โครงการคุณวุฒิวิชาชีพ

p62-65_03

โครงการคุณวุฒิวิชาชีพ

การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อพัฒนากำลังคนเป็นเรื่องที่ทำมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อไม่นานมานี้ กำลังคนที่อยู่ในวัยทำงานของประเทศไทยมีอยู่ราว 40 ล้านคน แต่เป็นคนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีประมาณ 10 ล้านคน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 30 ล้านคนที่ไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษาสูงมากนักนั้นก็เป็นกำลังคนที่ช่วยสร้างผลผลิตให้กับประเทศจนเข้มแข้งและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

ประเทศไทยเคยอยู่ในอันดับ 20 ต้นๆ ของกว่า 140 ประเทศ แต่ต่อมาในช่วงพ.ศ. 2556 อันดับนั้นได้ตกต่ำลงเป็น อันดับ 30 กว่าๆ บรรดากลุ่มกำลังคนที่ด้อยการศึกษาประมาณ 30 ล้านคนนั้นเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์อยู่แล้วจากการประกอบอาชีพของตนเอง จึงสามารถนำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่ได้รับมาใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ ทดแทนคุณวุฒิทางการศึกษาที่ไม่มี แต่ต้องผ่านกระบวนการฝึกอบรม ทดสอบ และประเมินโดยหน่วยงานที่เป็นศูนย์ทดสอบที่ระบบมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพยอมรับ ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาชีพนั้นๆ

ด้วยหลักการและเหตุผลข้างต้นประกอบกับการที่คนในอาชีพการพิมพ์ต่างเห็นพ้องกันว่าประเทศไทยควรจะมีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอาชีพการพิมพ์เสียที สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจึงเข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นรวมทั้งสนับสนุนในด้านงบประมาณ รวบรวมคนในอาชีพการพิมพ์เข้ามาร่วมกันสร้างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอาชีพการพิมพ์ของประเทศไทย (1)

สมาคมการพิมพ์ไทยร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจนนทบุรี (SBAC) ได้ดำเนินจัดการสอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ วิชาชีพอุตสาหกรรมการพิมพ์ อาชีพช่างออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์จัดโดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) ซึ่งได้มีการมอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพไปเมื่อ วันที่ 29 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา Thai Print Magazine ฉบับนี้ จะนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวผ่านบทสัมภาษณ์ตัวแทนของผู้ที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ อ.ธนารักษ์ ตันธนกุล หัวหน้าแผนกคอมพิวเตอร์กราฟิก วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) ซึ่งได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของการเป็นศูนย์ประเมินโครงการฯ ในครั้งนี้ว่า

ได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือหรือที่เรียกว่า MOU ร่วมกับสมาคมการพิมพ์ไทยโดยเริ่มต้นความร่วมมือในปี 2561 โดยเริ่มแรก ทางสมาคมฯ ได้เรียนเชิญมหาวิทยาลัยทั้งรัฐบาลและเอกชนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางวิทยาลัยมีความเห็นว่าทางเรามีความพร้อมในเรื่องของการเป็นศูนย์การประเมินเรื่องการออกแบบสิ่งพิมพ์ เนื่องจากวิทยาลัยมีหลักสูตรการทำกราฟิกอยู่แล้ว จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ และเป็นที่มาของการเปิดเป็นศูนย์ประเมินสื่อสิ่งพิมพ์ในครั้งนี้

การคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมในโครงการฯ เนื่องจากสมาคมฯ ไม่ได้มีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ที่ตายตัวอะไรมาก เพียงแค่มีความพร้อมและต้องการที่จะทดสอบความสามารถในด้านการออกแบบสิ่งพิมพ์ของตนเอง ซึ่งในการประเมินครั้งแรกนั้นมีบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นผู้ประเมินด้วย ทาง SBAC ได้คัดเลือกนักศึกษาที่ใกล้จบการศึกษา เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เพียง 28 คนเท่านั้นรวมบุคคลภายนอกที่สนใจเข้าร่วมโครงการ แม้จะมีจำนวนค่อนข้างน้อย แต่สำหรับครั้งแรกที่มีการจัดโครงการนี้ขึ้นมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ และผลที่ออกมาก็คือทุกคนสามารถผ่านการประเมินได้ อ.ธนารักษ์ เล่าถึงระยะเวลาในการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงวันมอบประกาศนียบัตรว่า เริ่มประเมินเมื่อเดือนกันยายน 2561 และทราบผลในเดือนธันวาคม จนถึงตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน

อุปสรรคและปัญหาที่พบระหว่างการดำเนินโครงการ คือ เราต้องมองความพร้อมของตัวนักศึกษาว่าสามารถทำได้ไหม เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าสิ่งที่เราสอนไปแล้ว นักศึกษาสามารถนำไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ในการแก้ปัญหาก็คือ มีการเรียกประชุมเพื่อทำความเข้าใจและซักซ้อมเพื่อทดสอบดูก่อน เนื่องจากต้องการให้เด็กมีความพร้อมมากที่สุด และส่งผลไปยังลูกศิษย์ชั้นปีอื่นๆ ที่ปรากฏว่าสมาคมฯ จะทำการประเมินนักศึกษา ปสว. ชั้นปีที่ 2 ทั้งหมดที่เหลือทั้งของสะพานใหม่และนนทบุรี ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายเพราะนักศึกษาทุกคนจะต้องมีทักษะและซักซ้อมตนเองมาให้พร้อมมากที่สุดสำหรับการประเมิน

ในด้านการประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักศึกษาให้สนใจเข้าร่วมโครงการนั้นจะโดยวิธีการบอกผ่านทางอาจารย์ที่ปรึกษา และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อจูงใจและให้ทราบถึงความสำคัญของการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพว่ามีความสำคัญอย่างไร การเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจัดประเมินนั้น SBAC จัดเตรียมในเรื่องของสถานที่ ส่วนทางสมาคมฯ จะให้ความสนับสนุนในเรื่องของผู้ทำการประเมิน และเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ประเมิน, ค่าอุปกรณ์ต่างๆ

ความสำเร็จของโครงการนี้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ เพราะนักศึกษาทุกคนสามารถผ่านการประเมินได้ และหลังจากนี้คาดหวังว่าทีมนี้จะช่วยดูและแนะนำน้องๆ ในการที่จะเข้าร่วมโครงการฯ นี้ในครั้งต่อๆ ไป และเป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาในระดับ ปวช.สนใจที่จะเรียนต่อในระดับ ปวส. มากขึ้น ที่เขาจะได้มีโอกาสได้ทำงานจริง ลงมือจริง

p62-65_05

 

จากการดำเนินโครงการนี้ร่วมกับสมาคมฯ ผู้ที่ได้รับประโยคสูงสุด คือ นักศึกษาที่เข้ารับการประเมิน เนื่องจากได้ทำงานจริง เห็นความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถนำไปใช้เป็นใบเบิกทางเพื่อสานต่อในสาขาวิชาชีพที่เรียนมา

ด้านตัวแทนของผู้ที่ผ่านการประเมินวิชาชีพอุตสาหกรรมการพิมพ์ อาชีพช่างออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ นางสาวธนัตชนก วงษ์แดง นักศึกษาปวส.ชั้นปีที่ 3 แผนกออกแบบกราฟิก ได้พูดถึงการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า

ทางวิทยาลัยให้แจ้งให้ทราบว่ามีการจัดการทดสอบเพื่อประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ และหากสามารถผ่านการประเมินสามารถนำประกาศนียบัตรไปยื่นในการสมัครงานได้ หลังจากที่ผ่านการประเมินสามารถนำไปต่อยอดได้ด้วยการนำไปเป็น Portfolio เพื่อนำไปในใช้สำหรับการสมัครงาน

ในระหว่างเข้าร่วมโครงการนี้ จะพบปัญหาในด้านความไม่เข้าใจในบางโปรแกรม อาจจะเป็นเพราะเราเองเป็นคนที่เข้าใจอะไรยาก แต่ก็พยายามที่จะถามอาจารย์ และอาจารย์ก็จะคอยสอนคอยดูให้ เทคนิคของอาจารย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน เราก็นำมารวบรวมและปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง อาจารย์สนับสนุนในทุกด้านๆ หลังจากที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ ทางอาจารย์และวิทยาลัยจะคอยแจ้งข่าวเรื่องการแข่งขันเกี่ยวกับการออกแบบให้ทราบ และร่วมลงแข่งขันเรื่อยๆ จนได้รับคัดเลือกเพื่อรับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ

ประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทำให้ได้รับทักษะ ประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ลองรับการประเมิน ก็ได้มาประเมินว่าการทำงานจริงเป็นอย่างไร หากผ่านตรงนี้ไปนี้ ก็สามารถนำไปทำงานจริงได้เลย อยากจะเชิญชวนน้องๆ หรือเพื่อนๆ ที่ยังมีความกลัวว่าจะทำไม่ได้ กลัวว่ามันจะยากเกินไปความสามารถของเรา อย่าไปกลัวในสิ่งที่ยังไม่ได้ลอง เราต้องลองทำแล้วเราจะสามารถข้ามความกลัวไปได้ เมื่อได้เริ่มขั้นที่ 1 แล้ว ขั้นต่อๆ ไปก็จะตามมาเอง เป็นการเก็บเกี่ยวทักษะและประสบการณ์ให้กับชีวิต

(1) ข้อมูลจาก รายงานผลการสัมมนา เรื่อง การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอาชีพการพิมพ์ โดย รองศาสตราจารย์ศุภณี เรียบเลิศหิรัญ และอาจารย์ ดร. บุญชัย วลีธรชีพสวัสดิ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า