“หวาน” ณลัลน์รัศม์ ปาละวงศ์
มือขวาคนเก่งแห่ง เหรียญไทย กรุ๊ป
(Reanthai Group)
หวาน หรือ ณลัลน์รัศม์ ปาละวงศ์ เป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน จบศึกษาระดับปริญญาโท Fashion Management and Entrepreneurship, Northumbria School of Design (ประเทศอังกฤษ) หลังจากเรียนจบได้เริ่มทำงานที่ Celebrate Wealth บริษัทในเครือสหพัฒน์ ดูแลด้าน Marketing ให้กับ แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าผู้ชาย ERA-WON และแบรนด์กระเป๋าฝรั่งเศส LOLLIPOPS ในตำแหน่งเป็น Brand Manager รวมระยะเวลาทั้งหมดเกือบ 2 ปี
ในเดือนเมษายนของปี 2014 เริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจของที่บ้าน ดำรงตำแหน่ง Assistant Managing Director ของ บริษัท เหรียญไทยบุญกิจ จำกัด โดยนอกจากธุรกิจของที่บ้าน ปัจจุบันเธอยังใช้เวลาว่างสร้างแบรนด์กระเป๋าและรองเท้าที่ทำร่วมกับญาติๆ ขายทาง online ชื่อ Rissaya (IG: @rissaya.official)
เล่าถึงความเป็นมาของ เหรียญไทยบุญกิจ
บริษัท เหรียญไทยบุญกิจ จำกัด เป็นบริษัทแรกในเครือ เหรียญไทย กรุ๊ป ก่อตั้งตั้งแต่รุ่นอาม่าอากง ทำธุรกิจประเภท Paper Trading จัดจำหน่ายกระดาษทุกชนิด ทั้งที่ผลิตในประเทศและกระดาษนำเข้า ดำเนินกิจการมามากกว่า 50 ปี หลังจากธุรกิจซื้อขายกระดาษเติบโตขึ้น อาม่าอากง คุณแม่ และพี่ๆน้องๆ ตัดสินใจขยายธุรกิจเพิ่มอีกหลายบริษัท โดยทั้งหมดทำเกี่ยวกับกระดาษทั้งสิ้น คือ บริษัท ไทยโปรดัคท์ เปเปอร์มิลล์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกกระดาษแข็ง (จั่วปัง) บริษัท ร็อคซี่ เปเปอร์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายกระดาษถ่ายเอกสารและกระดาษที่ใช้ในสำนักงานทุกชนิด และบริษัท เปเปอร์แพ็ค จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกล่องลูกฟูก นอกจากนี้ เหรียญไทย กรุ๊ป ยังได้จับมือกับ Antalis บริษัทผู้จำหน่ายกระดาษ Fine Paper ระดับโลก ก่อตั้ง Antalis ประเทศไทยขึ้น
ปัจจุบัน เหรียญไทย กรุ๊ป มีกระดาษทุกประเภทจำหน่าย พร้อมการให้บริการที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ตรงตามความต้องการของลูกค้า เพื่อความพึงพอใจและความสำเร็จของลูกค้า เพราะเราคือ partner ที่เติบโตไปด้วยกัน ตาม slogan ของเราที่ว่า “The Paper Provider of All Kinds, We Serve More Than a Piece of Paper.”
จุดเริ่มต้นของการทำงาน และหน้าที่รับผิดชอบ
เริ่มต้นเข้ากลับเข้ามาช่วยงานที่บ้านในตำแหน่งมือขวา (เลขา) ของคุณแม่ เนื่องจากคนเดิมออกไปดูแลครอบครัว และหาคนไม่ได้มา 2-3 ปี นอกจากนี้ยังรับผิดชอบดูแลด้าน import สินค้า และงานฝ่ายขายทั้งหมด
ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงาน / แนวทางในการแก้ไข
ส่วนใหญ่เกิดจากการสื่อสารระหว่างหวานกับคุณแม่ ช่วงแรกๆ ที่เข้ามาทำ และยังใหม่กับธุรกิจค่อนข้างมาก เราจะยังไม่คุ้นกับระบบและธรรมชาติของธุรกิจ รวมถึงความคาดหวังของคุณแม่ที่มีต่อเรา อาจจะเป็นเพราะสมัยที่คุณแม่ทำงานกับอาม่า ท่านสอนมาแบบที่ให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง พอมาถึงเราช่วงแรกๆคุณแม่ก็จะไม่สอน หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่ให้ทำไป เจอเคสแล้วถึงสอน ถึง guide ท่านจะบอกเสมอว่าต้องตัดสินใจเอง ลองทำดูเอง การไม่ตัดสินใจและไม่ทำเมื่อจำเป็นต้องทำ คือผิดที่สุด ผลออกมาผิดถูกยังไงค่อยมาคุยกัน บางครั้งก็เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันในการทำงาน ตอนนี้ต่างคนก็ต่างปรับ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนปัจจุบันก็เข้าที่เข้าทางพอสมควรค่ะ
เป้าหมายการทำงานในปัจจุบัน
เป้าหมายปัจจุบันคือ ดูแลธุรกิจแทนคุณแม่ให้ได้มากที่สุด ท่านจะได้พัก และมีเวลาไปทำสิ่งที่ท่านตั้งใจค่ะ
แนวคิด หรือคติในการทำงาน
เพราะเรียนมาและได้ทำงานในศาสตร์ที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างนิเทศศาสตร์ และด้านแฟชั่น ที่แบบใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งทำให้การเรียนการทำงานของเราไม่ซ้ำซากและไม่น่าเบื่อเลย ทุกๆวันนี้เลยพยายามที่จะสร้าง mind set แบบนี้กับธุรกิจซื้อมาขายไปที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งค่อนข้างนิ่งพอสมควร พยายามมองมันเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ทุกๆ วัน เจอเรื่องใหม่ๆ ทุกวัน ลูกค้าใหม่ๆ สินค้าเองเราก็พยายามมองหาอะไรใหม่ๆที่ไม่เหมือนใครตลอดเวลา รวมถึงการทำงานของทีมงานในบริษัทเองที่มาถึงตอนนี้ต้องเริ่มต้นกับ technology ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน พอมันเป็นการเริ่มต้นใหม่ทุกวัน บางครั้งเราก็รู้สึกว่ามันยากที่จะทำ คติอันหนึ่งที่บอกตัวเองอยู่เสมอๆ คือ “The beginning is always the hardest. Do not give up.”
มุมมองอนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย
ใครๆ ก็มองว่าอุตสาหกรรมของเราเป็น sunset industry แต่ส่วนตัวมองว่ายังไงก็ตามอุตสาหกรรมการพิมพ์ก็จะเติบโต จริงอยู่บาง segment อย่างหนังสือหรือนิตยสารเราจะเห็นตัวเลขที่ลดลงอย่างชัดเจน แต่เราลองมองไปรอบๆ ตัวเราก่อน หวานคิดว่าเรารายล้อมไปด้วยงานพิมพ์ทั้งนั้น มันอยู่ที่ว่าพิมพ์บนไหนเท่านั้น ในฐานะคนขายกระดาษเองถามว่ากลัวขายไม่ได้หรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าให้ลองมองไปรอบๆ ตัวเราดูอีกครั้ง เรายังเห็น packaging ที่โตต่อเนื่อง กระแส Eco Friendly ยังมีต่อเนื่องและจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ากระดาษซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถย่อยสลายได้ 100% และสามารถ recycle ได้ 100% ย่อมจะเป็น 1 ในตัวเลือกแรกๆ ของผู้บริโภคแน่นอน
นอกจากนี้หวานรู้สึกว่าสมาคมการพิมพ์ไทยมีความเข้มแข็งมากๆ นะคะ ทั้งการแบ่งปันความรู้ให้สมาชิก การสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิก รวมถึงความมือกับนานาชาติ และมักจะเป็นผู้ริเริ่มอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ อย่าง YPG เองยังมีอายุตั้ง 20 ปีแล้วนะคะ หวานคิดว่าความเหนียวแน่นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมที่แข็งแรงและเติบโตอย่างยั่งยืน จะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยแน่นอนค่ะ
เข้ามาเป็นสมาชิก Young Printer Group ได้อย่างไร
เข้ามาร่วมกิจกรรม YPG ครั้งแรก จากการชักชวนของ พี่เบนซ์ บีบีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อดีตประธาน YPG ค่ะ บีบีเป็นลูกค้าเก่าแก่ของเหรียญไทยฯ ค่ะ จำได้ว่าวันนั้นเข้าไปแนะนำตัว หลังจากเข้ามาทำงานได้ไม่นาน เลยได้รู้จักและมาร่วมงานเลือกตั้ง YPG ที่พัทยาในปี 2015 ค่ะ
หน้าที่และบทบาทในกลุ่ม Young Printer
หวานได้รับเลือกเป็นกรรมการ YPG 2 สมัยแล้วค่ะ แรกๆ ก็เข้ามาช่วยงานพี่ๆ ตามแต่จะมีโอกาสค่ะ ในสมัยที่สองนี้ส่วนใหญ่เป็นรุ่นน้องๆ บทบาทหน้าที่เลยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมค่ะ
สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกลุ่ม Young Printer
สิ่งที่มีค่าที่สุดคือ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อีกกลุ่มที่ได้รู้จักและสนิทสนมกันค่ะ ยิ่งเป็นคนในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย ยิ่งทำให้คุยกันเข้าใจมากขึ้น มีคนฟังเราบ่นมากขึ้น (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่ supplier อย่างเราก็จะไปนั่งฟังเด็กโรงพิมพ์เค้าบ่นกันมากกว่าค่ะ ถือเป็นเพื่อนอีกกลุ่มที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุขค่ะ