หลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคภัยไข้เจ็บไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
เชื่อมั้ย….กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 2 ของอัตราการเสียชีวิตของคนไทยรองจากโรคมะเร็ง แม้โรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมากเนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมตามวัย แต่คนทุกเพศทุกวัยก็สามารถเป็นได้ เช่นกัน
รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบตันหรือแตกอย่างเฉียบพลันทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองในส่วนนั้นหยุดชะงักลงส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลายเนื่องจากการขาดออกซิเจนและสารอาหารโดยปกติสมองของคนเราแต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานของร่างกายแตกต่างกันออกไปเมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้นๆ
สมองเสียหายมากกว่าที่คิด
หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะส่งผลให้สมองเกิดความเสียหายดังต่อไปนี้
สมองซีกซ้าย | สมองซีกขวา |
อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา | อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย |
ปัญหาการพูด การเข้าใจ ภาษา และการกลืน | สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและประมาณระยะทาง |
สูญเสียการจัดการ การระวังตัว | สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ |
ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง | โดยไม่วางแผน |
เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง | เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง |
ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองน้อย (Cerebellum) จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหมดสติ ซึ่งเราสามารถประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จากระดับการสูญเสียหน้าที่การทำงานของร่างกาย
ต้นเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง
ไม่เพียงแต่ผู้สูงวัย แม้แต่วัยรุ่นก็อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วยสาเหตุที่ต่างกัน โดยโรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จาก 3 สาเหตุหลักๆ โดย 80% เกิดจาก
1. หลอดเลือดในสมองตีบ (Atherosclerosis)
เป็นสาเหตุที่เกิดได้ถึง 80% เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ โรคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในหลอดเลือด โรคอ้วน เพราะคนอ้วนจะสัมพันธ์กับการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
2. หลอดเลือดในสมองอุดตัน (Embolic)
เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจโต สาเหตุอื่นๆ ที่พบในวัยรุ่น เช่น กีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ อาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาดได้ อาทิ บันจี้จั๊มพ์ หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีม ซึ่งพบได้มากขึ้นในคนไข้กลุ่มวัยรุ่น มักมีอาการปวดคอมาก อ่อนแรงครึ่งซีก หรือช่วงน้ำท่วมมีอาสาสมัครช่วยแบกกระสอบที่คอแล้วอ่อนแรงไปซีกหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้อาการของหลอดเลือดสมองยังมีหลอดเลือดดำอุดตันด้วย เช่น กลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิดหลังคลอด ซึ่งจะมาด้วยอาการชักคล้ายหลอดเลือดแดงอุดตัน
3. เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic)
เป็นสาเหตุที่เกิดได้ 20% เกิดจากเลือดออกภายในสมอง ซึ่งเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมอง และทำลายเนื้อสมอง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง
อาการของโรค
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการดังต่อไปนี้
• สูญเสียการควบคุมอวัยวะบางส่วนจากอาการอ่อนแรงหรืออัมพาต โดยเฉพาะที่แขนและขาด้านใดด้านหนึ่ง
• การพูดและการมองเห็นไม่ปกติ เช่น กลืนลำบาก ทรงตัวไม่ค่อยได้
• มีปัญหาในการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ในกรณีที่เป็นรุนแรง
วิธีการรักษา
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงทีด้วยวิธีการที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการเป็นซ้ำและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงและอาการ ได้แก่
1. การถ่างขยายหลอดเลือด
โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าทางหลอดเลือดใหญ่บริเวณขาแล้วถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนที่ทำหน้าที่เหมือนการขูดตระกรันในท่อน้ำ หรือใส่อุปกรณ์ถ่างขยายที่ทำจากขดลวด (Stent) เหมือนตะแกรงที่ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบซ้ำในตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบ ช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น
2. การผ่าตัด
การผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimal Invasive โดยใส่สายสวนที่ขาหนีบเพื่อเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตัน ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองที่ยังไม่ตายได้ทัน โดยมี Biplane DSA (Biplane Digital Subtraction Angiography) เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดทั้งด้านหน้าและด้านข้างในเวลาเดียวกัน ช่วยให้แพทย์ใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการในเวลาอันรวดเร็ว หากลิ่มเลือดมีขนาดเล็กสามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดเพื่อละลายลิ่มเลือดอุดตันได้โดยตรง หรือหากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ แพทย์สามารถใช้เครื่องมือเกี่ยวดึงลิ่มเลือดออกจากจุดที่อุดตัน ทำให้เลือดเลี้ยงสมองได้ทันเวลา นอกจากช่วยลดสารทึบรังสีที่ผู้ป่วยต้องได้รับยังช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด
3. การใช้ยา ได้แก่
• ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ลดความหนืดของเลือดและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
• ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets) ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด
• ยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) อาจป้องกันการทำลายระบบประสาทที่เกิดหลังจากเลือดออกใต้กะโหลกศีรษะ (Subarachnoid Hemorrhage)
• ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองอย่างเฉียบ พลัน
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูงควรได้รับการรักษาควบคู่ไปกับโรคหลอดเลือดสมองด้วยยาที่เหมาะสม