การเคลือบ (Coating Method)

p40-45_02

การเคลือบ (Coating Method)

ปัจจุบันการพิมพ์งานด้วยระบบการพิมพ์ต่างๆ อาทิ ออฟเซ็ต กราเวียร์ เฟล็กโซกราฟี สกรีน หรือ ฯลฯ ซึ่งหลังจากพิมพ์แล้ว นอกจากจะถูกส่งไปพับ ตัด เจียนแล้ว ยังมีอีกกระบวนการหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือการเคลือบ การเคลือบคือการทำให้ผิวหน้าของชิ้นงานมีความแตกต่างไปจากเดิม เช่น จากเดิมที่ไม่เงาก็ดูเงา จากที่ดูธรรมดาทุกส่วนก็ทำให้เกิดความเด่นในบางส่วน หรือการเคลือบเพื่อต้องการคุณสมบัติพิเศษๆ ซึ่งการเคลือบบนงานพิมพ์ถ้าแบ่งออกตามคุณลักษณะของสิ่งที่นำมาเคลือบสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ สิ่งที่นำมาเคลือบเป็นสารเคมีหรือของเหลว (aqueous coating) ก็จะเรียกว่าเป็นการปรับปรุงผิวหน้าแบบการเคลือบ (coating) แต่ถ้าสิ่งที่นำมาเคลือบเป็นฟิล์มหรือแผ่นของแข็ง ใช้การยึดติดแบบกาวในตัว (sticker) หรือใช้กาวภายนอกแบบร้อนหรือเย็น (hot/cold laminate) ก็จะเรียกว่าเป็นการปรับปรุงผิวหน้าแบบการเคลือบแบบประกบติด (laminating) ซึ่งจะเป็นกระบวนการไหนก็แล้วแต่สิ่งที่เรานำเมื่อใช้เมื่อแห้งตัวแล้วจะเป็นแผ่นฟิล์มติดอยู่บนผิวหน้าของขิ้นงาน แต่ในวงการมักจะเรียกตามความเคยชินว่าเป็นการเคลือบ

ซึ่งการเคลือบชิ้นงานด้วยสารเคลือบชนิดเหลวเมื่อเคลือบสารแล้วได้คุณสมบัติต่างๆ มักจะเรียกการเคลือบตามลักษณะของผิวหน้างานเคลือบ เช่น เคลือบนวล (soft touch) เป็นการเคลือบที่เน้นให้ผิวหน้าชิ้นงานสร้างความนุ่มเนื้อบนชั้นสารเคลือบ เพื่อส่งผลให้ชิ้นงานดูนุ่มนวลกว่าที่การเคลือบที่ให้ความมันวาวสูง หรือ เคลือบแบบซาติน (satin) เป็นการเคลือบเพื่อให้ชั้นสารเคลือบเมื่อแห้งตัวแล้วหลอกสายตาเคลือบว่ามีแสงหักเหและสะท้อนสู่ตาผู้มอง ให้ค่าความเงาอยู่ระหว่างการเคลือบด้านและเคลือบเงา

p40-45_03

การเคลือบวอเตอร์เบส (water based coating) เป็นการเคลือบผิวงานให้เกิดความเงาด้วยวานิชที่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย เป็นการเคลือบที่จำกัดเฉพาะงานที่ผิวหน้าเป็นกระดาษ เพราะตัวทำละลายจะแห้งตัวและระเหยออกไปเหลือแต่ตัวเรซินที่ยึดเกาะกับผิวหน้าโครงสร้างของกระดาษ และบางส่วนจมลงไปในเนื้อกระดาษดูลักษณะการสะท้อนแสงบนผิวหน้างานไม่สม่ำเสมอกันแต่จะให้ความเงาดูเป็นธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเคลือบผิวกระดาษเพื่อปัองกันการขัดถูและเสียดสีได้อีกด้วย การเคลือบส่วนใหญ่วัตถุประสงค์คือต้องการความสามารถในการปกป้องและการเปลี่ยนแปลงค่าความเงา โดยค่าความเงาจะมากหรือน้อยขึ้นกับความสามารถในการสะท้อนแสงที่มาตกกระทบ ถ้าเป็นชิ้นงานที่ไม่ผ่านการเคลือบส่งผลให้การสะท้อนแสงต่ำ ทิศทางเดินของแสงไม่เป็นระเบียบและแน่นอนส่งผลให้ค่าความเงาต่ำ ส่วนการเคลือบด้าน (matt-coated) คือการเคลือบแล้วทำให้ผิวหน้ามีค่าความเรียบเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับชิ้นงานที่ไม่เคลือบ แต่ก็ยังมีบางส่วนของผิวหน้าชั้นเคลือบที่ไม่เรียบมีค่าความขรุขระก็ส่งผลให้แสงเกิดการกระเจิงและสะท้อนบางส่วนมาใส่ตาในรูปแบบที่ไม่มีทิศทาง เราจึงมองเห็นชิ้นงานด้านๆ คล้ายกระจกฝ้าค่าความเงาต่ำ แต่ถ้าผ่านเคลือบเงา (matt-coated) จะส่งผลทำให้ผิวหน้ามีความเรียบสูง มุมตกกระทบของแสงสะท้อนเป็นมุมเดียวกันหรือสะท้อนทิศทางแสงไปในแนวทิศทางเดียวกันกันเข้าสู่ตาคล้ายกับกระจกเงา เราก็จะเห็นว่าชิ้นงานมีค่าความเงาสูง

การเคลือบวานิชเงา (glossy coating) เป็นการเคลือบผิวกระดาษเพื่อปัองกันการขัดถูและเสียดสีรวมทั้งให้เกิดความเงา เพราะตัววานิชทีใช้ไปเพิ่มค่าการสะท้อนแสงที่มาตกกระทบบนชิ้นงาน เกิดการสะท้อนแสงใส่ตาเวลามองมากขึ้น ค่าความเงาก็มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังจัดเป็นการเคลือบที่ให้ความเงาไม่สูงมาก

การเคลือบวานิชด้าน (matt coating) เป็นการเคลือบผิวกระดาษเพื่อปัองกันการขัดถูและเสียดสีด้วยวานิชที่มีคุณสมบัติแห้งตัวแล้วลดการสะท้อนแสงที่ตกกระทบบนงานพิมพ์ทำให้เกิดความเงาลดลง แต่ในปัจจุบันงานบรรจุภัณฑ์บางประเภทใช้การเคลือบรูปแบบนี้เพื่อให้ดูชิ้นงานดูราคาแพงขึ้น

p40-45_04

การเคลือบวานิชพร้อมกับการขัดเงา (glossy and calendaring coating) เป็นการเคลือบงานด้วยวานิชพร้อมกับการนำไปขัดเงาด้วยลูกกลิ้งทั้งแบบที่มีความร้อนและไม่มีความร้อน เพื่อให้ตัววานิชที่เคลือบเกิดการประสานตัวกันและผิวหน้ามีความเรียบตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณสมบัติในการสะท้อนแสงเพิ่มมากขึ้น เกิดความเงาสูง งานประเภทกล่องบรรจุภัณฑ์อาหาร ยาและเครื่องสำอางค์ นิยมเคลือบแบบขัดเงาแบบนี้เพราะต้องการให้ตัวบรรจุภัณฑ์ดูเด่น มองเห็นแล้วสะดุดตา

การเคลือบวานิชยูวี (glossy UV coating) เป็นการเคลือบชิ้นงานด้วยสารเคลือบที่แห้งตัวด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ให้ความเงางาม และคุณสมบัติพิเศษกับงานพิมพ์ นิยมเคลือบบนปกนิตยสาร ฉลาก โบว์ชัวร์ คู่มืออาหาร ข้อดีของการเคลือบสารประเภทนี้คือสามารถเคลือบลงบนวัสดุได้หลากหลาย เคลือบลงบนวัสดุที่ไม่มีรูพรุนหรือมีการดูดซึมได้ เพราะใช้หลักการแห้งตัวของสารเคลือบให้ตัวโครงสร้างโมเลกุลเป็นตัวยึดกับผิวหน้าของชิ้นงาน แต่ข้อจำกัดของการเคลือบยูวีคือถ้ามีการนำไปใช้งานทางด้านบรรจุภัณฑ์แล้วมีการเคลือบเต็มแผ่นแล้วจะไม่สามารถพิมพ์หรือติดกาวได้ ต้องมีการเผื่อเว้นพื้นที่ดังกล่าวไว้ติดการหรือพิมพ์วันหมดอายุ

p40-45_05

เคลือบเงาเฉพาะจุด (Spot UV coating) เป็นการเคลือบชิ้นงานด้วยสารเคลือบที่แห้งตัวด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ต เมื่อแห้งตัวแล้วจะสะท้อนแสงได้มากขึ้น แต่เป็นการเคลือบเฉพาะจุดที่ต้องการ ไม่ได้เคลือบเต็มแผ่น วิธีการเคลือบจะถ่ายทอดสารเคลือบผ่านแม่พิมพ์ เช่น ระบบสกรีน ระบบออฟเซ็ต หรือระบบอื่นๆ ซึ่งนิยมใช้กับงานที่ต้องการเน้นความเงาให้บางบริเวณของชิ้นงาน เช่นโลโก้ ตัวอักษร ในบางครั้งจะใช้ควบคู่กับชิ้นงานที่ผ่านการลามิเนตกับแผ่นฟิล์มด้านเพราะจะดูเด่นมากยิ่งขึ้นอีกทั้งสารเคลือบที่แห้งตัวด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ต สามารถยึดเกาะบนวัสดุพีวีซีได้ นอกจากการเคลือบเฉพาะจุดแบบเพิ่มความเงา ยังมีการเคลือบเฉพาะจุดที่สารเคลือบที่ใช้มีการปรับปรุงหรือเติมวัสดุอื่นๆ เข้าไป เช่น เคลือบด้านเฉพาะจุด ผสมผงทรายเพื่อเคลือบทรายเฉพาะจุด ผสมผงการเพชรเพื่อเคลือบกากเพชรเฉพาะจุด ผสมผงเหลือบมุกเพื่อเคลือบมุกเฉพาะจุด หรือการเคลือบเฉพาะจุดพร้อมกับใช้เทคนิคการดุนนูนเข้าไปผสม

เคลือบพีวีซีด้าน (matt PVC film laminating) เป็นการเคลือบที่เหมือนการเคลือบพีวีซีเงาแต่จะใช้ฟิล์มพีวีซีที่มีความเงาต่ำ ผิวด้านหน้าของผิวฟิล์มมีความขรุขระหรือในตัวเนื้อฟิล์มพีวีซีขัดขวางทางเดินแสง แสงส่องผ่านได้ไม่ดีเป็นฝ้า แต่เมื่อนำไปประกบติดกับชิ้นงานแล้วยังสามารถมองผ่านทะลุถึงภาพพิมพ์ได้ ให้ผลลัพธ์ชิ้นงานมีค่าความเงาลดลงนิยมใช้ในปัจจุบันเพื่อให้ชิ้นงานดูดี ดูแพง และในบางครั้งยังนำไปเคลือบเงาแบบเฉพาะจุด (Spot UV coating) เพื่อให้งานดูมีมิติเพิ่มมากขึ้น เพราะจะโชว์ส่วนใหนก็จะเน้นทำให้เงาดูเด่น ส่วนใหนอยากให้เป็นองค์ประกอบก็ทำให้ด้านๆ ดูแสงดรอปลงช่วยให้สิ่งที่เน้นดูชัดมากขึ้น

p40-45_06

การเคลือบพีวีซีเงา (gloss PVC film laminating) เป็นการเคลือบที่ไม่ใช่สารเคลือบเหลวแต่เป็นการเคลือบผิวชิ้นงานด้วยแผ่นฟิล์มพีวีซีที่มีความหนาและคุณสมบัติที่ต่างกันๆ แต่ส่วยใหญ่เลือกใช้แผ่นฟิล์มที่มีความมันวาว เป็นการยึดติดชิ้นงานพิมพ์ในรูปแบบการลามิเนตซึ่งจะทำให้งานที่ผ่านการประกบติดฟิล์มมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องความคงทน ความเรียบและความเงามากกว่าการเคลือบแบบสารเคลือบเหลวประเภทอื่นแต่มีข้อเสียในเรื่องต้นทุนจะสูงกว่า

เคลือบโอพีพี (OPP film laminating) เป็นการเคลือบชิ้นงานด้วยแผ่นฟิล์มโอพีพี มีการประยุกต์ใช้แทนฟิล์มพีวีซีเนื่องจาก วัสดุพีวีซีมีการยืดหดตัวได้ง่าย และมีข้อห้ามกับการนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร จึงเปลี่ยนมาใช้ ฟิล์มโอพีพีมาผ่านการทาการที่แห้งด้วยความร้อนแล้วนำไปประกบติดกับชิ้นงาน เช่น ถ้านำไปประกบติดกับกระดาษก็ทำให้กระดาษมีความเหนียว แข็งแรงเพิ่มมากขึ้น และยังสามารถป้องกันน้ำได้ โดยฟิล์มโอพีพีจะมีทั้งแบบผิวมันวาว (glossy) และผิวด้าน (matt) โดยจุดเด่นของฟิล์มโอพีพีคือจะเรียบและให้ค่าความเงาสูงกว่าการเคลือบวานิชยูวี จึงเหมาะกับงานที่ต้องการความทนทานมากขึ้นแต่จะมีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่า

เคลือบเพื่อคุณสมบัติด้านกันลื่น เป็นการเคลือบผิวหน้าด้วยสารเคลือบเหลวที่ผสมผงเพิ่มความเสียดทาน นิยมใช้กับงานพิมพ์ที่เวลาพิมพ์แล้ววางตั้งซ้อนกันสูงๆ หรือนำไปบรรจุสินค้าแล้วป้องกันการลื่นไถล โดยคุณสมบัติของสารเคลือบชนิดนี้เมื่อแห้งตัวแล้วจะทำให้พื้นที่ผิวสัมผัสเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ผิวหน้าของชิ้นงานมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานหรือค่า coefficient of friction (COF) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งผงหรือสารที่เติมลงไปในสารเคลือบมักเป็นผงแร่ที่มีอนุภาคขนาดเล็ก เช่น ผงหินปูน (CaCo3) ผงแก้วซิลิการ (Si) และในปัจจุบันตัวเรซินที่นำมาผลิตเป็นสารเคลือบที่ต้องการคุณสมบัติกันลื่นก็มีการพัฒนาสูตรที่เมื่อแห้งตัวผิวแล้วผิวหน้าจะฟอร์มตัวเป็นแผ่นฟิล์มที่มีความขรุขระช่วยเพิ่มแรงเสียดทานได้เพิ่มขึ้น

จากวิธีการเคลือบแบบต่างๆ ที่นิยมใช้ยังมีวิวัฒนาการเคลือบที่สร้างความแตกต่างให้กับชิ้นงานหรือต้องการใช้งานพิเศษ เช่นมีการใช้ผงมีการผสมหัวเชื้อน้ำหอมเพื่อเคลือบกลิ่นน้ำหอม หรือผสมหมึกพิมพ์หรือสารเรืองแสงเพื่อให้เกิดการเรืองแสงในบริเวณที่ต้องการ หรือการใช้สารที่ทำปฏิกริริยากับก๊าซที่ปลดปล่อยออกมาจากสิ่งที่บรรจุเพื่อทำหน้าที่เป็นตัววัดความสด ความสุก หรือวัดเพื่อแสดงผลการเสื่อมสลาย การหมดอายุของผลิตภัณฑ์ เช่นฉลากวัดความสดของเนื้อสัตว์ เป็นเทคนิคการตรวจจับก๊าซที่เนื้อสัตว์ปลดปล่อยออกมาทำปฏิกิริยากับหมึกพิมพ์หรือสารเคลือบบนฉลากแล้วเปลี่ยนสีจนไปบดบังรหัสแท่ง (barcode) จนทำให้เครื่องไม่สามารถอ่านสัญลักษณ์รหัสแท่งบนฉลากได้

p40-45_07