กิจกรรมเนื่องในโอกาส “วันการพิมพ์ไทย 2562″
วันที่ 3 มิถุนายน 2562
มูลนิธิเงินทุนงานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์, สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์, สถาบันการศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาส “วันการพิมพ์ไทย 2562” โดยมี 2 กิจกรรมที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน คือ พิธีวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของหมอบรัดเลย์ ณ สุสานโปรแตสแตนท์ (ถ.เจริญกรุง) โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจากดร.วันชัย ศิริชนะ ประธานมูลนิธิเงินทุนแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังได้รับฟังข้อมูลและคุณประโยชน์ของหมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ รวมทั้งประวัติของสุสานโปรแตสแตนท์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2396 จากประธานมูลนิธิสุสานโปรแตสแตนท์
หลังจากนั้นในช่วงสาย เป็นพิธีทำบุญทักษิณานุปทานแด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้เป็นเสมือน “บิดาแห่งการพิมพ์ไทย” และบำเพ็ญกุศลแด่ผู้มีคุณประโยชน์ต่อวงการพิมพ์ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2562 ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น.
เกี่ยวกับหมอบรัดเลย์
หมอบรัดเลย์ ถือเป็นผู้บุกเบิกงานพิมพ์ในประเทศไทย ภูมิหลังน่าจะได้มาจากบิดาซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือ และการสนใจในวรรณคดีแต่เด็ก การพิมพ์ในยุคแรกของหมดบรัดเลย์มุ่งเน้นเรื่องทางศาสนา โดยได้แปลและพิมพ์หนังสือ ใบปลิวที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก โดยไม่ยอมพิมพ์หนังสือเรื่องทางโลกอื่น ๆ ยกเว้นเรื่องทางการแพทย์และเอกสารของราชการ เนื่องจากหมอบรัดเลย์ได้พัฒนาอักษรและแท่นพิมพ์ให้เหมาะสม ทำให้ราชสำนักสยามว่าจ้างให้ตีพิมพ์เอกสารประกาศของราชการ อย่าง ประกาศห้ามมิให้คนสูบแลค้าขายฝิ่นจำนวน 9,000 ฉบับ ปีกุน พ.ศ. 2382 ออกเผยแพร่ให้แก่ราษฎร[8] ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารทางราชการไทยชิ้นแรกที่ได้จัดพิมพ์ขึ้น[9]
แต่ต่อมาหลังจากกลับจากอเมริกาและถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 28 พฤษภาคม 1850 มีความจำเป็นต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น จึงเริ่มพิมพ์งานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พิมพ์นิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) ในปี พ.ศ. 2404 โดยได้ซื้อลิขสิทธิ์จากหม่อมราโชทัยด้วยจำนวนเงิน 400 บาท ถือเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือครั้งแรกในประเทศไทย และได้จัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวอักษรลาวขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย มีการตีพิมพ์ ภูมิประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส พิมพ์ตำราเรียนภาษาไทย เช่น ประถม ก กา จินดามณี หนังสือกฎหมาย ทั้งยังพิมพ์เรื่องในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น ราชาธิราช สามก๊ก เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น[10] และก่อนจะเสียชีวิตในปี 1873 ได้ตีพิมพ์พจนานุกรมไทย ชื่อ อักขราภิธานศรับท์[2]
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มการพิมพ์หนังสือพิมพ์ในแนวจดหมายเหตุ ที่ชื่อ บางกอกรีคอเดอ ถือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก ฉบับแรกออกเมื่อ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 เป็นเอกสารชั้นต้นซึ่งบันทึกข่าวสารเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื้อหาในแต่ละฉบับมีข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ การแพทย์และการสาธารณสุข ตลอดจนให้ข้อมูลสินค้าของสยามและต่างประเทศ คำศัพท์สำนวนภาษาอังกฤษ พงศาวดารต่างชาติ ฯลฯ[11] หมอบรัดเลย์นำเสนอข่าวสารอย่างกล้าหาญและรักความเป็นธรรม ตัวอย่างเช่นเมื่อกงสุลฝรั่งเศสชวนข้าทาสไทยให้เข้าไปอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศสและเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราโดยไม่บอกรัฐบาลไทยทราบ เมื่อลงหนังสือพิมพ์ก็ถูกฟ้องร้องและถูกปรับ แต่ฝรั่งในไทยช่วยกันรวมรวมเงินจ่ายค่าปรับแทน โดยรัชกาลที่ 4 พระราชทานเงินสมทบด้วย[12]
หมอบรัดเลย์ยังริเริ่มการเย็บเล่ม เข้าปกแบบหนังสือตะวันตก จึงเรียกว่า สมุดฝรั่ง[9] และพิมพ์ปฏิทินสุริยคติเป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
ขอบคุณข้อมูลเกี่ยวกับหมอบรัดเลย์ จาก https://th.wikipedia.org/