สาระน่ารู้เกี่ยวกับทางการพิมพ์ออฟเซต ปัญหาและวิธีแก้ไข ตอนที่ 1

สาระน่ารู้เกี่ยวกับทางการพิมพ์ออฟเซต
ปัญหาและวิธีแก้ไข ตอนที่ 1

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
[email protected]

การพิมพ์ออฟเซตเป็นระบบการพิมพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากเป็นระบบการพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ลงวัสดุได้หลากหลาย อาทิเช่น กระดาษ โลหะและพลาสติก การพิมพ์ระบบออฟเซตเป็นระบบการพิมพ์ที่ใช้หลักการน้ำกับน้ำมันไม่รวมตัวกัน ทำให้ต้องมีการปรับตั้งและควบคุมปริมาณน้ำ (น้ำยาฟาว์นเทน) กับหมึกพิมพ์ให้มีความสมดุลกัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทางการพิมพ์ บทความนี้จึงพยายามรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่โรงพิมพ์จะพบเจอบ่อยครั้ง และวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับช่างพิมพ์ในการแก้ไขต่อไป

การพิมพ์งาน Re-print พบว่าสีงานพิมพ์ที่ได้ออกมาไม่เหมือนเดิม อยากทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด และควรแก้ไขอย่างไร

p35-39_02

งานพิมพ์ที่มาจากการพิมพ์งานเก่าอีกครั้ง โดยใช้เพลทเดิมที่เคยพิมพ์งานมา ส่วนใหญ่จะพบปัญหาที่พิมพ์มาแล้วได้สีไม่เหมือนเดิม โดยส่วนใหญ่เกิดมาจากเม็ดสกรีนบนเพลทได้มีการเปลี่ยนแปลงไป มีสาเหตุมาจากการใช้น้ำยาและเคมีภัณฑ์ในระหว่างการพิมพ์ อาทิเช่น การใช้น้ำยาฟาวน์เทนที่มีความเข้มข้นมากเกินไป การใช้น้ำยาทำความสะอาดเพลทที่ผิดวิธี สาเหตุเหล่านี้มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดของเม็ดสกรีน โดยทำให้เม็ดสกรีนมีขนาดเล็กลง เมื่อเม็ดสกรีนบนแม่พิมพ์มีการเปลี่ยนแปลง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีด้วย ดังนั้นก่อนการนำงานที่ใช้เพลทเก่ามาพิมพ์อีกครั้ง ควรมีการตรวจสอบเม็ดสกรีนบนแม่พิมพ์ หากพบว่า เม็ดสกรีนมีขนาดที่เล็กลง จะส่งผลต่อสีในงานพิมพ์ได้ จึงควรมีการทำแม่พิมพ์ใหม่ เพื่อทำให้ไม่ก่อเกิดปัญหาเรื่องสีในการพิมพ์งานเกิดขึ้น ส่วนการควบคุมการใช้น้ำยาและเคมีภัณฑ์ในระหว่างการพิมพ์ ควรมีการควบคุมให้ได้ตามมาตรฐาน อาทิเช่น น้ำยาฟาว์นเทน ควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ที่ 4.7 – 5.5 และควรมีความเข้มข้นของแอลกฮอล์ประมาณ 10 เปอร์เซนต์ เป็นต้น ในส่วนของการใช้น้ำยาทำความสะอาดเพลท ควรตรวจสอบไม่ให้น้ำยามีความเข้มข้นมากเกินไป หรือการใช้ปริมาณน้ำยาที่เหมาะสมในการล้าง ทำความสะอาดเพลทในแต่ละครั้ง จะเป็นการช่วยลดปัญหาในการพิมพ์งาน Re-print

การเปลี่ยนแปลงของเม็ดสกรีนหลังจากการพิมพ์งาน ส่งผลต่อสีของงานพิมพ์ในการพิมพ์งาน Reprint

โรงพิมพ์ใช้เครื่องพิมพ์ 2 สี ประสบปัญหาเกี่ยวกับกระดาษยืด มีวิธีการป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร

p35-39_03

กระดาษยืด เกิดจากการยืดตัวของเยื่อกระดาษ (Fiber) ส่วนใหญ่จะพบในการพิมพ์งานสีสี่บนกระดาษบาง อาทิเช่น กระดาษปอนด์หรือกระดาษ น้ำหนักประมาณ 70 – 120 แกรม การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในห้องพิมพ์ จะเป็นการป้องกันการยืดตัวของกระดาษได้ระดับหนึ่ง โดยปกติในห้องพิมพ์จะมีอุณหภูมิประมาณ 22-24 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 50-55 เปอร์เซนต์ ในส่วนของเทคนิคในการพิมพ์งานบางด้วยเครื่องพิมพ์ 1 สีหรือ 2 สี ก่อนพิมพ์งานควรมีการอาบน้ำกระดาษก่อน การอาบน้ำกระดาษเป็นการพิมพ์น้ำลงสู่กระดาษก่อน โดยนำกระดาษที่จะทำการพิมพ์มาทำการพิมพ์โดยให้ลูกน้ำจ่ายน้ำให้กับแม่พิมพ์ตามปกติ แต่ปิดการทำงานของระบบลูกหมึก และสั่งเครื่องพิมพ์ให้พิมพ์งานเหมือนปกติ จะทำให้โมผ้ายางถ่ายทอดน้ำบนเพลทลงสู่กระดาษ เมื่อกระดาษได้รับน้ำจากการพิมพ์ จะทำให้กระดาษยืดตัวระดับหนึ่ง เมื่อนำกระดาษที่ผ่านการอาบน้ำมาทำการพิมพ์จริง จะทำให้ลดการเกิดปัญหากระดาษยืดตัวได้ อีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง คือ หลังจากพิมพ์งานด้วยเครื่องพิมพ์ 2 สีแล้ว กระดาษที่รอพิมพ์ 2 สีต่อไปให้นำพลาสติกมาห่อกองกระดาษไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิหรือความชื้นเข้ามาสัมผัสกระดาษและทำให้กระดาษมีการยืดหรือหด การปรับตั้งเครื่องพิมพ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ในการพิมพ์ออฟเซตโดยทั่วไป จะต้องมีการปรับตั้งเครื่องพิมพ์ให้มีการจ่ายน้ำน้อยที่สุด โดยจ่ายให้มีปริมาณที่เหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดสกัม หากมีการจ่ายน้ำมาก ก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดการยืดตัวของกระดาษเพิ่มมากขึ้น

น้ำยาฟาว์นเทนที่โรงพิมพ์ใช้ มีหลายสี หลายยี่ห้อ จะรู้ได้อย่างไรว่ายี่ห้อไหนดีกว่ากัน แล้วแอลกฮอล์ที่ใช้ในน้ำยาฟาว์นเทนคืออะไร ไม่ใช้ได้หรือไม่

p35-39_04น้ำยาฟาว์นเทน เป็นน้ำยาที่ใช้ในการพิมพ์ออฟเซต โดยจะถูกใช้ในระบบทำความชื้นของเครื่องพิมพ์ออฟเซต น้ำยาฟาว์นเทนที่ใช้ในเครื่องพิมพ์ออฟเซต จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หัวน้ำยาฟาว์นเทน น้ำบริสุทธิ์ และแอลกอฮอล์ โดยหัวน้ำยาฟาว์นเทนที่ดี จะประกอบด้วย กัมอารบิค กรด และบัฟเฟอร์ น้ำยาฟาว์นเทนที่ดีจะมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 4.7 – 5.3 สามารถใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์ได้ และไม่ทำให้หมึกแห้งตัวช้า โดยส่วนใหญ่แล้ว น้ำยาฟาว์นเทนที่มีจำหน่าย มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน หากอยากทราบว่า ยี่ห้อใดเหมาะสมกับที่บริษัท อาจจะต้องมีการทดลองใช้งาน และตรวจสอบการแห้งตัวของหมึกพิมพ์ การทำงานของน้ำยาฟาว์นเทนกับแอลกอฮอล์

 

แอลกอฮอล์ที่ใช้กับน้ำยาฟาวน์เทน คือ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ ที่มีการนำแอลกอฮอล์ดังกล่าวมาใช้งานในการพิมพ์ออฟเซต เนื่องจากคุณสมบัติที่ดีของแอลกอฮอล์ คือ มีการระเหยตัวที่เร็ว และมีแรงตึงผิวที่น้อยกว่าน้ำ ทำให้น้ำยาฟาวน์เทนสามารถกระจายตัวได้ดี และลดปริมาณการใช้น้ำในการพิมพ์นั้นเอง เครื่องพิมพ์ออฟเซตส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งระบบแอลกอฮอล์มาในเครื่องพิมพ์ โดยแอลกอฮอล์ จะถูกผสมเข้ากับน้ำยาฟาวน์เทนก่อนถูกจ่ายให้กับเครื่องพิมพ์ ปัจจุบันมีการรณรงค์การลดใช้แอลกฮอล์ในการพิมพ์ เนื่องจากเพื่อสุขภาพของช่างพิมพ์ บางโรงพิมพ์สามารถทำได้แล้ว แต่ต้องมีการหาวิธีการที่เหมาะสมในการพิมพ์งานด้วย เพราะจะต้องมีการปรับตั้งเครื่องพิมพ์ให้เหมาะสมอาทิเช่น การปรับตั้งลูกหมึก ลูกน้ำ เพื่อการพิมพ์ที่ไม่ใช้แอลกอฮอล์

ที่โรงพิมพ์มีงานสีพื้นสีดำเป็นจำนวนมาก เวลาพิมพ์ปรากฎว่า สีดำไม่ค่อยเรียบ มีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง รวมทั้งการพิมพ์งานสีพื้นสีอื่นๆ ด้วย

การพิมพ์งานสีพื้นตายด้วยการพิมพ์ระบบออฟเซตนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก ต้องมีการควบคุมปัจจัยหลายๆ อย่าง อาทิเช่น หากต้องการพิมพ์สีพื้นตายเป็นสีดำนั้น ตัวหมึกพิมพ์ต้องมีความเป็นสีดำจริง บางโรงพิมพ์พบปัญหา มีการใช้หมึกพิมพ์ราคาถูก และทำให้สีดำเวลาพิมพ์พื้นตายนั้น สีดำไม่เพียงพอ เนื่องจากมีผงสีดำที่น้อยเกินไป เทคนิคในการพิมพ์สีดำนั้น อาจจะทำเพลทสีดำ 2 ชุด หรือเพิ่มพื้นที่สกรีนในเพลทสี Cyan ช่วยในการพิมพ์ โดยทำพื้นสกรีนสีดำ หรือสี Cyan บริเวณที่เป็นพื้นตายสีดำ โดยพื้นสกรีนที่ใช้ประมาณ 40 – 50 เปอร์เซนต์ โดยทำการพิมพ์ก่อนทำการพิมพ์ด้วยเพลทสีพื้นตายสีดำปกติ เทคนิคนี้ จะทำให้การพิมพ์สีพื้นตายสีดำ มีความเข้มเรียบมากกว่า การพิมพ์สีดำเป็นสีพื้นตายเพียงสีเดียว ในการพิมพ์นั้นต้องทำการพิมพ์พื้นสกรีนก่อน มิเช่นนั้น สีพื้นจะดูไม่เรียบ เนื่องจากในการพิมพ์งานนั้น เราต้องการให้หมึกพิมพ์นั้นยึดติดบนกระดาษ หากพิมพ์สีพื้นตายก่อนจะทำให้พื้นที่สกรีนที่เราพิมพ์ทับลงไปสีพื้นตาย หมึกพิมพ์จะไปยึดเกาะบนสีพื้นตาย ทำให้สีพื้นตายมีลักษณะไม่เรียบ

นอกจากนี้ อาจจะมีการทำให้หมึกพิมพ์มีความเหลวมากขึ้น เพื่อช่วยให้การพิมพ์สีพื้นตายมีความเรียบมากขึ้น แต่ควรระวังตัวอักษร หรือภาพสกรีนจะมีความไม่คมชัด เนื่องจากหมึกพิมพ์มีความเหลวมากเกินไป ในการผสมคอมปาวน์ เพื่อให้หมึกมีความเหลวเพิ่มขึ้น ควรผสมในปริมาณที่น้อย จนหมึกพิมพ์มีความเหลวที่พอดี มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาทางการพิมพ์อื่นๆ ได้

p35-39_05

โครงสร้างเครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น ทำไมแต่ละยี่ห้อของเครื่องพิมพ์มีจำนวนลูกหมึกในหน่วยหมึกไม่เท่ากัน มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร

เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น โดยส่วนใหญ่มีลูกหมึกประมาณ 17 -19 ลูก (ขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องพิมพ์ด้วย) เพื่อช่วยในการบด เกลี่ยหมึก และจ่ายหมึกให้กับแม่พิมพ์ จำนวนลูกหมึกในเครื่องพิมพ์นั้น หากมีจำนวนลูกกลิ้งจ่ายหมึกให้กับแม่พิมพ์จำนวน 4 ลูก ถือว่าเหมาะสมกับการพิมพ์ออฟเซต เพราะในการพิมพ์สีพื้นตายนั้น หากมีจำนวนลูกกลิ้งจ่ายหมึกให้กับแม่พิมพ์จำนวนน้อยกว่า 4 ลูก อาจจะทำให้การพิมพ์สีพื้นตายไม่เรียบได้ จำนวนลูกกลิ้งหมึก 17 – 19 ลูกนั้น เป็นลิขสิทธิ์ของแต่ละบริษัทผู้ผลิต ที่ออกแบบโครงสร้างเครื่องพิมพ์ แต่โดยตามหลักการในการออกแบบโครงสร้างหน่วยหมึกพิมพ์ให้กับเครื่องพิมพ์นั้น ต้องมีการคำนวณการไหลของหมึกพิมพ์ให้เหมาะสมกับขนาดของโมเพลท หากออกแบบให้มีลูกหมึกจำนวนน้อย ข้อดีคือ หมึกพิมพ์จะมีการเปลี่ยนแปลงสีเร็วในการทำแม่พิมพ์ ทำให้เสียกระดาษในการพิมพ์เพื่อปรับตั้งสีงานพิมพ์น้อย แต่ข้อเสียคือ อาจจะทำให้การบดและเกลี่ยหมึกพิมพ์ ทำได้ไม่ดี เช่นเดียวกัน หากมีจำนวนลูกหมึกมากไป ข้อดีคือ สามารถบดและเกลี่ยหมึกได้ดี แต่ในการพิมพ์เพื่อปรู๊ฟสี อาจจะสิ้นเปลืองกระดาษในการปรับตั้งสีงานพิมพ์มากเกินไป ดังนั้นจำนวนลูกหมึกในแต่ละเครื่องพิมพ์ที่มีจำนวนไม่เท่ากัน ไม่ส่งผลต่อคุณภาพงานพิมพ์ หากแต่บริษัทผู้ผลิตได้คำนวณจำนวนลูกหมึก ให้มีความเหมาะสมต่อการจ่ายหมึกให้กับโมเพลทและต่อการพิมพ์งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในการพิมพ์งานหกสี โดยในการพิมพ์ครั้งแรกไม่เกิดปัญหาใดๆ แต่ในการพิมพ์งานอีกครั้ง (Re-print) ต้องมีการทำเพลทใหม่บางสี ปรากฏว่า เกิดลายตาเสื่อเกิดขึ้น ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด

p35-39_06ลายตาเสื่อ หรือโมเร่ เกิดจากการเรียงองศาของเม็ดสกรีนบนฟิล์มแยกสี หรือบนแม่พิมพ์ที่ไม่ถูกต้อง การทำฟิล์มหรือเพลท จะต้องมีการส่งข้อมูลจากไฟล์ต้นฉบับผ่านไปยัง RIP (Raster Image Processor) ซึ่งทำหน้าที่ในการแปลงไฟล์ต้นฉบับให้เป็นเม็ดสกรีนในการทำฟิล์มหรือทำแม่พิมพ์ โดยจะสามารถกำหนดลักษณะภาพพิมพ์ต่างๆ ด้วย รูปแบบเม็ดสกรีน ความละเอียดสกรีน รูปร่างเม็ดสกรีน และองศาสกรีน จากปัญหาลายตาเสื่อที่เกิดขึ้น จะมีสาเหตุมาจากการเลือกใช้องศาสกรีนที่ผิดในการทำฟิล์ม หรือแม่พิมพ์ โดยรูปแบบเม็ดสกรีนที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ รูปแบบ AM screening ซึ่งจะต้องมีการกำหนดองศาสกรีนของเม็ดสกรีนที่มีความแตกต่างกันประมาณ 30 องศา ยกเว้นสีเหลือง หรือสีที่อ่อน หากมีการพิมพ์มากกว่า 4 สี โดยปกติ RIP ที่ใช้งานในการแปลงข้อมูล จะสามารถกำหนดค่าองศาของเม็ดสกรีนได้ นอกเสียจากว่า มีการปรับตั้งแบบอัตโนมัติ ทำให้ RIP เลือกองศาให้ ทำให้เมื่อมีการทำฟิล์มใหม่ หรือทำเพลทใหม่ RIP ได้เลือกองศาของเม็ดสกรีนที่ไม่สัมพันธ์กับการทำฟิล์มหรือแม่พิมพ์ครั้งแรก ทำให้เกิดปัญหาลายตาเสื่อเกิดขึ้น วิธีการแก้ไขคือ ให้ตรวจสอบการตั้งค่าต่างๆ ใน RIP ให้ถูกต้อง ให้แต่ละสีมีความต่างกัน 30 องศา ส่วนสีเหลืองมีองศาที่แตกต่างประมาณ 15 องศา แต่ถ้าโรงพิมพ์มีการใช้รูปแบบสกรีนแบบ FM Screening ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการเกิดลายตาเสื่อ เนื่องจากเม็ดสกรีนจะเป็นแบบฝุ่น จากการกระจายตัวตามน้ำหนักสีของภาพ ไม่มีการเรียงตัวของเม็ดสกรีน ทำให้ไม่มีปัญหาดังกล่าว