Smart Packaging กับอะไรที่มากกว่าบนกล่อง

Smart Packaging กับอะไรที่มากกว่าบนกล่อง

p52-53_02

อ.วรรณรัตน์ วิรัชกุล
ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

Smart Packaging ในบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นเรื่องที่ถูกจับตามมองและได้รับความสนใจมากทั้งในผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น ทำให้เป็นที่จดจำเพื่อเพิ่มอัตราการซื้อซ้ำ

แต่ถ้าหากเรามองไปในมุมที่กว้างกว่านั้น เราจะพบว่า Smart packaging สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ที่มีการขนส่งทั้งในลักษณะของการส่งออกและนำเข้ากับต่างประเทศ ปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ไทย ต้องการที่จะออกไปสู่ตลาดโลก แต่ก็ยังคงกังวลกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านการเดินทางและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะอาจจะเสียหายระหว่างขนส่ง ซึ่ง Smart Packaging ที่นำ Multifunction sensor ที่สามารถเก็บข้อมูลของผลิตภัณฑ์ เข้ามาใช้กับบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มบรรจุต่อหน่วยการจำหน่าย การบรรจุลงกล่องเพื่อการขนส่ง ไปจนถึงการนำไปฝังที่พาเลทสินค้า sensor จะมีการติดตามตำแหน่งของสินค้าตั้งแต่ออกจากสถานที่ผลิต ไปจนถึงสิ้นสุดความรับผิดชอบต่อสินค้า ในมุมของกฎหมายแล้ว Multifunction sensor ที่ติดกับพาเลทสินค้านั้นจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะกฎหมายการค้าขายระหว่างประเทศ ในการขนส่งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำสัญญาซื้อขายระหว่างกัน ซึ่งข้อกำหนดในการส่งมอบสินค้า หรือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าได้กำหนดขอบเขตความรับผิดต่อความเสียหายของสินค้าตามข้อตกลงที่ทางผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงกัน (Incoterm)

เจ้า Multifunction sensor จะเป็นตัวเก็บข้อมูลของสินค้า อย่างเช่น เมื่อพาเลทสินค้าที่ติด sensor ไว้ ได้ผ่านตัวอ่านและบันทึกข้อมูล ณ จุดสิ้นสุดความรับผิดของผู้ขายแล้ว ความรับผิดชอบต่อสินค้าจะตกไปยังผู้ซื้อทันที เพราะข้อตกลงความรับผิดเมื่อเกิดความเสียหายต่างๆ ต่อสินค้า จะเป็นไปตาม Incoterm ที่ได้ตกลงกันไว้ ระยะเวลาที่ทำการส่งของนั้นเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ เมื่อสามารถทราบถึงตำแหน่งของสินค้าไม่ว่าจะขนส่งด้วยรูปแบบใด บริษัทผู้ซื้อจะสามารถทราบถึงเวลาที่คาดว่าสินค้าจะมาถึงมือเมื่อไหร่ ส่งผลให้แผนการตลาดที่วางไว้สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงทีหากเกิดปัญหาจากการเดินทางที่ล่าช้า หรือสินค้าติดค้างที่ศุลกากร คลังสินค้าของประเทศผู้ซื้อยังได้รับประโยชน์ทางด้านการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับสินค้าที่จะเข้ามา เมื่อสินค้าเข้ามายังคลังสินค้า sensor ข้อมูลจะก็ถูกเก็บบันทึกต่อไป ง่ายต่อการจัดการกับสินค้าส่งไปตามร้านค้าปลีกต่างๆ อีกทั้งยังสามารถทราบปริมาณการขายในแต่ละจุด ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะสร้างและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อไปวิเคราะห์ ตัดสินใจ และนำไปจัดทำแผนการตลาดที่ดีและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อีกด้วย นอกจากนี้ผู้บริโภคเองยังมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยจากการปลอมแปลงหรือดัดแปลงของผลิตภัณฑ์โดยสามารถตรวจสอบจาก Smart packaging ได้

ซึ่งในบรรดาผู้ผลิตแบรนด์หลายหมื่นแบรนด์ยังเห็นว่าบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตแบรนด์คำนึงถึงเป็นอันดับท้ายๆ ทั้งในแง่การออกแบบลวดลายเพื่อสื่อถึงความเป็นตัวตนของสินค้า ใช้งบประมาณลงทุนกับส่วนที่จะเป็นด่านหน้าในการพูดคุยกับลูกค้าน้อยลงแต่หวังกำไรที่มากขึ้น แต่หากมองถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับมาจากการลงทุนกับ Smart packaging แล้วจะพบข้อดีถึงจะอยู่บนความเสี่ยงทางการตลาดก็ตาม

ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั้น เราจะเห็นได้ว่าการนำ Multifunction sensor สามารถเข้ามาใช้ได้ในทุกขบวนการตั้งแต่การบรรจุจากผู้ผลิต การขนส่ง ไปจนถึงมือผู้บริโภคนั้น เป็นโอกาสสำคัญในการทำธุรกิจที่นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยให้สามารถชนะความท้าทายและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ สามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้า ลดทอนความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และสามารถสร้างความเชื่อมั่นใจให้ผู้บริโภคได้อีก ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงภาพวาดที่คาดว่าอีกไม่ช้าในโลกความเป็นจริงจะมีการนำฟังก์ชั่นการทำงานของ Smart packaging ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด มาพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของบรรจุภัณฑ์ให้ครอบคลุมทั้งขบวนการ ด้วยศักยภาพที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Smart packaging ที่มีขนาดใหญ่จะต้องเผชิญความท้าทาย 4 ประเภทได้แก่ เชิงพาณิชย์ กฎหมาย เทคโนโลยี และองค์กร ทบทวนตลาดและการใช้ประโยชน์จาก Smart packaging จะช่วยกำหนดสมมติฐานสำหรับความท้าทายที่สำคัญในการนำแอพพลิเคชันเหล่านี้ไปใช้ในการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้