“ทำไมไม่กินข้าวหลามในตู้เย็น” ทีมชนะเลิศจากประกวด “คนรุ่นใหม่ ไร้ Food Waste”

“ทำไมไม่กินข้าวหลามในตู้เย็น”
ทีมชนะเลิศจากประกวด “คนรุ่นใหม่ ไร้ Food Waste”

บริษัท ซีพีแรม จำกัด ร่วมกับ สาขามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ร่วมดำเนินโครงการการประกวดคลิปวิดีโอภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste”
รวมถึงได้จัดงานประกาศรางวัล เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา

วารสาร Thai Print ฉบับนี้ จะนำท่านผู้อ่านมารู้จักทีมชนะเลิศที่ได้รับรางวัลมูลค่า 100,000 บาท จากการประกวดครั้งนี้ ทีม “ทำไมไม่กินข้าวหลามในตู้เย็น” ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชามีเดียอาตส์ เอกการออกแบบภาพยนตร์ โครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ (มีเดีย) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจนสินี จันทร (ไอซ์), พลอยชนก บุญเติม (พลอย), ปณัสญา อธิคบัณฑิตกุล (เพลง), ธนัชพร อนุภาพประเสริฐ (ฮวกใช้), ปริญ อาภาศิลป์ (เชลล์)

ที่มาของชื่อทีม “ทำไมไม่กินข้าวหลามในตู้เย็น”

มาจาก ตอนที่ออกกองงานประกวดครั้งที่แล้ว ตอนเลิกกองกำลังเก็บของจะกลับบ้านแล้วแฟนของเพื่อนโทรมาเหมือนจะเถียงกัน บรรยากาศตอนเก็บของเลยตึงๆ จนเพื่อนพูดกับแฟนว่า “แล้วทำไมเธอไม่กินข้าวหลามในตู้เย็นล่ะ” อยู่ๆ ทุกคนก็หันมามองหน้ากันแล้วก็หัวเราะโดยพร้อมเพรียง แล้วเพื่อนก็กลับห้องไปกินข้าวหลามในตู้เย็นค่ะ หลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อกรุ๊ปแชทเป็น ทำไมไม่กินข้าวหลามในตู้เย็น เป็นโมเม้นต์ที่ตราตรึงใจมากๆ

เหตุผลที่เรียนสาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ธนัชพร: ตอนเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 คิดว่าโตไปอยากทำหนังกับงานเบื้องหลัง แบบไปเป็นช่างภาพเบื้องหลัง Behind the scene เพราะรู้สึกว่ามันอิสระดี
ปณัสญา: ช่วงมัธยมปลายได้ทำละครเวทีที่โรงเรียนแล้วติดใจการทำงานเบื้องหลังมากๆ ตอนทำงานรู้สึกสนุก เลยคิดว่ามาทางนี้อาจจะเหมาะกับเราค่ะ
พลอยชนก: เลือกเรียนคณะนี้เพราะว่า ได้เรียนทั้งเรื่องของการวาดรูป การดีไซน์ และการทำภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่เราชื่นชอบทั้ง 2 อย่าง พอเห็นว่าคณะนี้รวมสิ่งที่เราชอบไว้ด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจได้ทันทีว่าอยากจะเข้าคณะนี้ เอกภาพยนตร์ค่ะ
เจนสินี: เหตุผลที่เลือกเรียนคณะนี้เพราะสนใจการทำหนัง จึงอยากศึกษาเรื่องการทำหนังโดยตรง แต่พอเข้ามาแล้วได้เรียนรู้เรื่องการออกแบบเพิ่มเยอะมาก เข้าใจการทำหนังมากขึ้น และที่สำคัญคือเรียนรู้แค่ในห้องไม่พอต้องออกไปหาประสบการณ์จริงจากข้างนอกมหาลัยเพื่อเพิ่มความรู้และเทคนิคที่เรายังไม่รู้
ปริญ: ชอบบรรยากาศที่บางขุนเทียน แล้วก็อยากเรียนด้านภาพยนตร์ก็เลยเรียนที่่นี่

แรงจูงใจในการส่งงานประกวด

ธนัชพร: ให้เหตุผลว่า อยากลองทำงานส่งประกวดทิ้งท้ายในปีสี่ดู อยากรู้ว่าตัวเองจะทำได้ขนาดไหน

แนวคิดของผลงาน “ทิ้งกันไป ใครเจ็บสุด”

ปณัสญา: เรามองเรื่องใกล้ๆ ตัวที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายอย่างเรื่องของความรักมาใช้ในการเล่าเรื่อง มองตามขอบเขตที่เรามีว่า สเกลนี้เราจะถ่ายได้จริงนะ มองงานนี้เป็นโฆษณาชิ้นหนึ่ง ที่ต้องการข้อมูลที่ครบถ้วนและเข้าถึงง่ายค่ะ

หน้าที่ในการทำงาน

ส่วนมากจะแบ่งตามความถนัด คือโชคดีที่กลุ่มเรามีคนทำงานตามหน้าที่ได้พอดีๆ เวลาแบ่งงานจะไม่ยาก
ธนัชพร: เขียนสคริปต์ + กำกับ
ปณัสญา: โปรดิวเซอร์ + กล้อง + ตัดต่อ + ทำสี
ปริญ: ผู้ช่วยผู้กำกับ
เจนสินี: ฝ่ายศิลป์ + จัดการกอง
พลอยชนก: ฝ่ายศิลป์ + จัดการกอง + SOUND

อุปสรรค ปัญหา แนวทางในการแก้ไข

ธนัชพร: เวลาในการเล่าที่จำกัดกับข้อมูลที่ต้องใส่เข้าไปเยอะมาก เลยต้องทำข้อมูลให้กระชับกับเวลาสามนาทีแล้วก็ต้องทำให้สนุกไปด้วยในเวลาเดียวกัน กับอุปกรณ์ในการทำงาน วันออกกองคือแทบไม่มีอะไรเลยนอกจากอุปกรณ์ของทีมงานใช้กล้องหนึ่งตัวกับ iPhone ไว้อัดเสียง แล้วก็ไฟดวงเท่าไฟฉาย ก็ใช้เท่าที่มี มันก็ลำบากหน่อยแต่ผลก็ไม่ได้แย่นะเพราะทีมงานทุกคนช่วยกันมันก็เลยดี

ปณัสญา: อุปกรณ์ที่จะใช้ไม่เพียงพอค่ะ มีแค่ไฟดวงเล็กๆ จริงๆ เราคิดมาแล้วตั้งแต่ตอนคิดงานว่า จะใช้แค่โลเดียวนะ เพราะไม่มีงบ จะได้ประหยัด ไฟดวงเล็กที่ซื้อเผื่อๆ ไว้ก็ได้ใช้งานจริง วิธีแก้ไข คือใช้ของที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ค่ะ

ได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่างไร

ธนัชพร: ได้รับคำแนะนำว่ามีโครงการนี้นะให้ไปลองทำส่งดู แต่ชิ้นงานไม่ได้ปรึกษาใครเลยอาจารย์เห็นอีกทีคือทำเสร็จแล้ว
ปณัสญา: ไม่ได้คำแนะนำอะไรเป็นพิเศษค่ะ

เห็นอะไรจากการได้ชมผลงานของทีมอื่น

ธนัชพร: ทุกทีมเก่งมาก ทุกคนมีไอเดียที่ดีมากในการนำเสนอเรื่อง food waste ให้ออกมาในมุมอื่นๆที่แตกต่าง
ปณัสญา: ตอนเห็นผลงานยอมรับว่าทุกคนเก่งมากๆ น้องทีมมัธยมก็เก่งมากๆ เหมือนกัน หลายๆ ทีมมีความโดดเด่นแตกต่างกัน บางทีมไอเดียเด่น บางทีมเอฟเฟคเด่น บางทีมโปรดักชั่นเด่น เราก็รู้สึกว่า ถ้าบางทีเรามีอุปกรณ์พร้อมๆ น่าจะดีเหมือนกันนะ บางทีไอเดียดีมันอาจจะเพียงพอ ถ้าวิชวลดูดีไปด้วยงานจะยิ่งดีขึ้นๆ ไปอีก
พลอยชนก: ทีมอื่นก็ทำได้ดี มีดีทั้งโปรดักชั่น ทั้งบท หรือเทคนิคการเล่าต่างๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดและเทคนิคบางอย่างจากการดูงานทีมอื่น
เจนสินี: จากการที่ได้ชมผลงานของทีมอื่นในช่วงตอนประกาศรางวัล คืองานของแต่ละทีมมีฝีมือมาก ถึงได้ดูแค่ทีเซอร์ของหนัง เห็นภาพแล้วแบบกล้องเค้าดีมากค่ะ ภาพสวยมากจริง คุณภาพของภาพในหนังคือดีมากทั้งสองระดับเลยค่ะ พอดูผลงานของระดับมัธยมคืองานน้องดีเลยนะคะ บางทีมดีกว่าเราด้วยซ้ำ ตอนหนูอยู่มัธยมยังไม่ได้ขนาดนี้เลย น้องๆ เก่งจริง ส่วนของระดับมหาวิทยาลัย หลายๆ ทีมดีเลยนะคะ การถ่ายก็ดีอีกเหมือนกัน เรื่องก็มีการเล่าที่ดีนะคะ ทุกทีมอาจจะมีพลาดบ้างจุดบ้างแต่โดยรวมคือดีเลยค่ะ เพราะพวกหนูเองก็มีจุดผิดพลาดเหมือนกัน ช่วงประกาศยังตื่นเต้นเลยค่ะไม่คิดว่าทีมเราจะได้รางวัลนี้เพราะดูแล้วมีแต่งานดีๆ ทั้งนั้น ไอเดียกับอุปกรณ์ของเขาดีจริงๆ ค่ะ

เชิญชวนรุ่นน้องที่สนใจเรียน หรือส่งผลงานเข้าร่วมประกวด

ธนัชพร: ถ้าน้องมั่นใจแล้วว่าชอบด้านนี้ ก็ลุยให้เต็มที่เลย สู้ๆนะ
ปณัสญา: ทำในสิ่งที่น้องชอบให้เต็มที่ พยายามให้เต็มที่ แล้วจะทำได้นะ
เจนสินี: สำหรับน้องๆที่สนใจในการเรียนด้านนี้ งานด้านนี้ต้องศึกษา ดูภาพยนตร์ให้มากๆ วิเคราะห์ในสิ่งที่อาจารย์สอน ลงมือทำจริง เจอปัญหาและแก้ไขต่างๆ ให้ไว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญมาก เพราะการทำงานจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง และอีกอย่างต้องเป็นคนช่างสังเกต เพราะการสังเกตสิ่งต่างๆ ล้อมข้างจะทำให้เราเจอเรื่องที่อยากเล่า ความเป็นจริงของคาแรคเตอร์แต่ละตัวละคร ที่เราจะเอามาใช้ในหนัง และสุดท้ายจงออกไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียนมันจะทำให้เราเจอเทคนิคแนวคิด และการทำงานที่ยิ่งกว่าในห้องเรียน
พลอยชนก: ในการเรียนด้านนี้ งานเยอะค่ะ ภาคปฏิบัติจะค่อนข้างเยอะกว่าทฤษฎี ฝากน้องๆ ว่า หากบริหารเวลา จัดสรรเวลาได้เป็นอย่างดี งานก็จะออกมาดีเองค่ะ เราทำอะไรก็จะได้อย่างนั้น ตั้งใจทำงาน ให้เวลากับมัน หรือแม้แต่ถ้าเผางาน ตัวเนื้องานมันจะบอกเองค่ะ สุดท้ายอยากบอกน้องๆ ว่าศึกษางานข้างนอกเยอะๆ แต่ก็ไม่ควรทิ้งความรู้จากในตำรา ศึกษาควบคู่กันไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า