C.A.S PAPER Sino Trip กระซิบประวัติศาสตร์

p48-51_02

C.A.S PAPER Sino Trip
กระซิบประวัติศาสตร์

บริษัท ซี.เอ.เอส.เปเปอร์ ได้จัดทริป C.A.S. Paper “C.A.S PAPER Sino Trip กระซิบประวัติศาสตร์” เพื่อเป็นขอบคุณลูกค้าที่สนับสนุนสินค้ากับบริษัท ซี.เอ.เอส.เปเปอร์ โดยกิจกรรมในทริปนี้ ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ เดวิท บุญทวี นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ และคุณนิรุตต์ โลหะรังสี แฟนพันธุ์แท้อยุธยา 4 สมัย ร่วมเดินทางตลอดทริป อธิบายถึงเรื่องราวในสมัยอยุธยาตามสถานที่ต่างๆ

เริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น ซึ่งกำเนิดมาจากชุมชนเล็กๆ ของพ่อค้าเรือสำเภาชาวญี่ปุ่น ซึ่งภายในหมู่บ้านนั้นสันนิษฐานว่ามีชาวญี่ปุ่นอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ พ่อค้า โรนิน หรือนักรบญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นทหารอาสาญี่ปุ่นในอยุธยา และชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ เดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์พระราชทานที่ดินให้ตั้งหมู่บ้าน รอบนอกเกาะเมืองเหมือนชาติอื่นๆ โดยตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับชุมชนชาวโปรตุเกส ส่วนชุมชนอังกฤษและชุมชนฮอลันดา จะอยู่ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน คั่นด้วยคลองเล็กๆ และในสมัยนั้นจะมีหัวหน้าปกครองในกลุ่มตนเอง ซึ่งก็คือ นากามาซา ยามาดา เป็นผู้มีอำนาจและเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีบทบาทในการเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น จนได้รับแต่งตั้งเป็นออกญาเสนาภิมุข ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จนสิ้นชีวิต จากนั้นไม่นานหมู่บ้านญี่ปุ่นก็ถูกเผาทำลาย อีกมุมหนึ่งก็มีเรื่องราวและหุ่นขี้ผึ้งของ ท้าวทองกีบม้า (มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา) ซึ่งเป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส ได้สมรสกับ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชาเยนทร์ เสนาบดีกรมท่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กระทั่งในช่วงปลายของชีวิต เธอเข้ารับราชการจนได้ตำแหน่งท้าวทองกีบม้า หัวหน้าพนักงานวิเสทกลาง (ครัว) ดูแลของหวานแบบเทศ และนำของหวานโปรตุเกสมาเผยแพร่ในกรุงสยาม เป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองนั่นเอง

จุดที่สองของทริปเลาะประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาคือ วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งถือว่า ถือว่าเป็นวัดมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากที่สุดและเป็นวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมมามากที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเป็นธรรมดาที่จะพบเห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมายังวัดแห่งนี้ จุดสนใจของวัดใหญ่ชัยมงคลนี้ คือ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ชมเจดีย์ชัยมงคล อนุสรณ์แห่งชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเหนือมังกะยอชวา พระมหาอุปราชของหงสาวดีที่ตั้งเด่นเป็นสง่า ซึ่งเจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยา ด้านหลังวัดมีตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้ผู้นับถือศรัทธาเข้ามากราบไหว้ ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณเป็นประธานของวัดมีระเบียงคดล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ ส่วนพระวิหารตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานในแนวเดียวกัน มีลักษณะแผนผังของวัดเช่นเดียวกับพระอารามหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น วัดมหาธาตุ วัดพระราม และวัดราชบูรณะ ก่อนที่จะล่องเรือกรุงศรีปริ๊นเซสรับประทานอาหารกลางวันพร้อมดื่มด่ำไปกับบรรยากาศ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

หลังจากรับประทานจนอิ่มหนำและรับชมบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางต่อไปยัง วังช้างอยุธยา แลเพนียดเป็นสถานที่สร้างงานให้ช้างในภาพลักษณ์ของช้างไทย ชมการโชว์ความสามารถของช้างน้อยประกอบกับเสียงดนตรี และเสริมด้วยกิจกรรมลอดท้องช้างเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนจะปิดท้ายที่วังช้างด้วยการนั่งช้างชมโบราณสถาน สัมผัสกับความตื่นเต้นบนหลังช้าง คำว่า แล หมายถึง แลมอง แลเห็นแลดู เป็นคำโบราณ เพนียด หมายถึง โบราณสถานเป็นที่จับช้างโบราณ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ความหมายรวม คือ เป็นสถานที่ทำงานของช้าง และดูแลเพนียดคล้องช้างนั่นเอง

จุดสุดท้ายของการท่องเที่ยวทริปนี้คือ วัดมงคลบพิตร เป็นวัดโบราณสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยที่ตั้งของวัดมงคลบพิตรและพระราชวังโบราณตั้งอยู่ติดกัน นักท่องเที่ยวจึงนิยมเข้ามานมัสการหลวงพ่อมงคลบพิตรก่อนจะเข้าชมพระราชวังโบราณ และบริเวณทางด้านหน้าวิหารวัดพระมงคลบพิตร มีร้านค้าตั้งเรียงรายมากมายหลายร้าน จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองแทบทุกชนิด เช่น ปลาตะเพียน เครื่องจักสานเครื่องหวาย มีดอรัญญิก ผลไม้กวน และขนมชนิดต่างๆ เหมาะสำหรับผู้สนใจซื้อสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกต่างๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า