Future Skills ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

Future Skills: ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็น
สำหรับบุคลากรทางการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

p22-27_02

พิชิต ขจรเดชะ
ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

Future Skills ทักษะแห่งอนาคต หรือ ทักษะการทำงานในอนาคต เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการ Disruption technology ได้เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก Disruption technology จนทำให้เกิดการ “หยุดชะงัก” ในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นภาคธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยน การ Upskilling & Reskilling จะช่วยให้บุคลากรมีทักษะการทำงานที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ และเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้สามารถอยู่รอดภายใต้สถานการณ์และยุคแห่งความผันผวน ในบทความนี้จะกล่าวถึง รายงานการศึกษาแนวโน้มของทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในอนาคต ทักษะการทำงานที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวให้สอดคล้องและรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

p22-27_03

Global printing market

จากรายงานการศึกษาเรื่อง Trend and opportunities in the global printing market ของ The Association for Print Technologies (APTechSM) ร่วมกับ VDMA (Verband Deutscher Maschinen- und Anlagenbau) ทำการศึกษาข้อมูลจาก 28 ประเทศ 7 ทวีป ครอบคลุมร้อยละ 80 ของ GDP ทั้งโลก และร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรโลก ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของตลาดในกลุ่ม Publishing, Commercial, and Packaging Printing ทั้งโลกจะมีการขยายตัวจาก 389 พันล้านเหรียญ ในปี คศ. 2017 เป็น 421 พันล้านเหรียญในปี คศ. 2020 อัตราการเติบโตร้อยละ 2.7 ต่อปี โดยในกลุ่ม Publishing มีขนาดตลาดที่ลดลงอัตราร้อยละ 2 ในขณะที่กลุ่ม Commercial มีขนาดตลาดทรงตัว-ลดลงเล็กน้อย อัตราร้อยละ 0.7 แต่ในกลุ่ม Packaging Printing มีขนาดตลาดและการผลิตที่เพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 4.5 ดังแสดงในรูปที่ 1 และจากหัวข้องานวิจัย The Future of Global Printing to 2022 ของบริษัท Smithers Pira ได้รายงานถึงผลกระทบของกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ประเภท Publishing print (หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ ไดเรกทอรี และแคตตาล็อก) จาก Disruption technology และการเข้ามาของช่องทาง, รูปแบบ (platforms) ของสื่อใหม่ “new media” ได้แก่ e-books, online, electronic และ social media การใช้ Search engines ทดแทนสื่อสิ่งพิมพ์บ้างประเภท การนำทางบน smartphone แทนแผนที่แบบเดิม และการทำการตลาดออนไลน์แบบต่างๆ เป็นต้น ในรายงานได้กล่าวถึง กลไกลการขับเคลื่อนและปรับตัวของการผลิตสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือในปี 2022 จะปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องพิมพ์พ่นหมึกสมรรถนะสูง (high-performance inkjet) ในการการผลิตหนังสือ ระบบการพิมพ์ดังกล่าวมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ มีความเร็วสูงและสามารถผลิตงานปริมาณน้อยๆ ได้ (short-run) รูปแบบทำงานจะต้องมีระบบเครือข่ายที่ครอบคลุมระบบการรับงาน การขาย การเตรียมพิมพ์ พิมพ์ หลังพิมพ์แบบอัตโนมัติที่ช่วยลดเวลาการเตรียมเครื่องจักร จำนวนคนงาน วัตถุดิบ นอกจากนี้ในรายงานได้กล่าวถึง การพิมพ์สิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ด้วยระบบการพิมพ์ดิจิตอล การเพิ่มมูลค่าสิ่งพิมพ์ การผลิตสิ่งพิมพ์ตามสั่งและสิ่งพิมพ์เฉพาะรายบุคคล การผลิตงานปริมาณน้อย (short-run) การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการพิมพ์ในอนาคต

p22-27_04

ทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรที่อยู่ในกลุ่ม Publishing print

จากการคาดการณ์ถึงแนวโน้มการผลิต เทคโนโลยี รูปแบบและวิธีการ ที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้บุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับ เปลี่ยน เรียนรู้ และพัฒนาทักษะที่จำเป็น ในรายงานเรื่อง Future Skills in the Graphical Industry โดย European Union ได้ทำการศึกษาในกลุ่มธุรกิจ Graphical Industry ในสหภาพยุโรป มีการสำรวจ วิจัย วิเคราะห์บริษัทต้นแบบ เพื่อจัดทำ Future Skills หรือทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลการที่ได้รับผลกระทบจากสื่อใหม่ “new media” โดยทำการศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในสื่อทุกชนิด เวลาและรูปแบบการใช้สื่อ เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการผลิตสื่อที่เหมาะสม และทักษะที่จำเป็นในกรณีที่กลุ่ม Publishing print จำเป็นต้องปรับตัวและทำการผลิตสื่อใหม่ new media รวมถึงรูปแบบการเพิ่มทักษะที่จำเป็น พบว่าทักษะใหม่ที่จำเป็น ได้แก่

  • Cross media skills; ทักษะการทำสื่อหลายๆรูปแบบ การเผยแพร่เนื้อหาเดียวกันในหลายช่องทาง เช่น twitter + blog + TV + สิ่งพิมพ์ เป็นต้น
  • Database and digital publishing skills; ทักษะการจัดการข้อมูลและระบบฐานข้อมูล (ภาพ ตัวหนังสือ ไฟล์วีดิโอ ฯลฯ) ร่วมถึงการนำข้อมูลต่าง ๆ มาทำสิ่งพิมพ์ดิจิตอล (สิ่งพิมพ์ออนไลน์ หรือสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์)
  • Skills to use new technology; ทักษะการปรับตัวและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
  • Digital asset management skills; ทักษะการจัดการเนื้อหา รูปแบบสื่อและทรัพย์สินดิจิทัล ที่อยู่ในรูปแบบ ไฟล์รูปภาพดิจิทัล เป็นไฟล์เอกสาร ข้อมูล เนื้อหา เสียง ฯลฯ ให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ระเบียบ ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว
  • Entrepreneurial skills; ทักษะพื้นฐานในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาตัวผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจ ความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ การดำเนินธุรกิจและการต่อยอดธุรกิจในอนาคต
  • Engineering skills; เป็นทักษะการคิดแบบสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ทักษะด้านการสื่อสารและมนุษย์สัมพันธ์ การทำงานที่มีประสิทธิภาพ การทำงานภายใต้แรงกดดัน logistic and supply chain เป็นต้น
  • Teamwork skills; ทักษะการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกับภายใต้เป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของงานที่ได้รับมอบหมาย
  • ทักษะด้านการวางแผนและบริหารการผลิตยุคใหม่ เป็นทักษะที่ใช้ในบริหารจัดการการผลิตในองค์กรให้สอดคล้องกับแผนการผลิต จำนวนงาน และทันต่อเวลา โดยใช้ทรัพยากร เครื่องจักร บุคลากร วัตถุดิบ เวลา อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะดังกล่าวรวมถึงความสามารถในการใช้ระบบ ERP, เทคโนโลยี IoT ของเครื่องจักร, workflow, การวางแผนและควบคุมการผลิต, ควบคุมสินค้าคงคลัง, ควบคุมโครงการ, ระบบบริหารการขาย, การบำรุงรักษา, บุคลากร, Logistics, web to print, การวิเคราะห์ต้นทุนต่างๆ เป็นต้น

ในรายงาน Future Skills in the Graphical Industry ผู้ตอบแบบสอบถามได้กล่าวถึงทักษะที่จำเป็นและมีความต้องการ สำหรับ การทำงานในอนาคต แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม PRINTING INDUSTRY มีประมาณ 50 ทักษะ กลุ่ม NEW MEDIA INDUSTRY มีประมาณ 40 ทักษะ และกลุ่ม NEW SKILLS มีประมาณ 42 ทักษะ

PRINTING INDUSTRY NEW MEDIA INDUSTRY NEW SKILLS
Interactive media designer Game artist Content producer
Digital specialist of graphical processes App developer Workflow engineering
Smart printing Cross media producer Entrepreneurship
Graphic designer for mobile apps Media sales person for print Integrating media
Web designers & Programmers and digital print E-commerce
Web to print Audio-visual media production responsive design
Prepress specialists Virtual/augmented reality producer new substrates to be printed
and cross media. Social media manager Specific skills on workflow
personalized marketing Project leader creative industry in printing
High quality corrugated packaging Platforms for interactive communication TV production
Newspapers to e-Papers 3D printer strategic management competences

 

ตัวอย่างการใช้ทักษะที่จำเป็น ได้แก่ พนักงานขายสิ่งพิมพ์ จำเป็นที่จะต้องตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่มีเพิ่มมากขึ้น มีการต้องการการผลิตสื่อที่นอกเหนือสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น การทำแคตาลอกสิ่งพิมพ์ และออนไลน์ (digital marketing) การทำเกมส์ หรือการเพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์ในสื่ออื่นๆ ในเวลาเดียวกัน หรือโรงพิมพ์ต้องทำตัวอย่างบรรจุภัณฑ์แบบ 3 มิติ เพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ทั้งผู้ประกอบการ และผู้ปฏิบัติงานจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้ครอบคลุมกับความต้องการของลูกค้าที่ปรับเปลี่ยน และมีความต้องการที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรที่อยู่ในกลุ่ม Packaging Printing

ในกลุ่ม Packaging Printing จากรายงานเรื่อง Trend and opportunities in the global printing market พบว่ามีอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกปี ในทวีปเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 42 ของรายได้รวม และเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับสองของโลก มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.7

สำหรับประเทศไทย รายงานได้คาดการณ์ปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารในปี คศ. 2021 แยกตามชนิดบรรจุภัณฑ์ พบว่า ร้อยละ 34 เป็นบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว ร้อยละ 28 เป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ร้อยละ 22 เป็นกล่องกระดาษแบบเคลือบหลายชั้น และได้คาดการณ์ปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ในปี คศ. 2021 พบว่า ร้อยละ 36 เป็นบรรจุภัณฑ์แก้ว ร้อยละ 35 เป็นกล่องกระดาษแบบเคลือบหลายชั้น และร้อยละ 17 เป็น บรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ ดังแสดงในรูปที่ 3

จากข้อมูลดังกล่าว สามารถนำมาวิเคราะห์ถึงแนวโน้มและส่วนแบ่งทางการตลาด ประเภทและชนิดของการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการและบุคลากร รวมถึงสถาบันการศึกษา ได้เตรียมการในการสร้าง ส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นที่ใช้ในการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ได้ ตัวอย่างของทักษะที่จำเป็นได้แก่

  • ทักษะด้านการวิเคราะห์คุณสมบัติวัสดุและสารเคลือบ การเลือกใช้ การวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ การวิเคราะห์พื้นผิววัสดุ โครงสร้าง การใช้สารเคลือบ การปรับปรุง-ปรับสภาพวัสดุให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ วิธีการผลิตและความต้องการของลูกค้า
  • ความรู้ทางด้านกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค การเลือกใช้วัตถุดิบ การออกแบบ กราฟิกที่เหมาะสม จนถึงกระบวนการผลิต workflow การทำงานของ งานก่อนพิมพ์ พิมพ์ และหลังพิมพ์ การบริหารจัดการ การวางแผนการผลิต ครอบคลุมด้านการจัดส่งและการขนส่ง การทดสอบต่าง ๆ ที่จำเป็น และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ทักษะด้านการคิด วิเคราะห์ การวิจัยในโรงงาน (Innovation Management) เพื่อการปรับปรุงระบบการผลิต หรือผลิตวัสดุหรืออุปกรณ์ในโรงงาน การคิดโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหา โดยอาจจะร่วมมือกับสถาบันทางการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ของทางโรงงาน
  • ทักษะและความรู้ด้านจิตวิทยา พฤติกรรมผู้บริโภคสำหรับใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การวิจัยด้านอารมณ์ที่ส่งผลต่อการเลือกใช้สี รูปแบบ ขนาดของบรรจุภัณฑ์ ความรู้ด้านคุณค่าทางอารมณ์และความรู้สึกในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า
  • ทักษะด้านการเรียนรู้ การปรับตัวเพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต เช่น การใช้การพิมพ์ดิจิตอลในการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ สำหรับการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์เฉพาะบุคคล เป็นต้น
  • ทักษะและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมสีเขียว การรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ ระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การศึกษาถึงแนวโน้มของการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ในอนาคตจากรายงานเรื่อง Worldwide Market for Print 2.0: Global Opportunities in Packaging (2011-2020) ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมได้แก่ การพิมพ์ระบบดิจิตอล ,ระบบอุปกรณ์ที่เชื่อมกับเครือข่าย M2M (Machine-to-machine communication), เครื่องจักรเชื่อมต่อเป็นคลัสเตอร์การผลิต (ข้อมูลเพิ่มเติมในบทความ print 4.0 :การบูรณาการการผลิต), Smart Machine หรือเครื่องจักรที่อาศัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการจัดการ, smart packaging, การลดน้ำหนัก-ขนาดของวัสดุ เป็นต้น นอกจากนี้ได้กล่าวถึงการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ภายใต้แนวคิด “การผลิตแบบล็อตเล็ก” (small-batch products) หรือการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาณการผลิตที่น้อยในแต่ละครั้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ในแต่ละครั้ง มีจำนวนที่น้อยแต่มีความถี่มากยิ่งขึ้นและต้องใช้เวลาในการผลิตที่สั้นลง ส่งผลต่อทักษะในการทำงานของบุคลากรต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับวิธีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป

การ up-skill และ Re-skill จะเป็นการช่วยให้บุคลากรพัฒนาและยกระดับทักษะการทำงาน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นและให้สอดคล้องกับทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ในบทความได้ยกตัวอย่างทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรที่อยู่ในกลุ่ม Publishing print และ กลุ่ม Packaging Printing มาเป็นตัวอย่างและแนวทางในการพัฒนา แต่ทั้งนี้การพัฒนาและยกระดับทักษะจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการร่วมถึงความต้องการในการพัฒนาตนเองของผู้ปฏิบัติงาน และที่ขาดไม่ได้ คือการได้รับความร่วมมือและส่งเสริมจากทางภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาช่วยกันการส่งเสริม สนับสนุนทำความร่วมมือ การจัดทำหลักสูตร การฝึกอบรม การหาแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้บุคลากรยกระดับการเรียนรู้ การเพิ่มทักษะด้วยความสมัครใจ เกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย ให้สามารถรับกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้