Virtual สัมภาษณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ความฝันเกิดจากจิตใต้สำนึกที่นำเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่เราติดค้างอยู่ในใจมาปรุงแต่งเป็นเรื่องราวต่างๆ แม้กระทั่งความเครียดซึ่งเกิดขึ้นได้มากสำหรับคนที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ที่เต็มไปด้วยความกดดันทั้งด้านหน้าที่ การงาน การวางแผนสำหรับอนาคต รวมถึงการปรับตัวในสังคม ดังนั้นความฝันจึงมีเพื่อสะท้อนความรู้สึกที่ติดค้าง อยู่ในใจโดยที่บางครั้งเราไม่รู้ตัว ความฝัน จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น
แอนิเมชัน (Animation) หมายถึง กระบวนการที่เฟรมแต่ละเฟรมของภาพยนตร์ ถูกผลิตขึ้นต่างหากจากกันทีละเฟรม แล้วนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน โดยการฉายต่อเนื่องกัน ไม่ว่าจากวิธีการ ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก ถ่ายภาพรูปวาด หรือรูปถ่ายแต่ละ ขณะของหุ่นจำลองที่ค่อย ๆ ขยับเมื่อนำภาพดังกล่าวมาฉาย ด้วยความเร็ว ตั้งแต่ 16 เฟรมต่อวินาที ขึ้นไป เราจะเห็นเหมือนว่าภาพดังกล่าวเคลื่อนไหวได้ต่อเนื่องกัน
“VIRTUAL” เป็นแอนิเมชันถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของคนในวัยเริ่มต้นทำงาน สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Prize จากการประกวดผลงานแอนิเมชัน มัลติมีเดีย TBS DigiCon6 Thailand 2018 ผลงานโดยนางสาวณธันยรัตน์ กลิ่นเรือง และนางสาวศุภกรณ์ เพิ่มพูนทวีชัย นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรายการระดับเอเชีย TBSDigicon6 Asia 20th ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ ประเทศญี่ปุ่น วารสาร Thai Print ฉบับนี้ จะนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับสองนักศึกษาเจ้าของผลงาน ที่เป็นตัวแทนประเทศไทยแข่งขันประกวดแอนิเมชันระดับเอเชีย
เหตุผลที่เลือกเรียนด้านนี้
นางสาวณธันยรัตน์ เล่าให้ฟังว่าชอบงานศิลปะเป็นอย่างมาก จึงเป็นเหตุผลให้เลือกเรียนคณะนี้ ในอนาคตอยากเปิดร้านวาดรูปเป็นของตัวเอง ตอนที่สัมภาษณ์เข้าที่นี่ได้ตอบผู้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน พร้อมกับนำภาพผลงานที่ตนเองเป็นคนวาดให้ผู้สัมภาษณ์ได้ดูด้วยเช่นกัน การเรียนแอนิเมชั่นสามารถแตกออกไปได้ในหลายๆ สาขา ไม่ใช่เพียงแค่การวาดการ์ตูน หรือภาพประกอบเท่านั้น แต่ยังมี 3D หรือ 2D อีกด้วย
ส่วนนางสาวศุภกรณ์กล่าวว่า เริ่มต้นจากการที่ตนเองเป็นคนชอบดูหนัง ดูการ์ตูน ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราอยากสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมา เนื่องจากชอบแอนิเมชั่นอยู่แล้ว จึงมีความตั้งใจที่จะเข้ามาเรียนคณะนี้ตั้งแต่แรก ความหวังสูงสุดในการเรียนด้านนี้คือ การเป็นแอนิเมเตอร์ หรือคนที่ทำตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ มีชีวิตขึ้นมาได้
เกี่ยวกับผลงาน VIRTUAL
นางสาวศุภกรณ์ เล่าถึงผลงาน หนังสั้นแอนิเมชัน เรื่อง “VIRTUAL” ที่มีแนวคิดต้องการนำเสนอภาพความฝันเพราะมองว่าความฝันช่วยบำบัดความเครียดของคนได้ เนื้อเรื่องสะท้อนเป้าหมายของคนในวัยเริ่มต้นทำงาน ชีวิตการเริ่มต้นทำงานจริงต้องเจอกับอุปสรรค บรรยากาศที่ต้องเป็นน้องใหม่ในที่ทำงานเจอกับสายตาที่จับจ้อง คำพูดหรือคำนินทาของผู้ร่วมงาน สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งในเรื่องกำหนดเป็นเงินที่มีมูลค่าเยอะเป็นสิ่งที่คนเริ่มต้นทำงานคาดหวัง โดยการนำเสนอหนังสั้นชุดนี้เลือกตัวไก่เป็นตัวดำเนินเรื่อง เพราะส่วนตัวเห็นว่าไก่เป็นสัตว์ที่มีลักษณะหวาดกลัว สายตา คำพูดของผู้ร่วมงาน ทำให้ตัวละครไก่เก็บมาคิด ความคิดในแง่ร้ายเหมือนบอลสีดำที่เกาะตามร่างกาย ทำให้บินขึ้นไม่ได้เหมือนไม่สามารถไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และระหว่างทางเองไก่ก็จะพบกับซากของไก่ตัวอื่นๆ ที่ไปไม่ถึงฝันที่วางไว้
ด้านนางสาวณธันยรัตน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนาผลงานแอนิเมชัน เรื่องการออกแบบเนื้อหาภาพความฝันได้รับคำแนะนำจากอาจารย์บันลือ กุณรักษ์ ที่ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคในการถ่ายทำแบบสตอปโมชัน (Stop Motion) ด้วยการใช้ภาพนิ่งหลายๆ ภาพที่มีความต่อเนื่องกันมาต่อกันและทำให้ภาพมีความเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่ยากมาก การถ่ายทำต้องทำโมเดลตัวไก่ที่มีข้อต่อที่ขยับได้จริงขยับท่าทีละนิดและถ่ายทีละเฟรม เช่น ฉากที่ตัวละครไก่บินต้องถ่ายต่อเนื่องให้เสร็จในวันเดียวเพื่อให้ได้แสงที่ไม่ต่างกันเพื่อความสมจริง เทคนิคการถ่ายทำได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากนอกมหาวิทยาลัย ทำให้สามารถออกแบบ และผลิตผลงานออกมาได้เป็นตามที่ตั้งใจ สะท้อนความคิดที่ต้องการสื่อสารออกมาได้
อุปสรรคและปัญหาที่พบระหว่างการจัดทำผลงาน
นางสาวศุภกรณ์กล่าวว่า ในส่วนหัวข้อไม่ค่อยมีปัญหานัก แต่ปัญหาหลักๆ ที่เจอคือ ช่วงออกแบบเนื้อเรื่อง เนื่องจากงานถูกอาจารย์ตีกลับค่อนข้างบ่อย เนื่องจากว่าสื่อความหมายออกมาไม่ค่อยดีนัก หรือออกแบบโหดมากเกินไป จึงนำผลงานนั้นกลับมาเพื่อหารือกันในกลุ่มว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร แล้วนำกลับไปปรึกษาที่ปรึกษาก่อนนำเสนออาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์วิศิษฎ์ ศุภางคะรัตน์ อีกครั้ง
กลุ่มที่ปรึกษาจะประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยตรง เช่น หากต้องการความรู้ด้านแสง ต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านแสงมาให้คำปรึกษา ปัญหาที่พบในช่วงของการทำหุ่น (สร้างตัวละคร ไก่) เนื่องจากต้องหาโครงสร้างของหุ่นที่มีความแข็งแรงมากพอไม่เกิดการเสียหายขึ้นระหว่างการถ่ายทำ เพราะหากเกิดการพังเสียหายขึ้นมาจะส่งผลให้การถ่ายทำไม่ต่อเนื่อง
นางสาวณธันยรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกี่ยวกับความฝันนั้นไม่ค่อยมีใครทำวิจัยกันมากนัก เนื่องจากเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้และพิสูจน์ได้ไม่หมด เป็นเพียงแค่ทฤษฎีเท่านั้น ส่วนมากจะเป็นภาษาอังกฤษซึ่งต้องแปลข้อมูลทั้งหมดเป็นภาษาไทย เช่น หัวเรื่องความฝันมีกี่ประเภท ซึ่งบางครั้งจะเป็นคำศัพท์เฉพาะด้านจิตวิทยา ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาในการทำงานเพิ่มมากขึ้น
ความคาดหวังจากการจัดทำผลงานชิ้นนี้
นางสาวณธันยรัตน์กล่าวว่า ในด้านของแอนิเมชันคือ ต้องการให้คนหันมาสนใจงาน Stop Motion กันมากขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นงานที่ทำได้ค่อนข้างยากและดูแล้วไม่สนุก แต่ถ้าหากสร้างผลงานออกมาได้ดีก็สามารถที่จะทำให้เกิดความสนุกขึ้นมาได้ เช่น ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Finding Nemo ที่นำมาผสมผสานกับ CG (Computer Graphic) ที่ทำออกมาได้ดีและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก งาน Stop Motion เป็นงานที่ต้องมีใจรักและใช้ความอดทนต้องลงทุนลงแรงและใช้เวลากับมัน
เหตุจูงใจในการส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการ TBS DigiCon6 Thailand 2018 จนได้รับรางวัล Gold Prize
นางสาวศุภกรณ์กล่าวว่า เนื่องจากทั้งสองคนชอบส่งผลงานเข้าร่วมประกวดอยู่แล้ว เคยรวมทีมกับเพื่อนอีกสองคนทำหนังสั้นส่งเข้าประกวด รวมไปถึงได้เห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่ที่ส่งผลงานเข้าประกวดในปีก่อนหน้า จึงมีความคิดว่าเนื่องจากได้มีการจัดทำแอนิเมชันชิ้นนี้เป็นโปรเจ็คจบขึ้นมาแล้ว หากมีเวทีไหนที่สามารถส่งเข้าประกวดได้ก็ไม่ควรพลาด ซึ่งในการส่งผลงานครั้งนี้ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก แต่เมื่อได้รับรางวัลกลับมา ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นจุดเริ่มต้นที่ของอนาคต
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ Stop Motion
การถ่ายสต็อปโมชัน (Stop Motion) เป็นแอนิเมชันที่ผู้ทำแอนิเมชันต้องสร้างส่วนประกอบต่าง ๆ ของภาพขึ้นด้วยวิธีอื่น นอกเหนือจากการวาดบนแผ่นกระดาษ หรือแผ่นเซล และยังต้องยอมเมื่อยมือ ขยับรูปร่างท่าทางของส่วนประกอบเหล่านั้นทีละนิด ๆ แล้วใช้กล้องถ่ายไว้ทีละเฟรม ๆ เทคนิคทำได้หลากหลาย ได้แก่
- เคลย์แอนิเมชัน (Clay animation เรียกย่อ ๆ ว่า เคลย์เมชัน / claymation) คือแอนิเมชันที่ใช้หุ่นซึ่งทำจากดินเหนียว ขี้ผึ้ง หรือวัสดุใกล้เคียง โดยใส่โครงลวดไว้ข้างในเพื่อให้ดัดท่าทางได้
- คัตเอาต์แอนิเมชัน (Cutout animation) สมัยก่อนแอนิเมชันแบบนี้ทำโดยใช้วัสดุ 2 มิติ (เช่น กระดาษ, ผ้า) ตัดเป็นรูปต่างๆ และนำมาขยับเพื่อถ่ายเก็บไว้ทีละเฟรม แต่ปัจจุบันใช้วิธีวาดหรือสแกนภาพเข้าไปขยับในคอมพิวเตอร์ได้เลย
- กราฟิกแอนิเมชัน (Graphic animation) เป็นอีกเทคนิคที่น่าสนใจไม่เบา เกิดจากการนำกล้องมาถ่ายภาพนิ่งต่าง ๆ ที่เราเลือกไว้ (จะเป็นภาพจากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ก็ได้) ทีละภาพ ทีละเฟรม แล้วนำมาตัดต่อเข้าด้วยกันเหมือนเทคนิคคอลลาจ (collage – ปะติด) โดยอาจใช้เทคนิคแอนิเมชันแบบอื่นมาประกอบด้วยก็ได้
- โมเดลแอนิเมชัน (Model animation) คือการทำตัวละครโมเดลขึ้นมาขยับ แล้วซ้อนภาพเข้ากับฉากที่มีคนแสดงจริงและฉากหลังเหมือนจริง
- แอนิเมชันที่เล่นกับวัตถุอื่นๆ (Object animation) ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หุ่น ตุ๊กตา ตัวต่อเลโก้ ฯลฯ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่วัสดุซึ่งดัดแปลงรูปร่างหน้าตาได้แบบดินเหนียว
- พิกซิลเลชัน (Pixilation) เป็นสต็อปโมชันที่ใช้คนจริง ๆ มาขยับท่าทางทีละนิดแล้วถ่ายไว้ทีละเฟรม เทคนิคนี้เหมาะมากถ้าเราทำแอนิเมชันที่มีหุ่นแสดงร่วมกับคน และอยากให้ทั้ง หุ่นทั้งคนดูเคลื่อนไหวคล้ายคลึงกัน หรือที่อยากได้อารมณ์กระตุกๆ
- O/She Stop Motion Film