วิรุฬห์ ส่งเสริมสวัสดิ์ และวิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์ การปรับตัวของหนังสือในยุคโลกดิจิทัล

p18-21_04

วิรุฬห์ ส่งเสริมสวัสดิ์ และวิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์
การปรับตัวของหนังสือในยุคโลกดิจิทัล

ต้องยอมรับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ที่สื่อเทคโนโลยีต่างๆ จะมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน การใช้อินเตอร์เน็ตจะอยู่ควบคู่กับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ทำให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอ่านหนังสือ โดยต้องหันไปอ่านหนังสือในรูปแบบใหม่ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา วารสาร Thai Print ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจากคุณวิรุฬห์ ส่งเสริมสวัสดิ์ และ คุณวิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์ บุตรชายซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของ นิตยสาร “กุลสตรี” ที่ยังสามารถยืนหยัดในยุคที่สื่อดิจิทัล หรือสื่อออนไลน์เป็นที่นิยมมากกว่าสิ่งพิมพ์บนกระดาษ มาเล่าถึงวิธีปรับตัวของคนทำสื่อและหนังสือในโลกยุคดิจิทัล

ประวัติความเป็นมาของบริษัท

คุณวิรุฬห์เล่าให้ฟังว่า บริษัท บวรสารการพิมพ์ จำกัด มีประวัติอันยาวนานนับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันร่วม 50 ปี เริ่มต้นจากการตั้งบริษัทครั้งแรกอยู่บริเวณเสาชิงช้า โดยคุณพ่อได้ริเริ่มมีความคิดตั้งโรงพิมพ์ร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อรับงานพิมพ์ทั่วไป และได้ออกนิตยสารเป็นของตนเอง “สกุลไทย” เป็นหนังสือฉบับแรกของบริษัทที่ทำมาร่วม 10 ปี จนกระทั่งคุณพ่อได้แยกออกมาทำนิยตสาร “กุลสตรี” ในช่วงเริ่มแรกของกุลสตรีได้สั่งซื้อเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ตมาทั้งหมด 6 เครื่องเพื่อรองรับงานพิมพ์ทั้งของตนเองและงานพิมพ์อื่นๆ ทั่วไป แต่ในช่วงแรกนั้นเป็นเครื่องพิมพ์สีเดียว ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครื่องพิมพ์ 4 สี งานที่รับพิมพ์จะมีทั้งแบบเรียนของคุรุสภา และ Yellow Pages ซึ่งมีปริมาณการพิมพ์ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ต้องพิมพ์งานตลอด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาหลายเดือน แต่ในปัจจุบันไม่ได้รับพิมพ์งานตัวนี้แล้ว เนื่องจากเกรงใจเพื่อนบ้านรอบข้าง เพราะมีทั้งเสียงและกลิ่นที่อาจจะก่อให้เกิดการรบกวน อีกทั้งถนนบริเวณที่ตั้งบริษัท ไม่อนุญาตให้รถบรรทุกวิ่ง ทำให้ยากลำบากในเรื่องของการขนส่ง จะย้ายที่ตั้งออกไปก็ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม

ปัจจุบันนี้ธุรกิจหลักของบริษัทยังคงเป็นกุลสตรี แต่ได้มีการปรับเปลี่ยน Contents และช่องทางการจำหน่ายที่ทันสมัยมากขึ้น ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยได้สร้างเพจและเว็บไซต์เพื่อเปิดกว้างไม่เฉพาะเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยให้ลูกชายเป็นคนดูแลในส่วนนี้ โดยเนื้อหาหลักๆ ของหนังสือจะเป็นเทรนที่กำลังเป็นที่นิยม แต่ก็ยังคงรูปแบบเดิมไว้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการขยายไลน์ธุรกิจไปนอกเหนือจากสิ่งพิมพ์ คือ การผลิตและจำหน่ายน้ำปลาหวาน และเมี่ยงคำ “แม่ต้อย” ซึ่งบริษัทออกแบบและจัดพิมพ์บรรจุภัณฑ์ด้วยตนเอง

การปรับตัว และการตอบโจทย์ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ปัจจุบัน

คุณวิศรุตตอบคำถามในส่วนนี้ว่า “เราเป็นโรงพิมพ์ และมีนิตยสารกุลสตรีที่เป็นคอนเทนต์ด้วย เราต้องปรับตัวเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ไม่ใช่แค่ว่าผลิตแค่สื่อ เราต้องมองให้กว้างเพื่อเพิ่มช่องทางเนื่องจากโลกออนไลน์กำลังเข้ามา เราต้องคิดให้เยอะขึ้นพยายามแตกแขนงช่องทางการนำเสนอเนื้อหา เพราะเราเป็นสื่อ ฉะนั้นคงทำเพียงแค่นิตยสารเล่มเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำอย่างไรให้มีรายได้เข้ามาเพื่อความอยู่รอด แม้นิตยสารจะปิดตัวไป แต่คนทำหนังสือยังผลิตคอนเทนต์ลงสื่อต่างๆ อยู่ แต่มีการรับพิมพ์และรับออกแบบควบคู่กันไป ไม่ได้แบ่งว่าพิมพ์งานอย่างเดียวแล้วจบอยู่เท่านั้น ผมเชื่อว่าคอนเทนต์ไม่มีวันตาย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเล่มออฟไลน์หรือออนไลน์ งานอีเวนต์ ทุกอย่างสามารถทำออกมาได้หมด

มุมมองเกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมการพิมพ์ในอนาคต

คุณวิศรุตกล่าวว่า “ในความคิดของผมคิดว่า การพิมพ์อาจจะเป็นแนวทางที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เทป ซีดีที่ปัจจุบันนี้หายไปแล้ว คือ มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ คนที่รักและชอบตรงนี้ มักจะต้องมีการจับถือไม่ใช่แค่การมองผ่านจอแล้วจบ ความหมายก็คือ รูปเล่มมีมูลค่ามากกว่าออนไลน์ แต่อาจจะเป็นพรีเมียมมากขึ้นหรือเป็นของสะสม ส่วนในเรื่องของนิตยสารอาจจะต้องปรับตัวมากขึ้น”

คุณวิรุฬห์เสริมว่า “การพิมพ์โดยทั่วไปจะมีความคล้ายคลึงกัน ขั้นตอนหลังการพิมพ์จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งพิมพ์ได้มาก ไม่ว่าจะเป็นปั๊มฟอยล์ สปอตยูวี เคลือบเงา ปั๊มนูน อะไรเหล่านี้ แต่ก็เป็นส่วนที่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่เหมาะกับงานนิตยสารเท่าใดนักเนื่องจากจัดพิมพ์อยู่ในปริมาณที่มาก แต่เหมาะกับงานพิมพ์น้อยๆ ที่ดูแล้วมีค่า ยกตัวอย่างเช่น การ์ดแต่งงาน”

หลายคนมองว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์อยู่ในช่วงขาลง

คุณวิรุฬห์กล่าวทิ้งท้ายในส่วนนี้ว่า “สื่อด้าน Commercial ค่อนข้างทรงตัว แต่ในด้านของบรรจุภัณฑ์กำลังเฟื่องฟู เราต้องปรับตัว ทุกคนต้องปรับตัวแทนที่จะรับงานมาแล้วพิมพ์ตามออร์เดอร์ อาจจะเพิ่มงานออกแบบร่วมด้วยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับงาน ถ้าไม่มีการออกแบบเพิ่มขึ้นมาจะค่อนข้างลำบากอยู่พอสมควร และควรหาความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ของเครื่องพิมพ์หลังการพิมพ์ว่าพัฒนาไปอย่างไรบ้าง แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ ไม่ใช่ว่าออกแบบมาแล้วเครื่องรับไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน”

เครดิตภาพปกนิตยสารกุลสตรีจาก http://www.ookbee.com/shop/magazine/KULLASTREE/
เครดิตภาพน้ำปลาหวานแม่ต้อยจาก https://www.facebook.com/maetoynamplawan/