต้นทุนผันแปรเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายที่ขึ้นอยู่กับ ปริมาณของผลผลิตกล่าวคือ ถ้าผลิตปริมาณมากก็จะเสียต้นทุนมาก ถ้าผลิตปริมาณน้อยก็จะเสียต้นทุน น้อย และจะไม่ต้องจ่ายเลยถ้าไม่มีการผลิต ตัวอย่างของต้นทุนผันแปรได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าแรงงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง นํ้าประปา ค่าไฟฟ้า ฯลฯ

งานบริหารการผลิต

การบริหารการผลิตมีหลายด้านด้วยกันเช่น ด้านคุณภาพ ด้านผลิตภาพ ด้านการควบคุมเวลาเวลา การผลิตตามปริมาณ และความยืดหยุ่นด้านปริมาณและด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ ผู้บริหารการผลิตต้องดําเนินการตามหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. การวางแผนกําหนดกลยุทธ์การผลิต จะเป็นการกําหนดแผนงานกลยุทธ์ของแต่ละฝ่าย เพื่อใช้เป็นแนวทางสร้างวิธีการปฏิบัติงานของกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละฝ่าย
  2. การบริหารและควบคุมคุณภาพ เป็นการจัดการให้ทุกส่วนของระบบการผลิตมีมาตรฐาน โดยพยายามลดความผิดพลาดต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับปัจจัยนําเข้า (input) กระบวนการผลิต (transformation) และผลผลิต (output)
  3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยอาจนําเอาเทคโนโลยีและวิธีการที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ในการดําเนินการผลิต
  4. การพยากรณ์การผลิต เป็นการคาดหมายความต้องการ (Demand) ในอนาคต เพื่อวางแผนเชิงปริมาณ อาทิเช่น การวางแผนกําลังการผลิต การวางแผนกําลังคน เป็นต้น
  5. การวางแผนกําลังการผลิต เป็นการกําหนดระดับของการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ และการจัดการกําลังคน เพื่อให้ปริมาณการผลิตเพียงพอกับความต้องการ
  6. การวางแผนการผลิตรวม คือการจัดการนำสิ่งที่มีอยู่ไม่ว่า วัตถุดิบ เครื่องจักร บุคลากร การลงทุน มาวางแผนจัดการร่วมกันเพื่อให้สิ่งที่มีอยู่สามารถใช้ได้อย่างพอดีมีประสิทธิภาพ
  7. การบริหารสินค้าคงคลัง เป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของการผลิต จึงต้องมีการจัดการให้ปริมาณของสินค้าคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพียงพอที่จะบริการให้กับลูกค้า
  8. การเลือกทําเลที่ตั้ง เป็นการลงทุนระยะยาวที่ต้องการวางแผนอย่างดี เพราะอาจส่งผลไปยังต้นทุนของธุรกิจ ทำเลเป็นการตัดสินใจที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์อย่างมากที่สุดเพราะถือว่าเป็นการลงทุนลงเงินจำนวนมากและมีระยะการคืนทุนยาวนานที่สุด
  9. การวางผังกระบวนการผลิต การวางลําดับของเครื่องจักรตามประเภทของการผลิต มีผลต่อการไหลผ่านของงาน
  10. การบริหารโครงการ เป็นการควบคุมโครงการให้เสร็จทันเวลาและเป็นการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โรงพิมพ์ใหญ่ๆที่มีงานปริมาณมากต่อเนื่อง การวางแผนงานที่มีระดับและปริมาณมากทั้งการลงทุน การจัดการเวลา ถือได้ว่าเป็นการบริหารโครงการก็ว่าได้ ปัจจุบันมีหลักการบริหารและวิธีการที่นักคิดนักนักวิชาการได้คิดไว้และสามารถที่จะนำมาใช้ได้
  11. การบริหารแรงงานการผลิต เป็นการกําหนดวิธีการทํางานแก่คนงานโดยคํานึงถึงปัจจัยที่มีอยู่ และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
  12. การจัดตารางการผลิต เป็นการจัดสรรในเรื่องของต้นทุน และเวลาในการผลิต เพื่อใช้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุดให้ทันกับการส่งมอบงาน
  13. การบริหารห่วงโซ่ของสินค้า เป็นการบริหารงานตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัตถุดิบ จนถึงมือผู้รับโดยคํานึงถึงปัจจัยที่มีอยู่
  14. การบํารุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ ต้องมีการดูแลบํารุงรักษาเครื่องจักรตลอดระยะเวลาการใช้งานโดยต้องคํานึงถึงต้นทุนการซ่อมและการบํารุงรักษาด้วย

รายงานของระบบการผลิต

โรงพิมพ์มีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบการรายงาน ดังนั้นผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างประเภทรายงานการผลิต เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการการผลิตดังนี้
• รายงานการผลิต เกี่ยวกับงานที่อยู่ในมือ และงานที่ได้ผลิตแล้ว

  • รายงานแผนการเบิกใช้วัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละงาน รวมถึง อัตราการสิ้นเปลืองและการสูญเสีย
  • รายงานแผนการผลิตรายสัปดาห์ สรุปเพื่อทราบความเคลื่อนไหว
  • รายงานรายละเอียดการผลิต เพื่อประโยชน์ด้านการนำมาวิเคราะห์วิจัยปรับปรุง
  • รายงานเปรียบเทียบยอดเวลาที่ใช้จริงกับมาตรฐาน เพื่อหาความเหมาะสมขอเวลาผลิต และเป็นแนวทางการทำงาน
  • รายงานการผลิตแยกตามแผนก ในฝ่ายผลิตของโรงพิมพ์จะมีหลายแผนก แต่ละแผนกต้องมีรายงานปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์การทวนสอบ
  • รายงานสรุปการใช้วัตถุดิบจริงเปรียบเทียบกับสูตรการผลิต เพื่อนำไปวิเคราะห์ปรับปรุงแก้ไข
  • รายงานสรุปต้นทุนการผลิตแยกตามเอกสารสั่งผลิต
  • รายงานเปรียบเทียบต้นทุนมาตรฐานและต้นทุนจริง ตามหลักบัญชี เพื่อหาความสิ้นเปลืองที่ไม่ควรเกิด

สรุปได้ว่าการผลิตนั้นเป็นหัวใจหลักของโรงพิมพ์ การวางแผนเป็นการส่งเสริมให้การผลิตนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผู้ประกอบการต้องเอาใจใส่ทุกขั้นตอนเพื่อให้การผลิตนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่าบทความที่นำมาเสนอนี้จะมีประโยชน์กับผู้อ่าน

…แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ…

 

ขอขอบคุณข้อมูลบางตอนจาก
• การวางแผนการผลิตรวมแบบหลายวัตถุประสงค์ภายใต้ความต้องการเป็นช่วงและกำลังการผลิตที่ไม่แน่นอน
โดยนางสาวรติรส ยิ้มมี
วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• การวางแผนการผลิต – อาจารย์จักรภพ ใหม่เสน ราชมงคลภาคพายัพ
• การวางแผนและควบคุมการผลิต – รองศาสตราจารย์ ดร.วิมลิน สุขถมยา

เครดิดภาพประกอบ https://photo-ac.com/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า